กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ สนับสนุนงบประมาณปี 2561 ให้องค์กรเอกชนสาธารณประโยชน์ 27 องค์กร 33 โครงการ เป็นเครือข่ายร่วมดำเนินการส่งเสริม พัฒนา สุขภาพของประชาชนและจัดการสุขภาพชุมชน 5 ด้าน ได้แก่ การเสริมสร้างสุขภาพ 5 กลุ่มวัย การดูแลสุขภาพผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้ป่วยติดเตียง ผู้ป่วยระยะสุดท้าย การป้องกันโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง และการคุ้มครองผู้บริโภคด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพและการบริการ มุ่งหวังให้ประชาชนและชุมชนสามารถจัดการสุขภาพโดยพึ่งตนเองได้
นพ.ภานุวัฒน์ ปานเกตุ
นพ.ภานุวัฒน์ ปานเกตุ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กรม สบส.ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการมีส่วนร่วมในการพัฒนางานด้านสาธารณสุขให้ประชาชนสามารถพึ่งตนเองด้านสุขภาพได้ จึงได้จัดทำแนวทางความร่วมมือกับองค์กรเอกชนสาธารณประโยชน์ หรือเอ็นจีโอที่ทำงานด้านสุขภาพ ให้มีส่วนร่วมในการส่งเสริม พัฒนาและจัดการระบบสุขภาพในระดับชุมชน โดยมอบหมายให้กองสนับสนุนสุขภาพภาคประชาชนจัดทำหลักเกณฑ์และแนวทางการสนับสนุนองค์กรเอกชนสาธารณประโยชน์
ซึ่งในปีงบประมาณ 2561 นี้ ได้กำหนดเกณฑ์การพิจารณาในการส่งเสริมสนับสนุน และพัฒนาให้มีส่วนร่วมในการจัดการสุขภาพในชุมชน โดยได้มีการตั้งคณะกรรมการสนับสนุนองค์กรเอกชนสาธารณประโยชน์ในการจัดการสุขภาพชุมชน เพื่อพิจารณา ควบคุมกำกับการดำเนินงานขององค์กรเอกชนฯที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณเพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ และคณะอนุกรรมการกลั่นกรองและอนุกรรมการติดตามประเมินผลการสนับสนุนองค์กรเอกชนฯ จะติดตาม ตรวจสอบการดำเนินงานให้เกิดความโปร่งใสและเกิดประโยชน์สูงสุด
รองอธิบดีกรม สบส. กล่าวต่อว่า องค์กรเอกชนสาธารณประโยชน์ที่ผ่านการพิจารณากลั่นกรองการสนับสนุนองค์กรเอกชนสาธารณประโยชน์ โดยร่วมเป็นภาคีเครือข่ายด้านสุขภาพภาคประชาชนในการพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน ที่อยู่ในเขตเมือง ชนบทและพื้นที่ห่างไกล ให้เข้าถึงบริการขั้นพื้นฐานที่จำเป็นอย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งในปีนี้มีเอ็นจีโอที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณทั้งหมด 27 องค์กร รวม 33 โครงการ งบประมาณจำนวน 8 ล้านบาท ได้แก่
การเสริมสร้างสุขภาวะผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้ป่วยติดบ้าน ผู้ป่วยติดเตียง ผู้ป่วยระยะสุขท้ายของชีวิต จำนวน 9 โครงการ การส่งเสริมสุขภาพ 5 กลุ่มวัย ได้แก่ กลุ่มสตรี กลุ่มเด็กปฐมวัย กลุ่มวัยเรียน กลุ่มวัยรุ่นและกลุ่มวัยทำงาน จำนวน 22 โครงการ การส่งเสริมและป้องกันโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง การคุ้มครองผู้บริโภคด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพและการบริการสุขภาพ อย่างละ 1 โครงการ ดำเนินการในพื้นที่ จ.ตาก เชียงใหม่ เชียงราย กาญจนบุรี ชุมพร สุรินทร์ กรุงเทพฯ ฯลฯ ส่วนการจัดการอนามัยสิ่งแวดล้อม ซึ่งในปีนี้ไม่มีโครงการที่ผ่านเกณฑ์การคัดเลือก ทั้งนี้จะมีการติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานทุกไตรมาส หรือทุก 3 เดือน ส่วนการประเมินผลในภาพรวม ได้มอบหมายให้มหาวิทยาลัยหรือองค์กรภายนอกเป็นผู้ประเมิน
- 120 views