สธ.ชี้แอปฯ อสม.ออนไลน์ช่วยพัฒนาความรอบรู้ทั้งด้านดิจิทัลและสุขภาพ ตอบโจทย์นโยบาย "อสม. 4.0" ด้าน เอไอเอสเผย รพ.สต.และ อสม.ที่ประกวดแอปฯ อสม.ออนไลน์ปีนี้มีพัฒนาการมากขึ้นทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ สามารถประยุกต์ใช้งานได้หลากหลายรูปแบบ
นพ.ภานุวัฒน์ ปานเกตุ
นพ.ภานุวัฒน์ ปานเกตุ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข ในฐานะกรรมการตัดสินโครงการประกวดการใช้งานแอปพลิเคชัน อสม.ออนไลน์ ปีที่ 2 กล่าวว่า ภาพรวมการใช้งานแอปฯปีนี้ดีขึ้นทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ ในเชิงปริมาณคือมีผู้สนใจสมัครมากขึ้นและมีการใช้งานเพิ่มขึ้น ขณะที่เชิงคุณภาพคือมีจำนวน รพ.สต.ที่มีโอกาสได้รับคัดเลือกให้ได้รางวัลดีเด่นระดับประเทศมากขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา
นอกจากนี้ยังพบว่ามีการประยุกต์ใช้แอปฯอสม.ออนไลน์ได้หลายเรื่อง โดยเฉพาะที่ทำให้ รพ.สต.พึงพอใจมากคือการส่งรายงาน อสม.1 ผ่านโทรศัพท์มือถือได้เลยโดยไม่ต้องใช้กระดาษ รพ.สต.หลายแห่งที่ใช้งานแอปฯมาตั้งแต่ปี 2559 ก็เห็นรูปแบบการต่อยอดเพื่อช่วยในการดูแลสุขภาพประชาชน การควบคุมโรค และการดูแลผู้สูงอายุติดบ้านติดเตียง หรือบางแห่งยังใช้ในการติดต่อประสานงานส่งตัวผู้ป่วยเส้นโลหิตในสมองแตกให้เข้ารับการรักษาได้ทันท่วงที เป็นต้น
"จริงๆ แอปฯอสม.ออนไลน์ เป็นช่องทางสื่อสารระหว่าง อสม.และ รพ.สต. ทั้งการนัดหมายประชุม ส่งงาน แจ้งข่าว การส่งต่อข้อมูลข่าวสารเพื่อสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพ ฯลฯ มันตอบโจทย์กระทรวงสาธารณสุขในแง่ที่เรามีนโยบายพัฒนา อสม. ให้เป็น อสม. 4.0 ซึ่งทักษะที่จำเป็นต้องมีคือความรอบรู้ทางด้านดิจิทัล (Digital Literacy) ความรอบรู้ด้านสุขภาพ (Health Literacy) ตลอดจนความเป็นจิตอาสา เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง ซึ่งเมื่อ อสม.ได้ใช้แอปฯก็ช่วยพัฒนาทั้ง 3 เรื่องหลักๆ นี้ไปได้ส่วนหนึ่ง" นพ.ภานุวัฒน์ กล่าว
นพ.ภานุวัฒน์ กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า แอปฯอสม.ออนไลน์ยังช่วยเสริมการทำงานเมื่อใช้งานร่วมกับแอปฯ "สมาร์ท อสม." ที่กระทรวงสาธารณสุขพัฒนาขึ้นมา เพราะแอปฯสมาร์ท อสม. จะเป็นการสื่อสารในวงกว้าง เช่น นโยบายใหม่ๆ ประเด็นที่สำคัญๆ หรือการแก้ข่าวแก้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง แต่ยังมีข้อจำกัดที่เป็นการสื่อสารทางเดียว อสม.ไม่สามารถตอบกลับมาที่ส่วนกลางได้ แต่ แอปฯอสม.ออนไลน์เป็นการสื่อสาร 2 ทาง ดังนั้นหากมีข้อสงสัย อสม.สามารถสอบถามไปยังเจ้าหน้าที่ รพ.สต.ที่เป็นแอดมินได้ทันที
นางวิไล เคียงประดู่
นางวิไล เคียงประดู่ ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการอาวุโส ส่วนงานประชาสัมพันธ์ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในปีนี้โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ที่เคยส่งประกวดเมื่อปีที่ผ่านมาก็กลับมาร่วมโครงการเกือบ 100% และยังมี รพ.สต.แห่งใหม่ๆ สมัครเข้าร่วมอีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งจากการพิจารณาผลงานที่ส่งเข้ามาประกวดพบว่ามีพัฒนาการที่ชัดเจนกว่าปีก่อนอยู่ 3 เรื่องคือ 1.ปริมาณการใช้งานแอปฯมีความสม่ำเสมอมากขึ้นสะท้อนให้เห็นว่าเกิดการใช้งานจริง บาง รพ.สต. ที่ได้รางวัลระดับชมเชยในปีที่ผ่านมา เมื่อมีการใช้งานอย่างสม่ำเสมอก็กระโดดขึ้นมาอยู่ในระดับประเทศในปีนี้ 2.อสม.และ รพ.สต. มีการประยุกต์การใช้งานแอปฯที่หลากหลายมากขึ้น และ 3.ผู้ร่วมการประกวดมีความเข้าใจการใช้แอปฯลึกซึ้งขึ้น สามารถเขียนบรรยายสรุปประกอบกับหลักฐานการใช้งานได้ชัดเจน
"มีการประยุกต์การใช้งานในหลากหลายรูปแบบ เช่น การใช้แอปฯแล้วช่วยลดต้นทุนกระดาษทั้งเอกสารบันทึกการประชุม เอกสารสรุปรายงานการประชุม เอกสารแจ้งข่าวสารแก่ อสม. ฯลฯ ข้อมูลเหล่านี้สามารถทำในแอปฯได้เลยไม่ต้องใช้กระดาษ และมีอีกหลายเรื่องที่น่าประหลาดใจ เช่น การมาร์กจุดและสาเหตุที่เกิดอุบัติเหตุแล้วส่งข้อมูลต่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อหาแนวทางป้องกันร่วมกัน หรือที่ อ.แม่สอด เมื่อพบการเกิดขึ้นของโรคเท้าช้างและโรคกาฬหลังแอ่นที่มากับคนต่างด้าว ก็มีการใช้แอปฯช่วยในเรื่องการควบคุมการระบาดของโรค โดยมาร์กจุดที่มีคนต่างด้าวอาศัยอยู่แล้วพล็อตเป็นแผนที่ ทำให้เห็นว่ากลุ่มคนต่างด้าวอยู่จุดไหนแล้วไปฉีดวัคซีนให้ถึงที่เลย นี่เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่า อสม.มีการพัฒนาการใช้แอปฯนอกเหนือจากฟังก์ชั่นปกติของมัน" นางวิไล กล่าว
สำหรับผลการตัดสินผู้ชนะรางวัลดีเด่นระดับประเทศจำนวน 10 รางวัล ได้รับเงินรางวัลๆ ละ 100,000 บาท ได้แก่
1.รพ.สต.บ้านคลองม่วง จ.กระบี่
2.รพ.สต.ไทรงาม จ.นครปฐม
3.รพ.สต.ขนาย จ.นครราชสีมา
4.รพ.สต.โตนด จ.นครราชสีมา
5.รพ.สต.มะค่า จ.นครราชสีมา
6.รพ.สต.บางทอง จ.พังงา
7.รพ.สต.บ้านปากคลอง จ.พัทลุง
8.รพ.สต.ชมพู จ.พิษณุโลก
9.รพ.สต.บ้านวังประจัน จ.สตูล
10.รพ.สต.กุดบง จ.หนองคาย
- 162 views