รองอธิบดีกรม สบส.คาดปีนี้มี รพ.สต.เข้าประกวดการใช้งานแอปพลิเคชัน “อสม.ออนไลน์” มากขึ้น ชี้การสมัครประกวดไม่ว่าได้รางวัลหรือไม่ แต่ อสม.และ รพ.สต.จะได้ประโยชน์ในแง่การกระตุ้นให้เกิดนวัตกรรมการทำงาน เพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการประชาชน อีกทั้งช่วยให้การสื่อสารระหว่าง อสม.ดีขึ้น
นพ.ภานุวัฒน์ ปานเกตุ
นพ.ภานุวัฒน์ ปานเกตุ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กล่าวถึงโครงการ “ประกวดการใช้งานแอปพลิเคชัน อสม.ออนไลน์ ปีที่ 2” ซึ่งรับสมัครตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.-31 ก.ค. 2561 นี้ว่า คาดว่าปีนี้จะมีโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) สมัครเข้าร่วมประกวดกันมากพอสมควร เนื่องจากเห็นตัวอย่างจากการประกวดในปีที่ผ่านมาซึ่งพี่น้อง อสม.ที่ได้รับรางวัลก็ชื่นมื่นกันดี มีหลายแห่งที่รู้สึกเสียดายที่ไม่ทราบข่าวการประกวด สมัครประกวดไม่ทัน หรือเจ้าหน้าที่ รพ.สต.ซึ่งเป็นแอดมินไม่สมัครให้
นพ.ภานุวัฒน์ กล่าวอีกว่า การสมัครเข้าประกวดไม่ว่าจะได้รางวัลหรือไม่ แต่สิ่งที่ รพ.สต.และ อสม.จะได้ประโยชน์คือเป็นการกระตุ้นให้เกิดนวัตกรรมการทำงาน สามารถนำเทคโนโลยีมาสร้างความแตกต่าง เพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการประชาชน อีกทั้งช่วยให้การสื่อสารระหว่าง อสม.ดีขึ้น ส่วนผู้ที่ได้รางวัลก็จะได้รับเงินเข้าชมรม อสม.เพื่อนำไปใช้พัฒนางานในพื้นที่ต่อไป
นพ.ภานุวัฒน์ กล่าวว่า สำหรับรางวัลประกวดการใช้งานแอปพลิเคชัน อสม.ออนไลน์ ปีที่ 2 จะมีรางวัลระดับประเทศ 10 รางวัล รางวัลละ 100,000 บาท และระดับจังหวัดอีกจังหวัดละ 2 รางวัล รางวัลละ 40,000 บาท โดยจะมีคณะกรรมการตัดสินรางวัลจากทั้งกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงสาธารณสุข และบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส โดยพิจารณาทั้งเชิงปริมาณ เช่น ความแพร่หลายและความสม่ำเสมอในการใช้งานแอปพลิเคชั่น และเชิงคุณภาพว่าเอาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานหรือมีเรื่องราวประทับใจอย่างไร
“ในความเห็นผมก็คิดว่าเป็นโครงการที่ดีน่าสนับสนุนโครงการหนึ่ง เท่าที่มีการใช้แอปพลิเคชัน อสม.ออนไลน์ มา 2-3 ปี กลุ่ม อสม.ก็ชอบนะ เพราะตัวหนังสือใหญ่ อ่านง่าย และใช้งานง่ายเหมือน Line อาจจะมีบางส่วนกังวลว่าเป็นการร่วมมือกับเอกชนหรือไม่ แต่เราเห็นเจตนาและพฤติกรรมของเอไอเอสแล้วก็ยอมรับได้ว่าไม่ได้เจตนามุ่งหวังทางการตลาดโดยตรง และยุคนี้เราก็พยายามสร้างเอกชนให้เข้ามามีส่วนร่วมในการให้บริการอยู่แล้ว นโยบายของ สบส.เราก็อยากให้มีแอปพลิเคชันหรือช่องทางในการสื่อสารระหว่างเจ้าหน้าที่และ อสม. ขณะที่นโยบายของท่านรัฐมนตรีก็อยากให้เป็น Mobile Health ให้ อสม.สามารถใช้สมาร์ทโฟนช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ดังนั้นเราไม่ปิดกั้น ต่อไปหากค่ายอื่นจะมาทำแบบนี้เราก็ยินดี” นพ.ภานุวัฒน์ กล่าว
อย่างไรก็ดี การส่งเสริมการนำแอปพลิเคชัน อสม.ออนไลน์ มาใช้งาน อาจติดขัดในแง่ที่ว่าชื่อแบรนด์นี้เป็นของเอไอเอส ค่ายมือถืออื่นอาจไม่อยากเข้ามาร่วมสนับสนุน ทาง สบส.จึงได้พัฒนาแอปพลิเคชันกลางขึ้นมาให้ดาวน์โหลดภายใต้ชื่อ “สมาร์ท อสม.” ซึ่งค่ายมือถืออื่นๆ สามารถให้การสนับสนุนผ่านแอปพลิเคชันนี้ได้ เช่น ให้ซิมฟรีหรือโปรโมชั่นพิเศษแก่กลุ่ม อสม.
อย่างไรก็ตาม ไม่ได้หมายความว่า สบส.พัฒนาสมาร์ท อสม.แล้วจะปิดกั้นแอปพลิเคชันของเอไอเอส แต่ได้คุยกับทีมพัฒนาของทั้ง 2 แอปพลิเคชันนี้แล้วว่าจะทำงานเป็นเพื่อนกัน สามารถรับส่งข้อมูลระหว่างกันได้ ขึ้นอยู่กับตัวผู้ใช้งานเองว่าสะดวกใช้แอปพลิเคชันไหน ซึ่งขณะนี้ สมาร์ท อสม. ได้เปิดตัวเวอร์ชั่น 1 ไปแล้วและตั้งเป้าว่าในระยะ 3 เดือนนี้จะมี อสม.ใช้งาน 3 แสนคน
“เมื่อมีทั้ง อสม.ออนไลน์ และ สมาร์ท อสม. ถ้าทำให้ดีเราหวังว่าภาพในอนาคตจะเป็น Mobile Health ได้จริงๆ เป็น อสม. 4.0 หรือ สาธารณสุข 4.0 สามารถนำเทคโนโลยีมาช่วยให้เกิดความรอบรู้ด้านสุขภาพ (Health Literacy) กับประชาชน” นพ.ภานุวัฒน์ กล่าว
- 6 views