กรมการแพทย์ ชูสารสกัดกัญชาเพิ่มคุณภาพชีวิตให้แก่ผู้ป่วย "โรคระบบประสาท" ได้หลายโรค โดยศึกษาวิจัยติดตามการรักษาโรคลมชักรักษายากในเด็ก ร่วมกับยากันชักหลายชนิด พบผู้ป่วยมีอาการชักรุนแรงลดลง 50% 

เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2565 นายแพทย์ธงชัย  กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า กรมการแพทย์ได้มีการศึกษาวิจัยการนำสารสกัดกัญชามารักษาโรคต่างๆ เพื่อสร้างความมั่นใจและความปลอดภัยให้กับประชาชนรวมถึงสร้างความมั่นคงทางยาของประเทศ ตามนโยบายของนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งหนึ่งในโรคที่ได้ทำการศึกษานั้นคือ โรคระบบประสาท โดยสถาบันประสาทวิทยา และสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี ได้มีการศึกษาวิจัยติดตามการรักษาโรคลมชักรักษายากในเด็กด้วยสารสกัดกัญชา CBD สูง ร่วมกับยากันชักหลายชนิด เป็นระยะเวลา 12 เดือน จำนวน 14 ราย พบว่า ผู้ป่วยมีอาการชักรุนแรงลดลง 50% ทุกรายมีผลข้างเคียงแต่ส่วนใหญ่ไม่รุนแรง และมักเกิดในช่วง 3 เดือนแรก จึงควรเริ่มยาในขนาดต่ำ เพิ่มขนาดอย่างช้าๆ และเฝ้าระวังผลข้างเคียง ถือว่าช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยและครอบครัว ทำให้ได้รับการบรรจุในบัญชียาหลักแห่งชาติด้านสมุนไพร บัญชี 3 เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2564 และปัจจุบันกรมการแพทย์ ร่วมกับสมาคมกุมารประสาทวิทยา (ประเทศไทย) ยังติดตามผลการรักษาผู้ป่วยโรคลมชักรักษายากในเด็กที่ใช้สารสกัดกัญชาชนิด CBD สูงทั่วประเทศ เบิกจ่ายในสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เพื่อให้มีข้อมูลความปลอดภัยและประสิทธิผลที่เชื่อถือได้ นำไปสู่การเสนอเข้าสู่บัญชียาหลักแห่งชาติด้านสมุนไพร บัญชี 1 ในปี 2567 ต่อไป มีข้อมูลสนับสนุนถึงสารสกัดกัญชาทางการแพทย์สูตร THC:CBD 1:1 (THC 2.7 mg : CBD 2.5 mg) ในลักษณะยาพ่นที่ดูดซึมผ่านช่องปาก มีประสิทธิภาพลดอาการเกร็งและอาการปวดที่เกิดจากโรคปลอกประสาทส่วนกลางอักเสบ (Multiple sclerosis : MS) โดยการวัดอัตราการเปลี่ยนแปลงของระดับความเกร็งและความปวดที่รายงานโดยผู้ป่วย ซึ่งเป็นการใช้หลังรักษาด้วยวิธีอื่นทั้งที่ไม่ใช้ยา เช่น การยืดเหยียดกล้ามเนื้อ หรือใช้ยารักษาตามมาตรฐาน แล้วไม่ได้ผลหรือมีผลข้างเคียงจนไม่สามารถใช้ยาได้ โดยมีการให้คำแนะนำข้อดีข้อเสียกับผู้ป่วยหรือญาติ  ส่วนโรคพาร์กินสัน ปัจจุบันเน้นดูแลแบบองค์รวม มีการใช้ยาที่เพิ่มการทำงานของโดปามีนเป็นหลัก แต่เมื่อรับการรักษาได้ระยะหนึ่งผู้ป่วยจะมีปัญหาการตอบสนองต่อยาไม่สม่ำเสมอ เช่น มีอาการยุกยิก ยาหมดฤทธิ์ไวกว่าที่ควรจะเป็น การใช้กัญชาทางการแพทย์ในกลุ่ม Cannabidiol เป็นยาเสริมการรักษาโรคพาร์กินสันจึงอาจเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้ป่วย ซึ่งมีการศึกษาขนาดเล็กจำนวน 21 คน ใช้น้ำมันกัญชาทางการแพทย์ที่มีสาร CBD 6 สัปดาห์ พบว่า คะแนนคุณภาพชีวิตดีขึ้นในกลุ่มที่ใช้ CBD ขนาด 300 มิลลิกรัม อีกการศึกษามีผู้เข้าร่วมวิจัย 4 คน พบว่า สาร CBD สามารถลดพฤติกรรมผิดปกติขณะนอน และมีการศึกษาในผู้ป่วยพาร์กินสันที่มีอาการทางจิต 6 คน ให้สาร CBD 150 มิลลิกรัมต่อวัน เพิ่มขนาดทุกสัปดาห์ สัปดาห์ละ 150 มิลลิกรัม เป็นเวลา 4 สัปดาห์ พบว่า ลดอาการทางจิตได้โดยที่ไม่ทำให้อาการแย่ลงและไม่ก่ออาการข้างเคียง นอกจากนี้ มีการศึกษาหลายชิ้นในมนุษย์ พบว่า CBD ไม่ทำให้เกิดอาการข้างเคียงที่รุนแรงแม้ใช้ในขนาดสูง ดังนั้น การใช้สารสกัดกัญชาจึงมีความปลอดภัยและน่าจะมีประโยชน์ในการใช้เป็นยาเสริมรักษาโรคพาร์กินสัน อาจช่วยลดอาการปวดเกร็ง อาการยุกยิก และการเคลื่อนไหวช้า สามารถเพิ่มคุณภาพชีวิตผู้ป่วยได้

 

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org