หมอรามาฯ เตือนอย่าเพิ่งหลงเชื่องานวิจัย บุหรี่ไฟฟ้าช่วยเลิกบุหรี่ได้ไม่จริง ชี้เลิกบุหรี่ธรรมดา หันไปสูบบุหรี่ไฟฟ้าแทน ใช้อ้างแก้ไขนโยบายแบนบุหรี่ไฟฟ้าไม่ได้ ตั้งข้อสังเกต ถ้าช่วยเลิกบุหรี่ได้ผล ควรขึ้นทะเบียนเป็นยารักษา ช่วยคนเข้าถึงการเลิกบุหรี่ได้เพิ่มขึ้น
เมื่อวันที่ 29 พ.ย. 2565 รศ.ดร.พญ.เริงฤดี ปธานวนิช อาจารย์ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวถึงกรณีนักการเมืองและกลุ่มสนับสนุนบุหรี่ไฟฟ้าพยายามอ้างงานวิจัยขององค์กรความร่วมมือคอเครน (Cochrane) ที่สรุปว่าบุหรี่ไฟฟ้าช่วยเลิกบุหรี่ได้ดีกว่าการใช้นิโคตินทดแทน เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกการห้ามนำเข้าและห้ามจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าในไทยว่า รายงานของ Cochrane มาจากการรวบรวมข้อสรุปจากงานวิจัยเพียง 6 ชิ้นเท่านั้น จากทั้งหมด 78 ชิ้น ที่ Cochrane รวบรวม และทั้งหมดเป็นการวิจัยเชิงทดลองแบบสุ่มและมีกลุ่มควบคุม (randomized clinical trials) ภายใต้คำจำกัดความว่า เลิกสูบบุหรี่คือ การเลิกสูบเฉพาะบุหรี่ธรรมดาเท่านั้น ไม่ได้ศึกษาครอบคลุมถึงการสูบบุหรี่ไฟฟ้าด้วย ซึ่งวิธีวิจัยนี้ถูกออกแบบเพื่อศึกษาประสิทธิผลของยาที่มีการใช้ภายใต้การดูแลทางคลินิก ที่มีการควบคุมเงื่อนไข ปัจจัยต่าง ๆ ไม่ใช่ศึกษาพฤติกรรมการใช้บุหรี่ไฟฟ้าในฐานะสินค้าอุปโภคบริโภคที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งเป็นโลกแห่งความเป็นจริงที่ไม่มีการดูแลทางคลินิก
“การอ้างอิงงานวิจัยเพื่อนำมาพัฒนา ปรับปรุงหรือแก้ไขกฎหมาย มีความจำเป็นต้องศึกษารายละเอียดของงานวิจัยให้ดีก่อน หากศึกษาให้ดีจะพบว่าในงานวิจัยเหล่านี้ ค้นพบว่าคนที่ใช้บุหรี่ไฟฟ้าเพื่อเลิกสูบบุหรี่ สุดท้ายจะไปติดบุหรี่ไฟฟ้าแทน ถือว่าเลิกสูบไม่ได้อยู่ดี ส่วนกรณีใช้บุหรี่ไฟฟ้าแบบปกติ คือประชาชนสามารถซื้อบุหรี่ไฟฟ้าได้ทั่วไปเหมือนบุหรี่ธรรมดา ซึ่งจากการรวบรวมงานวิจัยมากถึง 44 ชิ้น ตีพิมพ์ในวารสาร American Journal of Public Health โดยทีมวิจัยจากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซานฟรานซิสโก ยืนยันแล้วว่า บุหรี่ไฟฟ้าไม่ช่วยให้เลิกบุหรี่ได้เลย แถมยังทำให้การเลิกบุหรี่เป็นไปได้ยากขึ้นอีกด้วย” รศ.ดร.พญ.เริงฤดี กล่าว
รศ.ดร.พญ.เริงฤดี กล่าวต่อว่า ปัจจุบันยังไม่มีบริษัทบุหรี่ไฟฟ้าใด นำผลิตภัณฑ์บุหรี่ไฟฟ้าของตนไปขึ้นทะเบียนกับองค์การอาหารและยาในประเทศใดเลยในโลก เพื่อเป็นผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ช่วยเลิกบุหรี่ ซึ่งเป็นสิ่งที่ย้อนแย้งกับงานวิจัยทางคลินิกเหล่านี้ ที่กลุ่มสนับสนุนบุหรี่ไฟฟ้ามักยกเป็นข้ออ้าง หากบริษัทบุหรี่ไฟฟ้ามีเจตนาดีจริง ๆ เพื่อช่วยให้คนเลิกสูบบุหรี่ในประเทศไทย ควรจะนำผลิตภัณฑ์ของตนไปขึ้นทะเบียนเป็นผลิตภัณฑ์ยา และผ่านขั้นตอนการตรวจสอบความปลอดภัยและมาตรฐานต่าง ๆ ขององค์การอาหารและยา และกระทรวงสาธารณสุขของไทย ซึ่งผู้ใช้สามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์ได้โดยอยู่ในดุลยพินิจของแพทย์เท่านั้น ซึ่งเป็นการป้องกันการเข้าถึงของกลุ่มคนที่ไม่ได้สูบบุหรี่ โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนที่มักใช้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นผลิตภัณฑ์แรกในการสูบบุหรี่
อ้างอิง
Cochrane Collaborative concludes e-cigs as medical interventions help smokers quit (again) while continuing to ignoring stronger more relevant real world evidence that they don’t: https://profglantz.com/2022/11/21/cochrane-collaborative-concludes-e-cigs-as-medical-interventions-help-smokers-quit-again-while-continuing-to-ignoring-stronger-more-relevant-real-world-evidence-that-they-dont/
- 311 views