แม้จะเป็นจังหวัดเล็กๆ ทว่าพังงามีการเติบโตด้านการท่องเที่ยวอย่างมากช่วงหลายปีที่ผ่านมาอ้างอิงได้จากการมีรายได้จากการท่องเที่ยวมากที่สุดเป็นอันดับ 8 ของประเทศก่อนเกิดโควิด-19 และมีความตื่นตัวเกี่ยวกับนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพอย่างชัดเจน โดยเฉพาะในเรื่อง wellness

กระนั้นก็ตาม หลายฝ่ายยังมองว่าศักยภาพทางการแพทย์ในพื้นที่ยังไม่ก้าวตามได้ทันการเติบโตที่เกิดขึ้น เมื่อนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ต้องถูกส่งตัวไปรับการรักษาในจังหวัดใกล้เคียงอย่างภูเก็ต

Hfocus มีโอกาสได้พูดคุยกับ นพ.วิทยา วัฒนเรืองโกวิท นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดพังงา เกี่ยวกับแผนพัฒนาระบบสาธารณสุขของจังหวัด เพื่อก้าวให้ทันการเติบโตของเมืองท่องเที่ยวและสอดรับยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ

“ภาครัฐไม่ได้นิ่งเฉยแต่อย่างใด ที่ผ่านมามีการพูดคุยกับภาคเอกชนเพื่อเป็นที่ปรึกษาในการจัดทำแผนพัฒนาและตอบสนองความต้องการในส่วนของการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เพื่อสร้างความมั่นใจให้นักท่องเที่ยวในการเดินทางมาเยือน” นพ.วิทยา กล่าว

 

>> ยกระดับการแพทย์สู่มาตรฐานแถวหน้าเอเชีย

ด้วยลักษณะภูมิประเทศที่มีเกาะมากที่สุดในประเทศไทย ทั้งหมด 155 เกาะ ทำให้การเดินทางลำบากบวกกับข้อจำกัดช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 จึงเริ่มมีการนำเทคโนโลยี telemedicine เข้ามาใช้และได้รับรางวัลอันดับ 1 Best Practice ของสำนักงานเขตสุขภาพที่ 11 (นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี ภูเก็ต กระบี่ พังงา ระนอง ชุมพร) เมื่อเดือนที่ผ่านมา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนพัฒนาระบบการแพทย์ ที่หมายรวมถึงการรักษา ฟื้นฟูสุขภาพและป้องกันโรคอุบัติใหม่ด้วยเทคโนโลยีทันสมัย

“เราตั้งใจจะพัฒนาให้ก้าวไปสู่หนึ่งใน 3 ของเอเชียเฉพาะในส่วนของจังหวัดทางด้านใดด้าน อาจจะเป็นระบบ Refer (ส่งต่อผู้ป่วย) ภายใน 2 ปีนี้” นายแพทย์สาธารณสุขพังงา เผยถึงเป้าหมายของแผนพัฒนา

3 แนวทางหลักในการพัฒนาระบบการแพทย์ ได้แก่ 1.เน้นการปรึกษาและสื่อสารทางไกลเน้นการส่งต่อมาตรฐานที่รวดเร็วทั้งทางบก น้ำและอากาศ 2.ระบบเครื่องมือและอุปกรณ์การแพทย์ที่เพียงพอและล้ำสมัย เพื่อมุ่งสู่การส่งต่อที่รวดเร็ว และ 3.พร้อมรับและตอบสนองต่อโรคอุบัติใหม่ในอนาคต

“ประเด็นของพังงาคือเราเป็นจังหวัดเล็ก เราไม่มีศักยภาพผู้เชี่ยวชาญเหมือนเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพ ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี หรือนครศรีธรรมราช ไม่ใช่เชียงใหม่หรือชลบุรี ไม่มีบุคลากรครบทุกสาขาในระดับตติยภูมิชั้นสูง เพราะฉะนั้นสิ่งที่ต้องทำคือระบบการให้คำปรึกษาแล้วสามารถส่งต่อได้อย่างรวดเร็ว”

“หากนักท่องเที่ยวมาแล้วเกิดอุบัติเหตุทางการจราจร ทางเรือ จมน้ำ หรือเจ็บไข้ได้ป่วยด้วยโรคฉับพลันทันด่วน เช่น โรคหัวใจ เส้นเลือดตีบ หรืออื่นๆ ที่เป็น emergency disease เราจะการันตีว่าเรามีระบบปรึกษาผู้เชี่ยวชาญและส่งต่อด้วยคอนเซปต์ ‘เล็กแต่รวดเร็ว’”

>> ทุ่ม 185 ล้านเสริมอาคารอุบัติเหตุ หนุนเอกชนลงทุน

สำหรับการลงทุนงบประมาณเพื่อพัฒนาระบบพื้นฐาน นพ.วิทยา เผยว่าจะมีการจัดทำเป็นแทร็กพิเศษเพื่อจัดการทุกอย่างที่เกี่ยวข้องไปสู่การพัฒนาเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยว

“ตอนนี้ในส่วนของโรงพยาบาลท้ายเหมืองได้มีการใส่งบประมาณ ปี 2567 เพื่อสร้างอาคารอุบัติเหตุ จำนวน 185 ล้านบาท ซึ่งตั้งอยู่อยู่ที่เขาหลักด้านใต้ เป็นพื้นที่เชื่อมต่อจะไปสู่ภูเก็ต รองรับเหตุฉุกเฉินหรืออุบัติเหตุจราจรของนักท่องเที่ยว เมื่อมีตึกแล้ว อุปกรณ์ทางการแพทย์อื่นๆ ก็ตามมาด้วย”

ด้วยปัจจัยการเป็นจังหวัดเล็ก อาจไม่คุ้มค่าในการนำบุคลากรระดับตติยภูมิขั้นสูงมากองไว้เมื่อเทียบกับการใช้บริการ ขณะเดียวกันการอยู่ระหว่างภูเก็ตและสุราษฎร์ธานีที่เป็นเมืองใหญ่สามารถรองรับการส่งต่อได้ ทำให้สสจ.พังงามองว่าการลงทุนที่เหมาะสมคือ การปฐมพยาบาลเบื้องต้น (First Aid)และระบบการส่งต่อ (Referral System)

“หากภาคเอกชนสนใจจะลงทุนทางด้านนี้ ผมให้คีย์เวิร์ด 2 คำนี้เลย” นพ.วิทยา กล่าวพร้อมเสริมว่าส่วนเรื่องการลงทุนในรูปแบบโรงพยาบาลเลยนั้น เท่าที่ประมาณการณ์แล้วคงมีความเป็นไปได้ค่อนข้างน้อยในระยะ 1-2 ปีนี้ เพราะหากมองในแง่ของ Health Economics ก็มีฐานที่ตั้งใกล้เคียงอยู่ที่ภูเก็ตและสุราษฎร์แล้ว อีกทั้งตัวเลขดีมานด์ของผู้อยู่อาศัยถาวร คงอยู่ในกรอบของ First Aid และ Refer ที่ดีที่สุดดีกว่า”

>> เชื่อมต่อระบบประกันสุขภาพระดับสากล

นอกจากระบบการแพทย์แล้ว ระบบประกันสุขภาพก็มีส่วนสำคัญต่อการสร้างความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยว

นพ.วิทยา กล่าวว่ามีแผนจะพัฒนาระบบข้อมูลของนักท่องเที่ยวโดยเฉพาะระบบประกันสุขภาพให้มีการเชื่อมต่อกับระบบประกันสุขภาพระดับโลกได้อย่างรวดเร็ว ถูกต้องและแม่นยำ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักเดินทางในการมาเยือนจังหวัดพังงาและเกิดอุบัติเหตุจะไม่มีปัญหาและอุปสรรคในการใช้ระบบการเคลมประกันต่างๆ แม้บนเกาะหรือพื้นที่ห่างไกล

“ที่ผ่านมาบางครั้งระบบของเรายังมีปัญหาในการนำไอดีพาสปอร์ตไปเชื่อมเข้ากับระบบเคลม เป็นช่องว่างที่เราจะเพิ่มเติมเข้าไปเพื่อให้ระบบมีประสิทธิภาพมากขึ้น”

 

>> พัฒนาบุคลากรผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์มาตรฐานระดับโลก

สำหรับด้านบุคลากร นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดพังงา บอกว่าจะมีทั้งการผลิตให้เพียงพอและการพัฒนาศักยภาพรายบุคคล ไม่เพียงแค่ด้านการแพทย์เท่านั้นแต่รวมถึงด้าน wellness เพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ซึ่งต้องบูรณาการทรัพยากรที่มีจำกัดด้วยความร่วมมือทั้งภาครัฐและเอกชน

“เราจะร่วมมือกันทั้งภาครัฐและเอกชน แผนพัฒนาจะไปทุกๆ สาขา ทั้ง emergency และ wellness เน้นด้านบุคลากรที่จะมาสนับสนุนลูกค้าที่เป็นส่วน Wellness Tourism โดยพุ่งเป้าไปยังมาตรฐานระดับโลก”

อย่างไรก็ตามในแง่ของทางการแพทย์ นพ.วิทยา ยืนยันแนวทางว่าคงไม่เน้นดึงผู้เชี่ยวชาญระดับตติยภูมิขั้นสูงมากองไว้ในพื้นที่ด้วยเหตุผลของการเป็นจังหวัดเล็กและเมืองใหญ่เป็นฐานรองรับในพื้นที่ใกล้เคียงอย่างที่บอกไปข้างต้น แต่จะเน้นการปฐมพยาบาลเบื้องต้นดีเยี่ยมและพร้อมส่งต่อด้วยระบบมาตรฐาน

“หากการส่งต่อนั้นจำเป็นต้องมีพนักงานที่เป็น  emergency medical services (EMS) personnel เราก็ต้องยกระดับไปให้ได้ตามมาตรฐานระดับโลก ไม่เช่นนั้นเราก็ไม่สามารถก้าวไปสู่ระดับแถวหน้าของเอเชียได้ตามเป้าหมาย ซึ่งเราพยายามปรึกษาบริษัทจัดอันดับเพื่อประเมินว่าเราขาดอะไร และพัฒนาไปตามนั้น”

 

>> หนุนผู้ประกอบการส่งเสริมท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ

นพ.วิทยา บอกว่าการสนับสนุนผู้ประกอบการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพให้ยกระดับมาตรฐานการบริการและการตลาดให้เป็นศูนย์กลางระดับโลกก็เป็นอีกประเด็นที่อยู่ในแผนการพัฒนาของสสจ.จังหวัดและเริ่มเดินหน้าไปแล้วบ้าง เช่น Wellness Center ของโรงแรมเครือลา เวล่า เขาหลัก ที่จับมือกับทางมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เกี่ยวกับแพทย์แผนไทย แพทย์ทางเลือก และสปาเพื่อสุขภาพ

“โครงการนี้ดำเนินงานมา 1 ปีก่อนที่ทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (พิพัฒน์ รัชกิจประการ) จะมาต่อยอดแนวคิดเพิ่มเติมให้จังหวัด”

ขณะเดียวกันก็ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการให้ความสำคัญในเรื่องสุขอนามัย (hygiene) และมาตรฐานต่างๆ ที่นักเดินทางหันมาสนใจมากขึ้นหลังวิกฤตโควิด-19 และเตรียมพร้อมสำหรับการตอบสนองต่อโรคอุบัติใหม่อย่างทันท่วงที

“กลยุทธ์ของเราคงใช้หลักการเดิม คือ รวดเร็วและแม่นยำ เป็นสูตรไม้ตายรับมือสถานการณ์ และหากมีเทคโนโลยีอื่นๆที่ก้าวกระโดดขึ้นมาก็ต้องหยิบมาประยุกต์ใช้และก้าวตามให้ทันสถานการณ์ สร้างความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยวได้”

 

ขอบคุณภาพ - กองทัพเรือ Royal Thai Navy / สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพังงา / สมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดพังงา