สถาบันวัคซีนแห่งชาติ เผยความคืบหน้าวัคซีนโควิดสัญชาติไทย 3 ชนิด ทั้ง “องค์การเภสัชฯ – mRNA จุฬาฯ – ใบยา” เร็วสุดคาดของ อภ. เข้าสู่การทดลองเฟส 3 เดือน ธ.ค.ปีนี้จนถึงม.ค. 66 มีลุ้นใช้ปีหน้า
เมื่อวันที่ 19 พ.ย. 2565 นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ เปิดเผยถึงความคืบหน้าการพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 สัญชาติไทย ว่า วัคซีนไทยที่มีความคืบหน้าที่สุดในขณะนี้ คือ การพัฒนาวัคซีนขององค์การเภสัชกรรม (อภ.) ซึ่งกำลังอยู่ในเฟส 2 และจะเข้าสู่เฟส 3 เดือน ธ.ค. 2565 ถึงเดือน ม.ค. 2566 โดยต้องขึ้นกับผลการทดลองเฟส 2 ว่า วัคซีนสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดีหรือไม่อย่างไร คาดว่าจะทราบผลปลายเดือน พ.ย.หรือต้น ธ.ค. นี้ โดยเฟส 3 จะใช้ทดสอบเพื่อเป็นวัคซีนกระตุ้น
สำหรับผู้ที่ใช้วัคซีนชนิดอื่นๆ ก่อนหน้านี้ ถ้ากระตุ้นด้วยวัคซีนของ อภ. เทียบกับ กระตุ้นด้วยวัคซีนของแอสตราเซนเนกา และ ไฟเซอร์ จะได้ผลที่แตกต่างกันหรือไม่อย่างไร ถ้าผลไม่ต่างกัน ก็แสดงว่า วัคซีนของ อภ. เทียบเท่ากับวัคซีนต่างประเทศ ก็ดำเนินการขอขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพื่อใช้เป็นวัคซีนเข็มกระตุ้นต่อไป
ส่วนวัคซีนชนิด mRNA ของคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เนื่องจากมีการเปลี่ยนบริษัทผลิตวัคซีน จากสหรัฐอเมริกา เป็นบริษัท ไบโอเนท-เอเชีย จึงมีความจำเป็นต้องทำการทดสอบซ้ำใหม่อีกครั้ง ว่าวัคซีนที่ผลิตใหม่นี้ได้ผลเหมือนกับวัคซีนที่ผลิตจากสหรัฐอเมริกาหรือไม่ ซึ่งกำลังจะเริ่มเฟส 1 ใหม่ โดยมีวัคซีนทุกอย่างพร้อมแล้ว รอการอนุมัติให้ทดสอบเฟส 1
ภาพจากจุฬาฯ
ขณะที่วัคซีนใบยา ของคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ ขณะนี้มีการพัฒนาวัคซีนรุ่นที่ 2 ซึ่งอยู่ในระหว่างการรอผลเฟส 1 แต่เบื้องต้นวัคซีนรุ่นที่ 2 สามารถกระตุ้นภูมิได้ดีกว่าวัคซีนรุ่นที่ 1
ภาพจากจุฬาฯ
ทั้งนี้ วัคซีนสัญชาติไทยทั้ง 3 ชนิดนี้ จะใช้เป็นวัคซีนเข็มกระตุ้น คงไม่ใช่วัคซีนตั้งต้น เพราะคนไทยได้รับวัคซีนไปจำนวนมากแล้ว
อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาความคืบหน้าของการทดสอบแต่ละชนิดแล้ว ปี 2566 ที่คืบหน้าที่สุด น่าจะพอมีลุ้นคือ วัคซีนขององค์การเภสัชกรรม ซึ่งมีความคืบหน้าที่สุด แต่ทั้งหมดเป็นเรื่องของงานวิจัยที่จะต้องดูผลการทดสอบและต้องแน่ใจว่าดีทุกตอน จึงจะไปต่อได้ แต่หากสะดุดก็ต้องหยุดมาเร่ิมใหม่ แต่ขณะนี้ทุกอย่างยังดำเนินการไปด้วยดีอยู่ ก็ยังคงเดินหน้าได้ต่อไป
นพ.นคร กล่าวต่อว่า สำหรับงบประมาณก็ไม่เป็นปัญหา แม้ว่าไทยจะประกาศให้โรคโควิด-19 เป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง ก็ไม่กระทบต่อการวิจัย ซึ่งงบประมาณก็เตรียมการไว้พร้อม รัฐบาลให้ความสำคัญและจัดสรรงบประมาณไว้ให้อย่างเพียงพอ
*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org
- 3341 views