คืบหน้าวัคซีนโควิดไทยแลนด์ ทั้ง mRNA จุฬาเตรียมผลิตธ.ค. ส่วนใบยาทดลองในมนุษย์แล้ว ขณะที่วัคซีนพ่นจมูกเตรียมขอขึ้นทะเบียน อย. ทดสอบต่อสายพันธุ์เดลตา ล่าสุดวัคซีนไทยทำทุกแพลตฟอร์มทยอยสำเร็จ ปี 65 เพื่อคนไทย
เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 29 ก.ย. 2564 สถาบันวัคซีนแห่งชาติ จัดเสวนา THAILAND COVID-19 VACCINE FORUM 2021 สถานการณ์ความก้าวหน้าการพัฒนาวัคซีนไทยสู้โควิด โดยทีมประเทศไทย โดย นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ กล่าวว่า การเสวนาครั้งนี้ เป็นการรวมตัวของทีมวิจัยประเทศไทยในการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ถือเป็นการรวมตัวพร้อมหน้าพร้อมตาตั้งแต่เดือน ก.พ. 2563 เป็นเวลา 1 ปีกับ 6 เดือนที่ผ่านมา หลังจากระดมสรรพกำลังร่วมกันทำงาน ซึ่งครั้งนี้มีความก้าวหน้าในการพัฒนาวัคซีนโควิด โดยทีมวิจัยของประเทศไทย
00 คืบหน้าวัคซีน mRNA จุฬา ผลทดลองน่าพอใจ พร้อมผลิตรีลิสต์ ต้น ธ.ค.64
นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ผู้อำนวยการบริหารโครงการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า สำหรับการพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด-19 ชนิด mRNA ขณะนี้ผ่านด่านกระตุ้นในหนู ซึ่งพบค่าที่สูงหลายหมื่น titer ยิ่งสูงยิ่งป้องกันไวรัสไม่ให้เข้าเซลล์ ในลิงก็ได้ประมาณ 5 พัน titer โดยขณะนี้ได้ทดสอบในมนุษย์ระยะที่ 1 และเข้าสู่ระยะที่ 2 แล้ว ขณะเดียวกันระหว่างการทดสอบในอาสาสมัคร ก็ได้เตรียมโรงงานไทย ซึ่งโรงงานที่เป็นพันธมิตรเชิงยุทธศาสตร์กับเราตลอด คือ ไบโอเนท เอเชีย และเพื่อความไม่ประมาท ได้มีการทำคู่ขนาน คือ รุ่น 2 โดยหากรุ่น 1 หากป้องกันข้ามสายพันธุ์ไม่ได้ ก็จะมีรุ่น 2
นพ.เกียรติ กล่าวอีกว่า ส่วนคำถามว่า วัคซีนที่กระตุ้นภูมิคุ้มกันสูง มีความหมายจริงหรือไม่ในการป้องกันโรคในการป้องกันป่วยและล้มตาย คำตอบคือ จริง โดยหนูพันธุ์พิเศษที่ใส่โปรตีนให้ไวรัสเข้าเซลล์ได้นั้น พบว่า หนูที่ฉีดวัคซีนและไม่ฉีดวัคซีน(ฉีดไขมันเฉย) สามารถป้องกันในหนูรับวัคซีนแม้ได้ปริมาณต่ำ ก็สามารถป้องกันการเจ็บป่วย และป้องกันไม่ให้เชื้อเข้ากระแสเลือดได้ 100% และลดปริมาณเชื้อที่ใส่ในจมูกและปอดลงได้มากกว่า 10 ล้านเท่า หากตามต่อว่า ภูมิที่ขึ้นสูงจะตกเมื่อไหร่นั้น ข้อมูลในลิงตั้งแต่ก.ค.2563 ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลไฟเซอร์ กับโมเดอร์นา จะใช้เวลา 8 เดือนขึ้นไป ยิ่งหากเป็นอู่ฮั่นจะเกินปี จริงๆภูมิธรรมชาติต้องตก ไม่ตกจะเรื่องใหญ่ เพราะร่างกายเราเจอสิ่งแปลกปลอมตลอด ต้องสร้างภูมิคุ้มกันตลอด หากเราเจออะไรแล้วสร้างตลอดและไม่หยุด ร่างกาย หรือเลือดเราจะข้นมากและจะเป็นโรค เป็นเส้นเลือดอุดตันได้ แต่ในลิงแม้ตกแล้ว 6 เดือน ภูมิก็ยังสูงอยู่
ส่วนคำถามว่าป้องกันสายพันธุ์ข้ามสายพันธุ์อย่างเดลตา เบตา แกมมา ได้หรือไม่ เราเอาเลือดที่ฉีดวัคซีนในลิงและหนูเอามาพิสูจน์ โดยทำที่ห้องปฏิบัติการของ สวทช. ซึ่งพบว่าป้องกันสายพันธุ์ได้ทุกสายพันธุ์ โดยเดลตา ป้องกันได้ดีมาก ยิ่งโดสสูง แม้ภูมิฯตกก็ยังสูง ป้องกันได้หมด ประเด็นปัญหาคือ วัคซีนกระตุ้นภูมิสูงจะตกช้า ต่ำลงจะตกเร็ว เพราะเราไปเจอเชื้อติดง่ายและป่วยเร็ว คือ เดลตา จึงเป็นประเด็นว่าต้องมีการบูส
นพ.เกียรติ กล่าวว่า ส่วนการวิจัยในอาสาสมัครนั้น ต้องขอขอบคุณทุกท่าน โดยเราเริ่มกลางเดือน มิ.ย.2564 โดยจากการทดลองเฟส 1 / 2 กลุ่มอายุ 18-55 ปี ผลเบื้องต้นจำนวนอาสาสมัครยังน้อย การจะบอกว่าปลอดภัย 100% ยังต้องติดตามโครงการขนาดใหญ่ สำหรับผลเบื้องต้นยังไม่เจอผลข้างเคียงรุนแรง ส่วนใหญ่เล็กน้อยและดีขึ้นภายใน 1 วัน และไม่เกิน 2 วันครึ่ง ส่วนใหญ่หนาวสั่น ปวดกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย โดยเฉพาะเข็ม 2 ทั้งนี้ผลรายบุคคล 10 กว่าท่านนั้น หากฉีดโดสสูง 50 ไมโครกรัม ตัวเลขขึ้นสูง 1 อาทิตย์หลังเข็ม 2 โดยตัวเลขสูงถึง 94% อย่างไรก็ตาม หากให้โดสต่ำกว่าจะขึ้นสูงใช้เวลาเป็นเดือน” นพ.เกียรติ กล่าว และว่า ที่กล่าวมาคือ เป็นการจับโปรตีนของโควิด19 ส่วนที่ว่าจะยับยั้งไม่ให้เข้าเซลล์หรือไม่ ก็ได้เช่นกัน และป้องกันข้ามสายพันธุ์ในคนได้หรือไม่ ได้เช่นกัน แม้เดลตาจะตกลงไป แต่ก็ยังป้องกันได้ ส่วนเบตา แกมมา ก็ลดลงมาหน่อย แต่ก็ยังอยู่ในเกณฑ์ของอ็อกซ์ฟอร์ด ที่น่าพอใจ
นพ.เกียรติ กล่าวว่า สำหรับเฟส 1 เราผ่านกลุ่มอายุ 18-55 ปีแล้ว ส่วนเฟส 1 อายุมาก 56-75 ปี นั้นฉีดครบ 2 เข็มแล้ว และอาทิตย์นี้จะครบ 1 อาทิตย์หลังเข็ม 2 ส่วนเฟส 2 อายุ 18-59 ปี ฉีดเข็ม 2 แล้วเช่นกัน ขณะนี้รอหารือกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ว่าจะไปต่ออย่างไร ส่วนไบโอเนท-เอเชียก็พร้อมเริ่มผลิตล็อตวัคซีนได้ คาดว่าจะผลิตล็อตรีลิสต์เร็วสุดช่วงต้นธ.ค.นี้ อย่างไรก็ตาม ขอย้ำว่า จริงๆแล้ว ขอย้ำว่า ทุกเทคโนโลยีแพลตฟอร์มมีความหมายหมด หากมีครบวงจร มีคุณค่าหมด ต้องอาศัยทุกแพลตฟอร์ม แต่ชนิด mRNA ได้พิสูจน์ในโควิดชัดเจนว่า สปีดเร็วสุด ประสิทธิภาพ ซึ่งการใช้เวลาออกแบบจนทดลอง ได้เร็ว และจะเป็นเทคโนโลยีหนึ่งของอนาคต
00 วัคซีนใบยาทดสอบในมนุษย์แล้วสัปดาห์นี้
ผศ.ภญ.ดร.สุธีรา เตชคุณวุฒิ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด กล่าวว่า สำหรับวัคซีนใบยาเป็นวัคซีนป้องกันโควิด-19 ชนิด subunit vaccine ขณะนี้อยู่ระหว่างการทดสอบในคลินิก ซึ่งเดือน ก.พ. ได้วัคซีนต้นแบบและทดสอบในสัตว์ทดลอง ทั้งความปลอดภัย ความสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกัน และการทดสอบหลังปรับเปลี่ยนสูตรวัคซีนให้อยู่ในอุณหภูมิ 2-8 องศาได้นานอย่างน้อย 6 เดือน จากนั้นทดสอบความเป็นพิษ และความสามารถกระตุ้นภูมิระยะยาว โดยการทดสอบในลิงผลค่อนข้างดี ส่วนเรื่องการผลิตนั้น ได้มีการออกแบบโรงงานผลิตของใบยา โดยใช้เวลา 10 เดือน ขณะนี้ได้ผลิตรีลิสต์ตัวโปรดักส์ และสัปดาห์นี้วัคซีนได้ทดสอบในมนุษย์กลุ่มแรกแล้วเมื่อวันจันทร์ที่ 27 ก.ย.ที่ผ่านมาใน 4 คนแรก และวันพรุ่งนี้(30 ก.ย.) จะฉีดกลุ่มที่เหลืออีก
“นอกจากนี้ ทีมวิจัยของเรายังพัฒนาวัคซีนโควิดรุ่นหน้า โดยปรับเปลี่ยนสูตรให้สามารถกระตุ้นภูมิได้ดีขึ้น ขณะนี้ทำการทดสอบในสัตว์ทดลอง และจะเข้าการทดสอบมนุษย์เฟส 1 ต่อไป คาดว่าผลของกลุ่มแรก คือ อาสาสมัครกลุ่มอายุ 18-65 ปี จะเป็นผลให้ตัดสินใจว่า จะเอาวัคซีนรุ่นหน้าเข้าทดสอบต่อไปหรือไม่ และเรายังมีอีกทั้ง ตัววัคซีนรุ่นหน้า เรายังมีการผลิตวัคซีนแคนดิเดต เพื่อนำมาทดสอบในสัตว์ทดลอง ดูว่าจะเอาวัคซีนแคนดิเดตตัวไหนมาเข้าทดสอบต่อไป โดยเราจะเลือกเพื่อนำมาเป็นคอกเทล เพื่อเปลี่ยนตัวสูตรในการเข้าสู่การทดสอบเฟส 1 คาดว่าไตรมาสที่ 3 ปี 2565 จะเป็นอีกวัคซีนที่นำไปใช้ให้กับคนไทยได้ ” ผศ.ภญ.ดร.สุธีรา กล่าว
00 ไบโอเทคเจ๋ง พัฒนาวัคซีนแบบพ่นจมูก อีกทางเลือกสู้โควิด
ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา ผู้อำนวยการหน่วยวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ(ไบโอเทค) สวทช. กล่าวว่า สวทช.เป็นหนึ่งในทีมไทยแลนด์ที่พัฒนาวัคซีน โดยเราเน้นวัคซีนไวรัลเวกเตอร์เป็นหลัก ซึ่งเป็นการจ่อจิ๊กซอให้ประเทศเรื่องเทคโนโลยีได้ชัดเจน อย่างไรก็ตาม ไวรัสโควิดติดต่อทางระบบทางเดินหายใจ ซึ่งวัคซีนจะป้องกันการเกิดโรคที่รุนแรง แต่ที่เราได้ยินข่าว คือ คนฉีดวัคซีนในระดับหนึ่งจะป้องกันการติดเชื้อไม่ได้ ซึ่งคนทำเทคโนโลยีด้านวัคซีนพยายามหาวัคซีนทางเลือกใหม่ ที่ป้องกันการติดเชื้อได้ด้วย โดยขณะนี้มีเทรนด์เทคโนโลยีที่เรียกว่า การฉีดวัคซีนเข้าทางจมูก เป็นการเพิ่มภูมิคุ้มกันระบบทางเดินหายใจส่วนบน
“ดังนั้น ไอเดียการนำไวรัลเวกเตอร์ ที่มีคุณสมบัติติดเซลล์ และกระตุ้นภูมิคุ้มกันบริเวณนั้นได้ค่อนข้างดี ซึ่งหากเรานำส่งเข้าทางเดินหายใจส่วนบน ก็คาดหวังว่า แอนติบอดีต่อเยื่อเมือกบริเวณนั้น น่าจะมีประสิทธิภาพป้องกันการติดเชื้อตั้งแต่เริ่มต้น ซึ่งเป็นไอเดียที่ทาง สวทช. นำเสนอวัคซีนรูปแบบใหม่ โดยการพัฒนาวัคซีนไวรัลเวกเตอร์ในรูปแบบฉีดพ่นจมูก ” ดร.อนันต์ กล่าว
ดร.อนันต์ กล่าวอีกว่า การพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิดแบบพ่นจมูกชนิด Adenovirus-based เบื้องต้นผลการทดลองในหนูชนิดพิเศษ พบว่า วัคซีนแบบพ่นจมูกเมื่อเปรียบเทียบกับไวรัสแบบฉีดเข้ากล้าม 2 เข็ม จะเห็นว่า วัคซีนแบบฉีดพ่นจมูก มีคุณสมบัติป้องกันได้ดีกว่าไม่ฉีดอะไรเลย โดยฉีดเข้าจมูกป้องกันการติดเชื้อในปอดค่อนข้างดี อีกทั้ง ผลการศึกษาเบื้องต้นกรณีเดลตานั้น การนำส่งไวรัสแบบฉีดพ่นจมูกอาจเป็นอีกทางเลือกในการป้องกันการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจทั้งส่วนบนและส่วนล่างได้เช่นกัน
“ นอกจากอะดิโนไวรัสแล้ว เรายังพัฒนาด้วยการปรับแต่ง Influenza-based คือ การปรับแต่งไวรัสไข้หวัดใหญ่ที่ฉีดทุกปี หรือใช้วัคซีนไข้หวัดใหญ่ฉีดพ่นจมูกอยู่แล้วปรับแต่งให้แสดงออกโปรตีนของโควิด เรียกว่า พัฒนาให้สามารถป้องกันทั้ง 2 โรคในเวลาเดียวกันได้ โดยหลักการใช้พ่นจมูกเช่นเดียวกัน ซึ่งขณะนี้กำลังเข้าสู่การทดสอบในหนูต่อไป แต่เบื้องต้นก็มีข้อมูลว่า แอนตอบอดี ต่อโควิดพบภูมิคุ้มกันค่อนข้างดี อีกทั้ง หนูที่ได้วัคซีนแบบพ่นจมูก 2 เข็ม ภูทิคุ้มกันต่อไข้หวัดใหญ่ก็เกิดขึ้นเช่นกัน จึงน่าจะเป็นอีกทางเลือกเช่นกัน ซึ่งจะร่วมกับองค์การเภสัชกรรมในการขยายขนาดและทดสอบระดับจีเอ็มพี ทดสอบความปลอดภัยร่วมกับมหาวิทยาลัยนเรศวร จริงๆเราไม่ใช่ที่แรก ในต่างประเทศก็มีการดำเนินการ ทั้งอ็อกซ์ฟอร์ด อินเดีย หรือแม้แต่ฮ่องกง คิวบา” ดร.อนันต์ กล่าว
ดร.อนันต์ กล่าวอีกว่า สำหรับวัคซีนอะดิโนไวรัส ขณะนี้ได้ผลิตระดับอุตสาหกรรม โดยจะขอขึ้นทะเบียนกับ อย. เพื่อขอทำการทดสอบเฟส 1 ซึ่งวางแผนต้นปี 2565 เริ่มทดลองในมนุษย์ นอกจากนี้ จะแผนต่อไปคือ การทดสอบวัคซีนแบบพ่นจมูกต่อสายพันธุ์เดลตา อยู่ระหว่างรอผลทดลอง และจะขอขึ้นทะเบียน อย. และทดสอบอาสาสมัครในปีหน้าเช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตาม เราจะพยายามพัฒนาวัคซีนทั้งชนิด Adenovirus-based และ Influenza-based เพื่อให้ประชาชนได้ใช้ ซึ่งการหาอาสาสมัครวัคซีนแบบฉีดพ่น อาจต้องหาว่า จะเป็นอาสาสมัครกลุ่มที่ไม่เคยรับวัคซีน หรือวัคซีนแบบกระตุ้น ต้องดูการออกแบบในอนาคตต่อไป
00 วัคซีนองค์การเภสัชฯ อยู่ระหว่างทดสอลทางคลินิกเฟส 250 คน คาดผลปลายปี 64
ดร.ภญ.พรทิพย์ วิรัชวงศ์ หัวหน้าโครงการวัคซีนโควิด19 HXP-GPOVac องค์การเภสัชกรรม กล่าวว่า การพัฒนาวัคซีนHXP-GPOVac ได้มีการวิจัยทางคลินิกระยะที่ 1 เริ่ม มี.ค.2564 ในอาสาสมัตร 210 คน หลังให้วัคซีน 2เข็ม ห่างกัน 28 วัน พบว่า ในเรื่องความปลอดภัย อาการไม่พึงประสงค์มีระดับความรุนแรงต่ำ เช่น ปวด ตึง บวมบริเวณที่ฉีด ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดศรีษะ และหายไปในระยะเวลาไม่กี่วัน ส่วนการกระตุ้นภูมิคุ้มกันหลัง 2 สัปดาห์รับวัคซีนเข็มที่ 2 ระดับภูมิคุ้มกันจะสูงโดยขนาด 10 ไมโครกรัมจะให้ผลดีที่สุด
นอกจากนี้ ได้ศึกษาเกี่ยวกับการกระตุ้นภูมิคุ้มกันต่อสายพันธุ์กลายพันธุ์ พบว่า สายพันธุ์อู่ฮั่นให้การกระตุ้นภูมิคุ้มกันที่สูงที่สุด และระดับภูมิคุ้มกันจะลดลงมาเมื่อเจอสายพันธุ์กลายพันธุ์ และต่ำสุดที่สายพันธุ์เบตา ปัจจุบันอยู่ระหว่างการวิจัยทางคลินิกระยะที่ 2 ในอาสาสมัคร 250 คน คาดว่าจะทราบผลปลายปี 2564 และช่วงก.ค. 2565 น่าจะยื่นขออนุญาตการใช้แบบมีเงื่อนไข
*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org
- 92 views