สธ.ส่งหนังสือถึง นพ.สสจ. แจ้ง รพ.ทุกแห่งหนุน “ทันตแพทย์” รองรับงานของทันตาภิบาล รพ.สต.ที่ถ่ายโอนในระยะเปลี่ยนผ่าน ส่วนจังหวัดไหนไม่มีทันตแพทย์ ในสังกัดท้องถิ่น ให้แจ้ง คกก.สุขภาพพื้นที่ เร่งจัดจ้าง ไม่เช่นนั้นทันตาภิบาลทำงานไม่ได้ ขณะที่หนึ่งในทันตาภิบาลถ่ายโอนไป อบจ. ขอท้องถิ่นให้ความสำคัญสุขภาพช่องปาก เหตุหลายพื้นที่ไม่ชัดเจนทำหัตถการช่องปากได้หรือไม่ หวั่นขัด MOU
ตามที่นพ.ณรงค์ อภิกุลวณิช ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข รักษาราชการแทนรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ปฏิบัติราชการแทนปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ลงนามในหนังสือเรื่อง การให้บริการสุขภาพช่องปากสำหรับหน่วยบริการสาะรณสุขที่ถ่ายโอนไปองค์การบริหารส่วนจังหวัด ถึงนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดทุกจังหวัด โดยใจความให้ดำเนินการ ดังนี้
1.แจ้งโรงพยาบาลทุกแห่งในจังหวัดให้การสนับสนุนทันตแพทย์ เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งวัสดุ และเครื่องมือ เพื่อจัดบริการส่งเสริม ป้องกันทางสุขภาพช่องปาก และการรักษาทางทันตกรรม ในสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติฯ และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพ.สต.) ที่สังกัดอบจ.ตามที่ อบจ.ขอความอนุเคราะห์ในระยะเปลี่ยนผ่านนี้
2.สำหรับจังหวัดที่ไม่มีทันตแพทย์ปฏิบัติงานในสังกัด อบจ. ให้แจ้ง อบจ. หรือคณะกรรมการสุขภาพระดับพื้นที่ เร่งดำเนินการจัดจ้าง หรือจัดหาผู้ที่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพทันตกรรม เพื่อทำหน้าที่ควบคุมการประกอบวิชาชีพทันตกรรมของทันตาภิบาลในสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติฯ และรพ.สต. ที่สังกัด อบจ. ตามความเห็นของกองกฎหมาย สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข
ล่าสุดวันที่ 15 พ.ย.2565 นายศักดิ์สิทธิ์ คำเกาะ เจ้าพนักงานทันตสาธารณสุขชำนาญงาน ในฐานะผู้ประสานงานเครือข่ายเจ้าพนักงานสาธารณสุข 11 สายงาน ให้สัมภาษณ์ Hfocus ถึงเรื่องนี้ว่า ตนเป็นหนึ่งในบุคลากรที่ถ่ายโอนภารกิจจากโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ไปยังองค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.) ซึ่งเมื่อได้เห็นหนังสือของกระทรวงสาธารณสุขเกี่ยวกับการให้บริการสุขภาพช่องปากสำหรับหน่วยบริการสาธารณสุขที่ถ่ายโอนไปนั้น ถือเป็นเรื่องดี เพราะการทำงานของทันตาภิบาล ต้องปฏิบัติงานภายใต้ทันตแพทย์ ซึ่งเป็นไปตามระเบียบที่กำหนด
อย่างไรก็ตาม หลายจังหวัด อย่างสุพรรณบุรี ขอนแก่น และจังหวัดอื่นๆ ก็จะมีการบริหารจัดการด้วยการจ้างทันตแพทย์ไว้ก่อนแล้ว แต่บางจังหวัดที่ถ่ายโอนไปไม่มาก หรือครึ่งหนึ่งจำเป็นต้องมีการทำ MOU กับสสจ. เพื่อให้มีการดูแลงานทันตภิบาล ทั้งนี้ ที่สำคัญต้องพิจารณาว่าการจ้างงานทันตแพทย์มีจำนวนมากน้อยแค่ไหน เพียงพอหรือไม่ เพราะอย่างหาก อบจ.หนึ่งจ้างทันตแพทย์ 1 คนก็อาจไม่เพียงพอ ตรงนี้ต้องดูบริบทแต่ละพื้นที่ด้วย
นายศักดิ์สิทธิ์ กล่าวว่า สิ่งที่อยากฝากจากนี้คือ อบจ.ส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับบางวิชาชีพ แต่ลืมความสำคัญของช่องปาก ซึ่งผู้มารับบริการพลาดโอกาสไม่ได้รับการบริการจุดนี้ หลายพื้นที่กังวล เนื่องจากใน MOU ระหว่าง อบจ. และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด(สสจ.) คิดว่า ต้องทำแต่งานส่งเสริมป้องกัน แต่จริงๆการทำฟันเล็กน้อยให้ชาวบ้านสามารถทำหัตถการตรงนี้ได้ตามระเบียบเดิม แต่ทันตาภิบาลที่ถ่ายโอนไปหลายคนก็กังวลเรื่องนี้ เพราะไม่แน่ใจทำได้หรือไม่ อยากให้มีความชัดเจน เนื่องจากจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนในพื้นที่
“ตอนนี้ทันตาภิบาลหลายคนยังมีความสงสัยว่า เมื่อถ่ายโอนแล้วใครจะมาดูแล ยังเป็นการดูแลแบบ CUP หรือหน่วยบริการสุขภาพปฐมภูมิอันเดิม หรือ อบจ. หรือสสจ. กันแน่ รวมทั้งการบรรจุที่ผ่านมามีแต่ทันตาภิบาลที่จบหลักสูตร 2 ปีถูกบรรจุไปเกือบหมดแล้ว เหลือแต่นักวิชาการสาธารณสุข(ทันตสาธารณสุข ) ซึ่งถูกมองว่าไม่ขาดแคลน เพราะถูกไปรวมกับนักวิชาการสาธารณสุข ทำให้เกิดความน้อยเนื้อต่ำใจ และโควิดก็ไม่ได้หายไปไหน อาจมาอีกก็ได้ ดังนั้น ควรให้ความสำคัญทุกสายงานอาชีพ ไม่เน้นสาขาใด สาขาหนึ่งเท่านั้น” นายศักดิ์สิทธิ์ กล่าว
เมื่อถามว่าในอนาคตทันตาภิบาล สามารถปฏิบัติงานโดยไม่ต้องอยู่ภายใต้ทันตแพทย์หรือไม่... นายศักดิ์สิทธิ์ กล่าวว่า ตามกฎระเบียบไม่ได้ ซึ่งจริงๆทันตาภิบาล ตั้งมาจะ 100 ปีแล้วแต่การทำงานด้านวิชาชีพจะเป็นของทันตแพทย์ เนื่องจากกำหนดภาระหน้าที่ ทั้งการส่งเสริม ป้องกัน รักษา ฟื้นฟู ดังนั้น วิชาชีพใดจะเกิดขึ้นมาต้องไม่ทับซ้อนกับวิชาชีพเดิม และด้วยภาระงานของทันตาภิบาลจะสอดคล้องกับทันตแพทย์ จึงไม่สามารถจะตั้งเป็นวิชาชีพโดดๆได้
ผู้สื่อข่าวถามว่ากรณีความก้าวหน้าทันตาภิบาลจะอยู่ตรงไหน ... นายศักดิ์สิทธิ์ กล่าวว่า ส่วนใหญ่ต้องขอปรับเป็นนักวิชาการสาธารณสุข แต่ทันตาภิบาลก็จะมีหลักสูตรทั้ง 2 ปี และ 4 ปี แต่ปัจจุบันผลิตแต่ 4 ปี อย่างไรก็ตาม เห็นว่าจะมีหลักสูตรใหม่เสนอทาง คณะกรรมการมาตรฐานการบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น (ก.ถ.) แต่ส่วนใหญ่ทันตาภิบาลก็จะปรับเป็นนักวิชาการสาธารณสุขมากกว่า แต่เมื่อเป็นนักวิชาการสาธารณสุข ก็จะไม่ทำฟันแล้ว
*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org
- 1563 views