อาจารย์แพทย์จุฬาฯ เผยเสียงสะท้อนของหมอจบใหม่ กับภาวะหมดไฟ ที่ส่วนใหญ่ทั่วโลกเจอเมื่อทำงานมากกว่า 10 ปีขึ้นไป แต่ระบบสาธารณสุขไทยแค่ 3 เดือนก็เริ่มมอดแล้ว เหตุหลายปัจจัย  หากผู้บริหารไม่เริ่มแก้ไขอย่างจริงจัง ปัญหาจะยิ่งทวีคูณ กระทบระบบโดยรวม 

 

เมื่อวันที่ 12 พ.ย. 2565 ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โพสต์เฟซบุ๊ก ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha  เสียงสะท้อนจากหมอเด็ก  โดยระบุว่า

 

เสียงสะท้อนจากหมอเด็ก

(ที่พูดไปแล้วไม่มีใตรสนใจฟัง)

 

จากหมอเด็กคนหนึ่ง พูดแทนเพื่อนๆ เรื่องความทุกข์กาย ทุกข์ใจของหมอ เรื่องคอขาดเลยครับ ถ้าระบบสาธารณสุขไม่ปรับเปลี่ยนตามยุคสมัย

 

หมอทำงานในระบบสาธารณสุขไทยมาได้เกือบครึ่งปี อยากไปเชี่ยวชาญทางด้านสมอง จึงมีเป้าหมายชัดเจน แต่ในระยะยาวการจะทำงานต่อไปได้โดย ไม่วอกแวก จำต้องมีความอยากรู้อยากเห็น ไม่งั้นก็จะเบื่อ หมดไฟ

 

หมอเองคิดอยู่ตลอดว่าต้องมีความเข้าใจในคนไข้ เรียกว่าเอาใจเขามาใส่ใจเรา มีความสงสาร เพราะความจริงก็คือคนไข้มาเจอก็จำไม่ได้เท่าไหร่หรอกว่าหมอพูดอะไร แต่จะจำได้ว่ารู้สึกอย่างไรเวลามาเจอหมอคนนี้ แต่ที่พูดมานี่จะทำได้ก็ต่อเมื่อมีเวลาให้คนไข้แต่ละคนมากพอและหมอพักผ่อนมากพอเท่านั้น

แรก ๆ เริ่มต้นชีวิตหมอเวลาหยุดจะน้อยนิด แค่ได้กลับบ้านไปฉลองโอกาสพิเศษถือว่าดีแล้ว ถ้าอยากมีแฟนก็มองไปรอบ ๆ เพราะสังคมนอกโรงพยาบาลนั้นแทบไม่มี เตรียมใจมาแล้วเรื่องแค่นี้

ทุกคนคิดว่าอยู่โรงพยาบาลก็มีแต่คนเคารพ เงินก็ดี คิดผิดมาก คนเคารพนั้นน้อยนิด โดยเฉพาะเป็นหมอจบใหม่ นอกจากจะยังต้องตรวจคนไข้เยอะแยะ ต้องใช้เวลาส่วนตัวมานั่งสรุปการรักษาเวลาคนไข้ออกจากโรงพยาบาล  แล้วจะเอาเวลาที่ไหนไปอ่านหนังสือเพิ่ม โลกที่กว้างขึ้น หมอเองก็เป็นคน ก็อยากกลับไปเจอหน้าพ่อ แม่ เจอเพื่อนเก่า หรือหาแฟนซักคน ไม่ก็อยากทำอย่างอื่นไปด้วยเช่นงานอดิเรกที่ตัวเองรักอย่างเปิดร้านกาแฟเล็ก ๆ หรือไปออกกำลังกาย

 

ผู้บริหารก็คงจะช่วยได้ในอีกระดับหนึ่ง ถ้ามีประสบการณ์ และมีมุมมองไกล ๆ เช่นลงทุนเรื่องการใช้ระบบอิเลคโทรนิคมาช่วยในการเขียนการรักษาในโรงพยาบาล (progress note) และช่วยการสรุปชาร์ท จัดการปัญหาเวรที่ยืดยาวเกินควร

แต่ถ้าไม่ก็จะไปในทางตรงข้าม เพราะมีความไม่เป็นมืออาชีพและพอมีเรื่องผิดพลาดก็จะหาคนผิด (blame culture) ไม่ได้กลับไปดูที่ระบบว่าผิดที่นั่นรึเปล่า ซึ่งเป็นวัฒนธรรมที่น่าขยะแขยงและต้องกำจัดทิ้งโดยเร็ว

 

ซ้ำร้ายการไปสำคัญการรับรองคุณภาพโรงพยาบาล ซึ่งอาจไม่ได้ตอบโจทย์สถานการณ์แออัดของโรงพยาบาลซักเท่าไหร่ จะต้องล้างสมองใหม่ ทุกคนจะต้องช่วยเหลือกันและกันไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ใช้การแนะนำและการสอนน้อง ๆ โดยที่ไม่ดูถูกดูแคลน ใช้วาจาสุภาพ เพราะทุกคนไม่ได้ฉลาดเท่ากัน และไม่ใช่ทุกคนที่มีความสนใจในทุกเรื่องเหมือนกัน

 

ส่วนเรื่องการหมดไฟ (physician burn out) ที่มีการพูดถึงเยอะขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็นที่ไหนในโลก จะเจอเยอะเวลาทำงานไป 10 ปีหรือมากกว่า แต่บอกเลยที่ประเทศเรา 3 เดือนแรกก็ไฟมอดกันเป็นแถบ หลายเหตุผลมาก ที่บอกมาด้านบนก็ส่วนนึง

อีกส่วนเพราะสมัยนี้เรื่องที่จำต้องรู้มันเยอะขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก และหลาย ๆ คนอาจจะไม่ได้แข็งแกร่งเหมือนหมอสมัยก่อน แต่นี้คือโลกสมัยใหม่ อาจารย์และระบบจำต้องทำความเข้าใจ ถ้าไม่ปรับตามเด็กสมัยใหม่แล้ว อีก 10 ปี จะเหลือใครอยู่ในระบบโรงพยาบาลเรา

 

ปัญหาที่รบเร้าใจซึ่งใช้งบโรงพยาบาลมหาศาลเปลืองเตียง เปลืองเวลา ทั้งที่ไม่ควรเกิดขึ้น ตัวอย่างเช่น วันนี้หมอหงุดหงิดมากเพราะคนไข้เมาเหล้าทุกวันสุดท้าย นอนโรงพยาบาลหลายต่อหลายครั้ง คราวนี้มาด้วยสารในร่างกายผิดปกติทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะ รักษาจนดี ให้กลับบ้าน สิ่งเดียวที่ได้คือ ทวงใบรับรองแพทย์ไปลางาน อยากจะบอกว่า คิดว่ามันถูกไหม กินเหล้าเตือนแล้วเตือนอีกไม่ยอมหยุด สุดท้ายมาจบที่โรงพยาบาล เสียเงินโรงพยาบาล สุดท้ายจะเอาใบรับรองแพทย์ไปหยุดงาน

เขียนดื่มสุราเกินขนาดทำให้หัวใจเต้นผิดปรกติก็ไม่เอา มาโวยวายเดี๋ยวลาไม่ได้ กลับมาถามตัวเองว่าทำไม คน ๆ หนึ่งถึงกลับมาด้วยเรื่องเดิม ๆ บ่อยครั้ง แต่ก็ยังคงไม่หยุด ทั้ง ๆ ที่นอนโรงพยาบาล ซักแล้วซักอีก หมอคุยแล้ว จิตแพทย์ก็คุยแล้ว ถึงเหตุผลที่ทำไมยังดื่มทั้ง ๆ ที่รู้ถึงอันตราย ถ้าเครียดหรือมีปัญหาชีวิตจะได้ช่วยกันหาทางออก

 

แต่มันกลายเป็นที่ดื่มนี่เพราะชอบสังสรรค์ในวงเหล้ากับเพื่อนฝูง ไม่ยอมออกจากวงเวียน สุดท้ายดื่มไปเป็น 10 ปี ก็กลับมาด้วยอาเจียนเป็นเลือด เพราะตับแข็งแล้ว ก็ต้องมาส่องกล้อง แทงเอาน้ำออกจากท้อง ให้ยาแพง ๆ และเตียง 1 ใน 4 ของอายุรกรรมก็เต็มไปด้วยแบบนี้ ที่บาดตากว่าคือพ่อแม่ที่อายุมากแล้วต้องมาดูแลมาเช็ดตัวให้ทุก ๆ วัน เห็นแล้วสงสารจนไม่รู้จะพูดอะไร ลูกอกตัญญู แทนที่จะดูแลพ่อแม่

ส่วนเตียงอีก 1 ใน 4 ก็มาด้วยการติดเชื้อเพราะไม่มีภูมิคุ้มกันจากการขาดยาต้านโรคเอชไอวี ก็คือเป็นเอดส์มานั่นเอง บ้างก็ติดเชื้อในสมอง บ้างก็ติดเชื้อเต็มไปหมดทั่วร่างกาย ตอนนี้อยู่แถบชลบุรีก็จะเจอเยอะหน่อย แต่มันเยอะจนน่ากลัว ไม่ว่าจะเชื้อวัณโรคดื้อยา และเชื้ออื่นที่จะไม่มียาใช้อยู่แล้ว มันน่าเสียดายเพราะไม่ควรมีใครต้องมาเป็นเอดส์ อีกแล้ว

 

ยาต้านเดี๋ยวนี้ก็ดีแสนดี ที่พูดมาทั้งเหล้าทั้งเอดส์ก็เป็นคนวัยทำงานทั้งนั้น เสียคนทำงาน แบบนี้ในอนาคตจะเอาเตียงที่ไหนมารับสังคมที่อายุมากขึ้น เตียงที่ควรจะมีเพื่อรับรีเฟอร์จากโรงพยาบาลชุมชนก็รับมาไม่ได้ แต่จะไม่รับก็ไม่ได้ถ้ามีเหตุผลที่ดี เพราะไม่รับถือว่าทำผิดต่อคนไข้ ทำผิดต่อเพื่อนร่วมอาชีพ

 

นี่ยังไม่ได้พูดถึงดื่มเหล้ารถชน ดื่มเหล้าตีกัน ตีกันในโรงพยาบาลอีก อย่าให้หมอพูดเลยว่าอยากจะจัดการอย่างไร ผู้อ่านนึกดูถ้าทำงานในออฟฟิศ โดนลูกค้าด่าทุกวัน อีกวันก็มาตีกันในที่ทำงาน ข้าวของเสียหาย เป็นอันตราย แบบนี้มันยังเรียกว่า ที่ทำงานที่ปลอดภัยไหม ทุกคนต้องเสียสละอยู่ด่านหน้าเสี่ยงติดเชื้อต่าง ๆ อยู่แล้ว แต่ที่กล่าวมามันมากเกินไปรึ เอาแบบต่างประเทศไหมเค้าใช้มาตรการ Zero tolerance to abuse หรือ จะไม่ทนแม้แต่นิดเดียว

ถ้าคนไข้ทำกริยามารยาทไม่ดี ใช้คำหยาบหรือข่มขู่ จะเชิญออก หรือ ให้รปภ.มาจัดการทันที ถ้าเป็นคนไข้นอนก็จะไม่คุยด้วย เพราะเค้าไม่ทนและก็จะไม่พยายามกล่อมด้วย ซึ่งเป็นนโยบายโดยทั่ว จะเอาแบบนี้บ้างดีไหม  ถ้ายังแย่ลงเรื่อย ๆ ก็คงจะไปถึงจุดนั้นแน่นอน

 

ทำอย่างไรดี สำนึกหายไปไหนหมด ส่วนผู้บริหารประเทศเอาเงินมาให้โรงพยาบาลจะดีกว่าไหม จะได้มีพยาบาลเพิ่ม มีคนแนะนำเรื่องเลิกเหล้า เรื่องกินยาต้าน และมีคนบริหารเรื่องสำคัญที่โดนมองข้ามไปให้ดีขึ้น ทุนไปเรียนก็เอามาเยอะ ๆ ไม่ต้องคิดมาก จะหวงทุนทำไม ขอแค่เป็นหมอที่มีจรรยาบรรณก็พอ เพราะตอนนี้หมอก็ไม่มี หมอที่จบมาใหม่ ไม่มีทุนให้เรียนเค้าจะอยู่ไปทำไม ต้องรีบดำเนินการเพื่อจะได้มีคนอยู่ในระบบเยอะ ๆ ทุกคนแบ่งเบาภาระ คนไข้ได้รับการดูแลที่ถูกต้อง และหมอจะได้มีชีวิตสักทีโดยที่ยังทำงานในโรงพยาบาลรัฐบาล ด้วยความเป็นห่วงมาก

 

(อ่านข่าวเกี่ยวข้อง : บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขกลุ่มเสี่ยงสูงสุด "ภาวะหมดไฟ"  กรมสุขภาพจิตขอสังคมร่วมส่งกำลังใจ)

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org