สภาเภสัชกรรม ร่วมกับ 8 เครือข่ายวิชาชีพ แถลงจุดยืน ประเด็น “การมีเภสัชกรปฏิบัติการ ณ ร้านยา เต็มตามเวลาที่เปิดให้บริการ” เผย ยามีทั้งคุณและโทษหากใช้อย่างถูกต้องก็จะเป็นประโยชน์ ชี้เรื่องความปลอดภัยในการใช้ยาเป็นสิทธิพื้นฐานที่ประชาชนควรได้รับจากการบริการในร้านยา พร้อมยืนยัน "เภสัชกรควรปฏิบัติหน้าที่ในร้านขายยาเต็มเวลาตามที่เปิดให้บริการ" 

เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2565 ศูนย์ประสานงานการศึกษาเภสัชฯ แถลงการณ์ ในประเด็น "การมีเภสัชกรปฏิบัติการ ณ ร้านยา เต็มตามเวลาที่เปิดให้บริการ" ผ่านวิดีโอถ่ายทอดสดที่แพร่ภาพแบบเรียลไทม์(Facebook live) ณ ช่องทาง เพจสภาเภสัชกรรม และองค์กรที่เป็นตัวแทนของผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมในประเทศไทย ร่วมด้วย 8 เครือข่ายสมาคมองค์กรวิชาชีพเภสัชกรรม โดยเห็นพ้องต้องกันอย่างเป็นเอกฉันท์ว่า การให้บริการผู้ป่วยและประชาชนในร้านยาจำเป็นต้องมีเภสัชกรปฏิบัติการ ณ ร้านยา เต็มตามเวลาที่เปิดให้บริการ 

ภก.วราวุธ เสริมสินสิริ โฆษกสภาเภสัชกรรม กล่าวว่า ที่มาของการแสดงจุดยืนในวันนี้ สืบเนื่องมาจากกฎหมายว่าด้วยยาเกี่ยวกับเรื่องวิธีปฏิบัติเภสัชกรรมชุมชน หรือ Good Pharmacy Practice (GPP) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ส่งเสริมให้เกิดมาตรฐานการปฎิบัติหน้าที่ที่ดีในร้านยาเพื่อความปลอดภัยของประชาชน เป็นกฎระเบียบที่เกี่ยวกับสถานที่ อุปกรณ์ ระเบียบวิธีปฏิบัติงานของเภสัชกร และกฎหมายฉบับนี้จะมีผลบังคับในอีกไม่นานนี้หลังจากที่ผ่อนผันให้ผู้ประกอบการร้านยารายเก่ามาแล้ว 8 ปี 

ทั้งนี้ การมีเภสัชกรปฎิบัติหน้าที่ในร้านขายยาตลอดเวลาเปิดทำการก็มีการกล่าวถึง พ.ร.บ. ยา ตั้งแต่ ปี 2510 แล้ว ได้มีการผ่อนผันและสิ้นสุดลงในปี 2529 ซึ่งเป็นระยะเวลาหลาย 10 ปีด้วยกัน ที่กฎหมายมีผลบังคับให้เภสัชกรเข้ามาปฏิบัติงานในร้านขายยาเพื่อความปลอดภัยของยากับประชาชน รวมถึงณวันนี้ร้านยาได้เข้าร่วมจัดบริการต่างๆในระบบหลักประกันสุขภาพ เราต้องการร้านยาที่มีมาตรฐาน มีเภสัชกรให้บริการ

อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงเวลาบังคับใช้กฎหมาย GPP กลับมีผู้ประกอบการบางกลุ่มเรียกร้องอยากขยายเวลาบังคับใช้ออกไปอีกซึ่งตรงนี้เป็นที่มาให้สภาเภสัชกรรมร่วมกับเครือข่ายวิชาชีพเภสัชกรรม ประกอบด้วยศูนย์ประสานงานการศึกษาเภสัชศาสตร์แห่งประเทศไทย 19 สถาบัน และองค์กรวิชาชีพเภสัชกรรม 8 องค์กร มาร่วมกันแถลงจุดยืนของวิชาชีพต่อกรณีการมีเภสัชกรในร้านยาซึ่งมีความจำเป็นมากต่อประชาชน

ทั้งนี้ มีจุดยืนหลักๆอยู่ 3 ประการคือ 1. ความปลอดภัยด้านยา ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ประชาชนควรจะได้รับจากการบริการในร้านยา 2. การปฎิบัติหน้าที่ของเภสัชกรตลอดเวลาเปิดทำการ ต้องเป็นหลักประกันความปลอดภัยด้านยาให้กับประชาชน 3. การปฏิบัติตามมาตรฐาน GPP ซึ่งเป็นมาตรฐานสากลอันเป็นที่ยอมรับและต้องไม่ยืดระยะเวลารการบังคับใช้ออกไป

ด้าน ภก.รศ.(พิเศษ) กิตติ พิทักษ์นิตินันท์ นายกสภาเภสัชกรรม กล่าวว่า การบริการหรือการรับบริการที่ร้านยา เรื่องความปลอดภัยเป็นสิทธิ์พื้นฐานของประชาชน ซึ่งเจตนารมย์ของพระราชบัญญัติยาพ.ศ. 2510 การให้มีเภสัชชกรอยู่ควบคุมการขายยา เพื่อสวัสดิภาพและความปลอดภัยของประชาชนผู้มารับบริการ ซึ่งตามมาตรฐานของวิชาชีพเภสัชกรรมในการจ่ายยา ขายยา เภสัชกรจะต้องพิจารณาถึงความเหมาะสมในการใช้ยา ให้คำแนะนำ ให้คำปรึกษา และข้อควรระวังต่างๆรวมถึงติดตามปัญหาการใช้ยา 

ดังนั้น ร้านยาจึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีเภสัชกรอยู่ปฏิบัติงานตลอดเวลาเพื่อให้บรรลุตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติยาและพระราชบัญญัติวิชาชีพเภสัชกรรม ทั้งนี้เพื่อประสิทธิภาพและความปลอดภัยของประชาชนผู้มารับบริการซึ่งถือว่าเป็นสิทธิ์พื้นฐานที่ประชาชนจะต้องได้รับ

ด้าน รศ.ภก.สุรกิจ นาฑีสุวรรณ ประธานศูนย์ประสานงานการศึกษาเภสัชศาสตร์แห่งประเทศไทย  กล่าวว่า ในฐานะที่เป็นตัวแทนของเภสัชศาสตร์ ทั้ง 19 สถาบันการศึกษาของประเทศไทย ซึ่งทำหน้าที่ผลิตบัณฑิตเภสัชกรเข้าสู่ระบบสุขภาพแห่งประเทศไทย พวกเราทั้ง 19 สถาบันขอยืนยันว่าการปฎิบัติหน้าที่เภสัชกรในร้านยาตลอดเวลาที่เปิดให้บริการถือว่าเป็นหลักประกันความปลอดภัยด้านยาให้กับประชาชนไทย 

ทั้งนี้ เพราะว่าเภสัชกรที่ได้ผ่านการเรียนการฝึกอบรมอย่างเข้มข้นตลอดเวลา 6 ปีตามเกณฑ์หลักสูตรเภสัชศาสตร์ ซึ่งถือได้ว่าเป็นหลักสูตรที่มีมาตรฐานระดับสากลเภสัชกรเหล่านี้เป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถและมีทักษะในเรื่องของการดูแลการใช้ยาอย่างลึกซึ้งและครบถ้วน ซึ่ง “ยา” มีทั้งคุณและโทษหากใช้อย่างถูกต้องก็จะเป็นประโยชน์ แต่หากใช้อย่างไม่ถูกต้องใช้แบบขาดความเข้าใจก็จะทำให้เกิดโทษได้  

ดังนั้น การใช้ยาจึงจำเป็นจะต้องมีความรู้ ต้องเข้าใจทั้งเรื่องยาและเรื่องโรคอย่างลึกซึ้ง "เภสัชกรจึงเป็นผู้ที่ควรปฏิบัติหน้าที่ในร้านขายยาเต็มเวลาตามที่เปิดให้บริการ" ถึงจะทำให้มั่นใจได้ว่าการที่ประชาชนเข้าไปรับบริการในร้านยาถึงจะปลอดภัยจริงๆ ขอย้ำอีกทีว่า การมีเภสัชกรที่ร้านยาเป็นหลักประกันความปลอดภัยด้านยาให้กับประชาชน

ด้าน ภก.สมพงษ์ อภิรมย์รักษ์ นายกสมาคมเภสัชกรรมชุมชนแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ตามที่ทราบกันดีว่า การมีเภสัชกรในร้านยาที่ให้บริการตลอดระยะเวลาที่เปิดทำการ จึงเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ประชาชนจะได้รับการรักษาพยาบาลและการดูแลด้านสุขภาพตามมาตรฐานวิชาชีพจากการประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพโดยไม่มีการเลือกปฏิบัติ  เพราะฉะนั้น กฏหมายว่าด้วยการขออนุญาตยาในปี 2556 จึงได้เกิดขึ้น เพื่อให้การทำงานและการปรับปรุงมาตรฐานของร้านยาเข้าสู่โหมดของการที่มีประชากรและการปฎิบัติที่ดีของเภสัชกรรม 

เนื่องจากระยะเวลาที่ผ่านมา 8 ปีนั้น มีลำดับขั้นตอนของกฎหมายที่บังคับใช้เพื่อให้ร้านยาที่เปิดก่อนปี 2556 มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงร้านยาตนเองให้เป็นตามมาตรฐาน จากปี 2556 จนถึงปี 2565 ซึ่งมีการประกาศเพิ่มเติมในปี 2557 เป็นการผ่อนผันระยะเวลา 8 ปีการปรับเปลี่ยนมาตรฐานของร้านยาเข้าสู่กระบวนการตามขั้นตอน โดยมีการประกาศเพิ่มเติมในปี 2560 ให้มีมาตรฐานเกิดขึ้นในหลายมาตรฐานไม่ว่าจะเป็น หมวดหมู่ของสถานที่ ที่ประชาชนเมื่อเข้ามาใช้บริการร้านยาแล้ว ต้องมีหลักแหล่งที่แน่นอนและประชาชนเข้าถึงง่ายสามารถดูแลได้

ถ้าหากว่าเรามองประชาชนเป็นพื้นฐาน เมื่อมารับยาที่ร้านยาก็จะพบกับอุปกรณ์มาตรฐานที่มีในร้านยา อย่างปัจจุบันนี้เราจะพบเห็นเครื่องวัดความดัน เครื่องวัดส่วนสูง เครื่องชั่งน้ำหนัก และตู้เย็นที่เอาไว้ควบคุมอุณหภูมิของยาเพื่อให้ได้มาตรฐาน เพราะฉะนั้น เมื่อประชาชนเข้ามาในร้านยาจะต้องเห็นภาพนี้เกิดขึ้น และที่สำคัญมากคือ หมวดของการควบคุมคุณภาพ 3 ด้านที่ต้องมีอยู่ในร้านยา คือ เมื่อเข้าไปสิ่งแรกที่มองเห็นก็คือยาที่จัดหมวดหมู่ตามคุณภาพ และยาที่ส่งมอบนั้น ต้องไม่หมดอายุ หรือต้องเป็นแหล่งผลิตที่มีคุณภาพ สามารถตรวจสอบได้ว่าเภสัชกรนั้นหยิบยาจากหมวดหมู่ตรงกับโรคที่ท่านเป็นอยู่หรือไม่...

" กระบวนการเหล่านี้ สอดคล้องกับวิธีการปฏิบัติที่เภสัชกรจะต้องส่งมอบยาให้กับประชาชนโดยต้องซักถามอาการ ตามที่มีในการอบรมจากการเรียนรู้ศึกษาต่อเนื่องตามที่จบมาทางด้านเภสัชศาสตร์ เพื่อให้ประชาชนได้รับการวินิจฉัยและรับยาที่ถูกต้องเหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นการเขียนชื่อคน ชื่อยา การใช้ยา วิธีการใช้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าไม่มีบุคลากรที่เป็นเภสัชกรอยู่ในร้านขายยา ตามกระบวนการส่งมอบยาที่ถูกต้อง ถูกยา ถูกโรค ให้กับประชาชนและให้คำแนะนำเรื่องของคุณภาพยา ซึ่งยาที่ดีมีคุณภาพต้องไม่หมดอายุ มีที่มาที่ไป ถูกต้องตามกฏหมาย ซึ่งนี่คือความสำคัญของการมีเภสัชกรอยู่ในร้านยา ตามที่มีกฎหมาย GPP " ภก.สมพงษ์ กล่าว

 

อ่านข่าวเกี่ยวข้อง

ศูนย์ประสานงานการศึกษาเภสัชฯ แถลงจุดยืน เภสัชกรต้องปฏิบัติการ ณ ร้านยาเต็มเวลา