กรมควบคุมโรค(คร.)เข้มมาตรการด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศที่ท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิ เพื่อคัดกรองผู้ที่เดินทางมาจากประเทศเสี่ยง หลังองค์การอนามัยโลกประกาศให้โรคอีโบลา เป็นสถานการณ์ฉุกเฉินระหว่างประเทศ ล่าสุด คร.อัปเดตข่าวใหม่ว่า ขณะนี้WHO ยังไม่ได้ประกาศตามที่ให้ข่าวไปก่อนหน้านี้

เมื่อช่วงเย็นวันที่ 24 ต.ค. นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ รักษาราชการอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงกรณีที่มีรายงานข่าว ว่าองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ประเมินสถานการณ์การระบาดแล้วพบว่า ความเสี่ยงของโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา ในประเทศซูดานขณะนี้ มีความเสี่ยงสูงที่จะแพร่กระจายไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เนื่องจากมีการข้ามพรมแดนระหว่างยูกันดาและประเทศอื่นๆ โดยประชากรส่วนใหญ่เดินทางข้ามพรมแดนเพื่อไปค้าขาย นอกจากนี้ ประเทศยูกันดายังให้ที่พักพิงแก่ผู้ลี้ภัยจำนวนมาก  ซึ่งเป็นการให้ความช่วยเหลือเพื่อรักษาสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศ  

กระทรวงสาธารณสุข ได้ประกาศให้โรคติดเชื้อไวรัสอีโบลาเป็นโรคติดต่ออันตรายที่จะต้องเฝ้าระวังและดำเนินการอย่างเข้มข้น ซึ่งกรมควบคุมโรคติดตามสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสอีโบลาในต่างประเทศมาอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่มีรายงานผู้ป่วยในช่วงที่ผ่านมา และเตรียมพร้อมทั้งการเฝ้าระวังป้องกันโรค ซึ่งขณะนี้ในประเทศไทยไม่มีรายงานผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัส อีโบลาแต่อย่างใด และยกระดับมาตรการที่ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิ ดังนี้

1. ตรวจคัดกรองผู้ที่เดินทางมาจากประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกทุกราย โดยการตรวจวัดและลงบันทึกอุณหภูมิ พร้อมให้แจ้งที่อยู่ที่ชัดเจนในประเทศไทย หมายเลขโทรศัพท์ วันเดือนปีสุดท้ายที่ออกจากประเทศคองโก   

2. ผู้ที่เดินทางมาจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก ภายใน 21 วัน ให้เขียนใบรายงานตัว และปฏิบัติตัวตามบัตรเตือนสุขภาพ (Health beware card) พร้อมสังเกตอาการตนเอง 

3. ผู้ที่เดินทางมาจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก ภายใน 21 วัน เมื่อตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายแล้วมีอุณหภูมิ 38 องศาเซลเซียสขึ้นไป พร้อมกับมีไข้ ปวดศีรษะ เจ็บคอ ปวดกล้ามเนื้อ เหนื่อย เพลีย และมีประวัติสัมผัสกับผู้ป่วยหรือผู้สงสัยป่วยด้วยโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา ให้แจ้งหัวหน้าด่านฯ สุวรรณภูมิ เพื่อพิจารณาส่งต่อไปยังสถาบันบำราศนราดูร

4. กองโรคติดต่อทั่วไป จะประสานเจ้าหน้าที่ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ เพื่อติดตามข้อมูลการคัดกรอง ผู้เดินทางจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกทุกสัปดาห์ และทำการประเมินสถานการณ์โรค

5. ให้เจ้าหน้าที่ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ ถ่ายสำเนาหน้าพาสปอร์ตที่ประทับตราเข้า-ออกประเทศ ในผู้ที่เดินทางมาจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก ภายใน 21 วัน เพื่อความชัดเจนในการติดตามข้อมูลของทีมสอบสวนโรค

นายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้การเฝ้าระวังโรคติดต่ออันตรายในระดับพื้นที่ ทางกรมควบคุมโรคจะมีการให้ข้อมูลข่าวสารกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ ตลอดจนสื่อสารไปยังอาสาสมัครสาธารณสุขกรณีพบความผิดปกติ เช่น พบเห็นผู้ที่มาจากประเทศที่มีการระบาดของโรค แล้วมีอาการไม่สบาย เป็นไข้ ให้รีบแจ้งมาที่กรมควบคุมโรค เบอร์ 1422

“องค์การอนามัยโลก ยังไม่แนะนำให้จำกัดการเดินทางหรือการค้าระหว่างประเทศสำหรับผู้ที่จะเดินทางไปยังประเทศที่มีการระบาดของโรค ซึ่งได้ประเมินว่านักเดินทางระหว่างประเทศยังมีความเสี่ยงในระดับที่ต่ำมาก เนื่องจากผู้ที่ติดเชื้อส่วนใหญ่มีการติดเชื้อโดยตรงจากการสัมผัสกับของเหลวในร่างกาย หรือสารคัดหลั่งของผู้ป่วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโรงพยาบาล จากการใช้อุปกรณ์ทางการแพทย์ (เข็มและหลอดฉีดยา) ที่ปนเปื้อนเชื้อ รวมถึงไม่มีการป้องกันเมื่อมีการสัมผัสกับสารคัดหลั่งที่ติดเชื้อ” นายแพทย์โสภณ กล่าว

คำแนะนำสำหรับผู้ที่จะเดินทางจากประเทศไทยไปยังประเทศที่มีการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา เนื่องจากองค์การอนามัยโลก ยังไม่มีประกาศห้ามการเดินทางไปยังพื้นที่ที่มีการระบาด ผู้ที่จะเดินทางสามารถเดินทางไปได้ แต่ต้องปฏิบัติตามคำแนะนำ ได้แก่ 1) หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ป่า ทั้งที่ป่วยหรือไม่ป่วย  2) หลีกเลี่ยงการรับประทานสัตว์ป่าที่ป่วยตายโดยไม่ทราบสาเหตุ โดยเฉพาะสัตว์จำพวกลิง หรือค้างคาว หรืออาหารเมนูพิสดารที่ใช้สัตว์ป่าหรือสัตว์แปลกๆ มาประกอบอาหาร

 3) หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสารคัดหลั่ง เช่น เลือดจากผู้ป่วย สิ่งของเครื่องใช้ของผู้ป่วยที่อาจปนเปื้อนกับสารคัดหลั่งของผู้ป่วย หรือศพ  4) หลีกเลี่ยงการสัมผัสโดยตรงกับผู้ป่วย หากมีความจำเป็นให้สวมอุปกรณ์ป้องกันร่างกายและล้างมือบ่อยๆ  5) หากมีอาการเริ่มป่วย เช่น มีไข้สูง อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ เจ็บคอ อาเจียน ท้องเสีย ภายหลังกลับจากประเทศที่มีการระบาด ให้รีบพบแพทย์ทันที หากประชาชนมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422

ปรากฏว่าต่อมาเวลา 23.56น.ของวันเดียวกัน 
 กรมควบคุมโรค ได้อัปเดตข้อมูลใหม่ โดยระบุว่า องค์การอนามัยโลก ยังไม่ได้ประกาศให้อีโบลา
เป็นสถานการณ์ฉุกเฉินระหว่างประเทศ

โดยนายแพทย์ธเรศ กล่าวอัปเดตสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลาในประเทศทวีปแอฟริกาที่ เริ่มต้นในเดือนกันยายน 2565 โดยข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขประเทศยูกันดาและองค์การอนามัยโลก ณ วันที่ 24 ตุลาคม 2565 มีรายงานพบผู้ป่วยติดเชื้อในประเทศยูกันดาหลายเมือง จำนวน 90 ราย และมีผู้ป่วยเสียชีวิต 44 ราย อัตราป่วยตาย ร้อยละ 49 ในจำนวนนี้มีเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์และสาธารณสุขติดเชื้อ 11 ราย และเสียชีวิต 5 ราย ซึ่งการระบาดครั้งนี้เป็นการระบาดของไวรัสอีโบลาสายพันธุ์ซูดาน ซึ่งมีความรุนแรงเป็นอันดับสอง (อัตราป่วยตายเฉลี่ยร้อยละ 53) รองมาจากสายพันธุ์ซาอีร์ (อัตราป่วยตายเฉลี่ยร้อยละ 68) สำหรับการระบาดในครั้งนี้ ถึงแม้จำนวนผู้ป่วยยังไม่มากแต่เป็นที่จับตาอย่างใกล้ชิดโดยมีการยกระดับมาตรการป้องกันควบคุมการระบาดในประเทศยูกันดาอย่างเข้มข้น จากการตรวจสอบข่าวพบว่าองค์การอนามัยโลก ยังไม่ได้ประกาศ ให้การระบาดครั้งนี้ เป็นภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขระหว่างประเทศ (Public Health Emergency of International Concern: PHEIC) แต่ปกติจะมีการประเมินสถานการณ์ระบาดเป็นระยะ  
อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่เดือนกันยายน 2565 กรมควบคุมโรคได้ยกระดับมาตรการป้องกันที่ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ เนื่องจากโรคอีโบลาเป็นโรคติดต่ออันตราย ตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 โดยดำเนินการตรวจคัดกรองผู้เดินทางมาจากประเทศยูกันดา ทุกรายจะต้องได้รับการคัดกรองสุขภาพ และลงทะเบียน ณ ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศก่อนเข้าประเทศไทย ทั้งนี้หากประชาชนมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422