ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมควบคุมโรค กำชับหน่วยงานสังกัด สื่อสารความรู้การป้องกันโรคจากน้ำท่วม-หน้าฝน พบ 5 โรคป่วยสูงสุด ได้แก่ โรคไข้หวัดใหญ่ ปอดอักเสบ อาหารเป็นพิษ ไข้เลือดออก และ มือเท้าปาก

เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2567  นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค  กล่าวว่า ในช่วงสัปดาห์นี้เกิดร่องมรสุมพาดผ่านบริเวณภาคเหนือ โดยเฉพาะจังหวัดเชียงราย น่าน แพร่ และสุโขทัย ส่งผลให้จังหวัดดังกล่าวเกิดฝนตกชุก น้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลาก กรมควบคุมโรค จึงกำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กองระบาดวิทยา กองโรคติดต่อทั่วไป กองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน และสำนักงานป้องกันควบคุมโรคทั้ง 12 แห่งทั่วประเทศ ให้จัดเตรียมแผนเผชิญเหตุ เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์โรคและภัยสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นในช่วงน้ำท่วมโดยจัดทีมตระหนักรู้สถานการณ์ (SAT) ตรวจจับเหตุการณ์ที่อาจก่อให้เกิดอันตรายและส่งผลต่อสุขภาพ และเตรียมพร้อมสนับสนุนทีมเฝ้าระวังสอบสวนเคลื่อนที่เร็ว (SRRT) เข้าร่วมปฏิบัติงานกับหน่วยงานในพื้นที่ให้ทันต่อสถานการณ์ รวมถึงเร่งสื่อสารประชาสัมพันธ์ให้ข้อมูลความรู้ในการป้องกันโรคแก่ประชาชนในพื้นที่ประสบภัย 

“จากระบบการเฝ้าระวังโรค กองระบาดวิทยา ระหว่างวันที่ 1 มกราคม - 21 สิงหาคม 2567 พบโรคที่มีผู้ป่วยสูงสุด 5 ลำดับแรก ได้แก่ โรคไข้หวัดใหญ่ ปอดอักเสบ อาหารเป็นพิษ ไข้เลือดออก และ มือเท้าปาก ซึ่งเป็นโรคที่สำคัญและมีการแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่องทุกปี นอกจากนี้โรคอื่นๆ ที่มักพบผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้นในช่วงฤดูฝนหรือในช่วงที่มีเหตุการณ์น้ำท่วม ได้แก่ โรคเลปโตสไปโรสิสหรือโรคฉี่หนู (ผู้ป่วยสะสม 2,267 ราย เสียชีวิต 29 ราย) โรคเมลิออยโดสิส (ผู้ป่วยสะสม 2,210 ราย เสียชีวิต 65 ราย) และโรคตาแดง (ผู้ป่วย สะสม 72,775 ราย ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต)”  นพ.ธงชัย กล่าว

นพ.อภิชาต วชิรพันธ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า กรมควบคุมโรค ขอให้ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ประสบภัยและเสี่ยงน้ำท่วม ระมัดระวัง ติดตามข่าวสารจากทางราชการ และเตรียมความพร้อมอยู่เสมอ นอกจากโรคติดต่อที่พบได้บ่อยในช่วงน้ำท่วม ยังมีภัยสุขภาพอื่นที่ต้องระวัง เช่น แมลงหรือสัตว์มีพิษกัดต่อย เช่น งู แมงป่อง ตะขาบ เป็นต้น รวมถึงอุบัติเหตุจากการขับขี่ยานพาหนะผ่านเส้นทางบริเวณน้ำไหลผ่าน การถูกกระแสน้ำพัด และการจมน้ำ  
             
นพ.อภิชาต ยังเน้นย้ำถึงวิธีป้องกันโรคและภัยสุขภาพจากเหตุการณ์ดังกล่าว ดังนี้ 1.ไม่ทิ้งขยะทุกชนิด หรือขับถ่ายของเสียลงน้ำ ให้ทิ้งขยะหรือสิ่งปฏิกูลในถุงพลาสติกและมัดปากถุงให้แน่นแล้ววางไว้ในที่แห้ง  2.ไม่ปล่อยให้เด็กเล็กลงเล่นน้ำโดยลำพัง เพราะเด็กอาจจมน้ำและช่วยเหลือไม่ทัน หรือถูกสัตว์มีพิษกัดต่อยได้  3.หากมีน้ำสกปรกกระเด็นเข้าตา ให้รีบล้างหน้าและดวงตาด้วยน้ำสะอาด  4.รับประทานอาหารที่ปรุงสุก ร้อน สะอาด  5.หากจำเป็นต้องเดินลุยน้ำย่ำโคลน ควรใส่รองเท้าบู๊ททุกครั้งและรีบทำความสะอาดร่างกายด้วยสบู่และน้ำสะอาดทันที และ  6.รักษาสุขอนามัยส่วนบุคคล หมั่นล้างมือบ่อยๆ และสวมใส่หน้ากากอนามัย เมื่ออยู่ในสถานที่แออัดหรือมีอาการป่วย เช่น ไอ จาม มีน้ำมูก เป็นต้น สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422