"หมอบัญญัติ" นำเครือข่ายตื่นรู้สู้ภัยสารเสพติดสุขภาพจิตภาคประชาชน เข้ายื่นหนังสือขอรัฐบาลจัดตั้ง "ศูนย์บำบัดสารเสพติดสุขภาพจิตชุมชน" ที่มีคุณภาพ ในทุกชุมชน ทุกท้องถิ่น ทั่วประเทศ โดยเร็ว  

เมื่อเวลา 14.20 น. วันที่ 17  ตุลาคม  ที่รัฐสภา นายณัฐกานต์ ชูชนะ เลขานุการคณะทำงานทางการเมืองของประธานสภาผู้แทนราษฎร  รับยื่นหนังสือจากนายดิเรก จอมทอง ประธานเครือข่ายตื่นรู้สู้ภัยสารเสพติดสุขภาพจิตภาคประชาชน และนางเยาวเรศ คำมะนาด  นายกสมาคมนักสังคมสงเคราะห์ทางการแพทย์ไทย ผู้แทนเครือข่ายสหวิชาชีพสุขภาพผู้รับผิดชอบบำบัดสารเสพติดสุขภาพจิต และเครือข่ายตื่นรู้สู้ภัยสารเสพติดสุขภาพจิตภาคประชาชน นำโดยนพ.บัญญัติ เจตจันทร์  ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะเลขานุการคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข เรื่อง ขอให้รัฐบาลพิจารณาจัดตั้ง "ศูนย์บำบัดสารเสพติดสุขภาพจิตชุมชน" ที่มีคุณภาพ ในทุกชุมชน ทุกท้องถิ่น ทั่วประเทศ โดยเร็ว  

สืบเนื่องจากปัญหาสุขภาพจิตจากสารเสพติด เป็นปัญหาที่ดำรงอยู่นาน ก่อให้เกิดความรุนแรงต่อตนเอง ครอบครัว และสังคม เป็นอย่างมาก อาทิ เหตุกราดยิงหนองบัวลำภู ซึ่งเป็นฝันร้ายของคนไทยทั้งประเทศ นอกจากนี้ ยังมีเหตุความรุนแรงรายวัน ปรากฎเป็นข่าวทั่วทุกภูมิภาค ผู้คนจำนวนไม่น้อยที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยทุกภาคส่วนในสังคมไม่ได้นิ่งดูดาย ต่างเร่งถอดบทเรียน เพื่อหาทางออกจากวิกฤตการณ์นี้ด้วยกัน 

รัฐบาลโดยท่านนายกรัฐมนตรี ได้ให้ความสำคัญต่อการแก้ปัญหานี้  โดยได้ยกระดับการบำบัดสารเสพติดสุขภาพจิตเป็นวาระแห่งชาติ จากข้อเท็จจริงในปัจจุบัน ระบบและกระบวนการบำบัดสารเสพติดและสุขภาพจิต ยังไม่มีประสิทธิภาพ ไม่ครบวงจร ไม่ครอบคลุมทุกชุมชนทั่วทั้งประเทศ ผู้ใช้สารเสพติดที่มีปัญหาสุขภาพจิต จำนวนมากไม่ได้เข้าสู่กระบวนการบำบัด ผู้เข้าสู่กระบวนบำบัดส่วนใหญ่ก็ไม่สามารถเลิกสารเสพติดได้อย่างแท้จริง มีอัตราการเสพซ้ำสูง มีการเลิกบำบัดกลางคันสูง 

ทั้งนี้ ระบบบำบัดยังไม่มีการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนเท่าที่ควร สถานที่บำบัดไม่ครบวงจร  สถานที่ไม่พร้อม บุคลากรไม่พร้อม ไม่มีระบบติดตามที่มีประสิทธิภาพ ไม่มีศูนย์บำบัดในชุมชนที่เป็นรูปธรรมและเข้าถึงได้ยาก ไม่สามารถรองรับผู้เข้ารับการบำบัดได้ทั้งหมด ไม่มีศูนย์บำบัดที่สามารถพักพิงทั้งระยะสั้น ระยะยาวที่สามารถใช้กระบวนการบำบัดตามหลักวิชาการได้อย่างเต็มรูปแบบ ตั้งแต่ขั้นตอนการบำบัด ถอนพิษสารเสพติด การบำบัดฟื้นฟู ชุมชนบำบัด การติดตามประเมินผลการบำบัด ตลอดจนการส่งต่อผู้เข้ารับการบำบัดอย่างไร้รอยต่อ 

นอกจากนั้น ยังขาดระบบคัดกรองผู้ใช้สารเสพติดอย่างทั่วถึงทุกพื้นที่ ผู้ใช้สารเสพติดที่มีปัญหาสุขภาพจิต จึงอยู่ปะปนในชุมชน  ในสภาพแวดล้อมที่มีการแพร่ระบาดของสารเสพติด เมื่อระบบและกระบวนการบำบัดขาดประสิทธิภาพ จึงทำให้สังคมมีความเสี่ยง ดังเช่นทุกวันนี้

 
จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลได้ดำเนินการจัดตั้งศูนย์บำบัดสารเสพติดสุขภาพจิตชุมชน ที่มีคุณภาพในทุกชุมชน ทุกท้องถิ่น ทั่วประเทศ โดยการบูรณาการอย่างมีส่วนร่วมกับชุมชน ภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและภาคประชาสังคม ในด้านกระบวนการบำบัด ที่สำคัญโรงพยาบาลในพื้นที่ ต้องได้รับการจัดตั้งกลุ่มงานจิตเวชและยาเสพติด ที่มีจำนวนเจ้าหน้าที่เพียงพอกับภาระงาน ได้แก่ แพทย์ จิตแพทย์ พยาบาล (ด้านจิตเวชยาเสพติด) นักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ นักวิชาการสาธารณสุข นักกิจกรรมบำบัด นักวิชาการคอมพิวเตอร์ เจ้าหน้าที่วิเคราะห์ เจ้าพนักงานบันทึกข้อมูล 

โดยเจ้าหน้าที่เหล่านี้ ต้องได้รับการส่งเสริมให้มีความเจริญก้าวหน้าในหน้าที่ราชการ มีขวัญกำลังใจที่ดี มีค่าตอบแทนที่เพียงพอ มีสวัสดิการค่าเสี่ยงภัย รวมทั้งประกันภัยให้ด้วย เนื่องจากต้องปฏิบัติงานในสภาพแวดล้อมที่มีความเสี่ยง โดยศูนย์บำบัดนี้ ผู้รับการบำบัดจะได้รับการสงเคราะห์และสวัสดิการทั้ง 7 ด้าน ได้แก่

1) ได้รับที่พักอาศัยที่ปลอดภัย

2) ได้รับการบำบัดสารเสพติด ฟื้นฟูสุขภาพจิต

3) ได้รับการฝึกอาชีพเพื่อจะได้หารายได้

4) ได้รับการศึกษาเพื่อการดำรงชีวิต

5) ได้รับความปลอดภัยจากกระบวนการยุติธรรม

6) มีพื้นที่สร้างสรรค์เพื่อกิจกรรมนันทนาการ

7) มีบริการทางสังคมต่างๆ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตเตรียมพร้อมกลับคืนสู่ครอบครัวและสังคม

ทั้งนี้ นายณัฐกานต์  กล่าวภายหลังรับหนังสือว่า จะนำเรื่องดังกล่าว กราบเรียนประธานสภาผู้แทนราษฎร  เพื่อโปรดพิจารณาดำเนินการต่อไป

 

(ข่าวเกี่ยวข้อง : สธ. เดินหน้างานบำบัดผู้ติดยาเสพติด ตั้งศูนย์คัดกรองถึงระดับตำบล )