“10 ต.ค. วันสุขภาพจิตโลก” สปสช. ร่วมรณรงค์ดูแลสุขภาพจิตคนไทย ปีงบประมาณ 2566 สนับสนุนให้บริการ “สายด่วนสุขภาพจิต 1323” สิทธิประโยชน์ใหม่สร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค เพิ่มช่องทางปรึกษาคลายปัญหาสุขภาพจิต ลดความเครียด และภาวะซึมเศร้า พร้อมจัดงบกว่า 73 ล้านบาท ดูแลผู้ป่วยจิตเวชเรื้อรังในชุมชนต่อเนื่อง เผยปี 2564 ดูแล 10,341 ราย
นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ภาวะความเจ็บป่วยทางด้านจิตใจจำเป็นต้องได้รับการักษาพยาบาลที่ไม่ต่างจากความเจ็บป่วยทางกาย โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคจิตเวช เพื่อดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้ให้เข้าถึงการรักษาและได้รับการติดตามดูแลอย่างต่อเนื่อง ภายใต้ “กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” หรือ “กองทุนบัตรทอง 30 บาท” นอกจากสิทธิประโยชน์ที่ครอบคลุมการรักษาผู้ป่วยจิตเวชในโรงพยาบาลทั้งกรณีผู้ป่วยในและผู้ป่วยนอกแล้ว ในปี 2559 สปสช. ได้มีการจัดสรรงบประมาณที่แยกออกจากงบเหมาจ่ายรายหัว จำนวน 49 ล้านบาท ในการสนับสนุนการดำเนินการเชิงรุกเพื่อให้ผู้ป่วยจิตเวชเรื้อรังที่มีสิทธิบัตรทอง 30 บาท ให้ได้รับบริการรักษา ติดตามเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่องในชุมชน เพื่อลดอาการกำเริบหรือกลับมาเป็นซ้ำ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยร่วมกับกรมสุขภาพจิต และภาคีเครือข่ายโรงพยาบาลที่เกี่ยวข้อง
จากผลดำเนินการอย่างต่อเนื่องนี้ ที่ผ่านมาได้ช่วยให้ผู้ป่วยจิตเวชเรื้อรังในชุมชนได้รับการดูแลเพิ่มมากขึ้น โดยในปี 2564 มีผู้ป่วยจิตเวชเรื้อรังในชุมชนทั่วประเทศได้รับการดูแลจำนวน 10,341 คน เพิ่มขึ้นจากปี 2559 ที่เป็นปีเริ่มต้นอยู่ที่จำนวน 8,300 ราย และในปีงบประมาณ 2566 นี้ คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) โดยมีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานได้ให้ความสำคัญต่อผู้ป่วยกลุ่มนี้จัดสรรงบประมาณบริการเพิ่มเติมเป็นจำนวน 73.62 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ร้อยละ 19.92
นพ.จเด็จ กล่าวต่อว่า จากสภาวะแวดล้อมปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม เทคโนโลยี และในด้านต่างๆ ส่งผลต่อความเป็นอยู่ และทำให้คนส่วนหนึ่งไม่สามารถเผชิญและปรับตัวได้ทัน กระทบต่อสภาวะจิตใจที่อาจทำให้เกิดปัญหาสุขภาพจิตตามมาได้ ดังนั้นเพื่อให้สามารถเข้าถึงบริการปรึกษาปัญหาสุขภาพจิตที่สะดวกและรวดเร็ว ในปีงบประมาณ 2566 สปสช. ได้สนับสนุนกรมสุขภาพจิตในการจัดบริการ “สายด่วนสุขภาพจิต 1323” ผ่านทางโทรศัพท์ซึ่งเป็นสิทธิประโยชน์ใหม่ในบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคจากกองทุนบัตรทอง 30 บาท เพื่อดูแลคนไทยทุกสิทธิไม่จำกัดอายุ ครอบคลุมทั้งประชาชนทั่วไป กลุ่มเสี่ยง และผู้ป่วยทางจิตเวช ตั้งเป้าหมายบริการ 60,000 ราย
ทั้งนี้ การให้บริการจะดำเนินการโดยสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิตซึ่งเป็นหน่วยบริการในระบบบัตรทองที่มีศักยภาพให้บริการคำปรึกษาด้านสุขภาพจิตทางโทรศัพท์ตามมาตรฐานที่กรมสุขภาพจิตกำหนด ซึ่งจะให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจิตทางโทรศัพท์ตลอด 24 ชั่วโมง สำหรับผู้มีปัญหาสุขภาพจิต มีความเครียด อยู่ในภาวะซึมเศร้า หรือมีพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อทำร้ายตัวเอง หรือผู้อื่น ครอบคลุมทั้งการประเมินอาการและความรุนแรง การให้คำปรึกษา การประสานส่งต่อรักษา และติดตามอาการหลังให้บริการ โดยจะมีนักจิตวิทยาหรือผู้ที่ได้ผ่านการฝึกอบรมตามมาตรฐานการประกอบวิชาชีพตามมาตรฐานการให้บริการของกรมสุขภาพจิต เป็นผู้ให้คำปรึกษา
“ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติไม่ได้มีเพียงสิทธิประโยชน์สุขภาพทางกายเท่านั้น แต่ได้ตระหนักถึงการดูแลที่ต้องครอบคลุมถึงสุขภาพจิตของประชาชนด้วย ทุกวันที่ 10 ตุลาคมของทุกปี ตามที่องค์การอนามัยโลกกำหนดให้เป็น “วันสุขภาพจิตโลก” มีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อให้ทั่วโลกร่วมตระหนักต่อปัญหาสุขภาพจิตและในปี 2565 เป็นการรณรงค์ภายใต้คำขวัญ "วัดใจ เติมพลัง สังคมมีสุข" ที่ผ่านมา สปสช. ให้ความสำคัญต่อการดูแลสุขภาพจิตมาอย่างต่อเนื่องและขอร่วมรณรงค์ในครั้งนี้ เพื่อให้คนไทยร่วมกันดูแลสุขภาพจิตของตนเองและคนรอบข้าง นำไปสู่คุณภาพชีวิตและสังคมที่ดี” เลขาธิการ สปสช. กล่าว
สอบถามเพิ่มเติมได้ที่
1.สายด่วน สปสช. 1330
2.ช่องทางออนไลน์
• ไลน์ สปสช. พิมพ์ไลน์ไอดี @nhso หรือคลิก https://lin.ee/zzn3pU6
• Facebook : สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ https://www.facebook.com/NHSO.Thailand
- 411 views