กรมสุขภาพจิตเผยติดตามดูแลสภาพจิตใจผู้ได้รับผลกระทบ เหตุความรุนแรงหนองบัวลำภู ตั้งแต่ช่วงแรก พร้อมติดตามเป็นระยะ 2 สัปดาห์ขึ้นไป เหตุเป็นช่วงความเศร้าโศกจะปรากฎเพิ่มขึ้น พร้อมลงพื้นที่ดูแลรายบุคคลติดต่อกัน 3 เดือน หรือมากกว่านั้นจนกว่าจะฟื้นฟูได้ ด้านอธิบดีกรมจิตฯ ขอหลีกเลี่ยงใช้คำว่า “กราดยิง..” และไม่อยากให้ “หนองบัวลำภู” อยู่กับชื่อที่เจ็บปวดตลอด ขอให้ปรับเป็นเหตุการณ์ความรุนแรงเมื่อวันที่ 6 ต.ค.65
เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม ที่กระทรวงสาธารณสุข พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวถึงการดูแลจิตใจผู้ได้รับผลกระทบในเหตุการณ์ความรุนแรงที่จ.หนองบัวลำภู ว่า สำหรับการช่วยเหลือในเรื่องการปฐมพยาบาลสภาพจิตใจเบื้องต้น เรายังได้วางแผนดำเนินการ 3 ระยะ ดังนี้ 1.ระยะเข้าไปดูแลครอบครัวทันทีภายใน 3 วันแรก ซึ่งทั้ง 37 ครอบครัวได้ลงไปดูแลแล้ว และจะลงไปดูแลรายบุคคลให้ครบทั้ง 37 ครอบครัวภายใน 2 สัปดาห์
2.ดูแลในระยะ 2 สัปดาห์เป็นต้นไป เนื่องจากในแง่มุมจิตใจจะเริ่มมีแผลใจ มีความเจ็บปวด มีความทุกข์ปรากฎมากขึ้นในระยะ 2 สัปดาห์ จากความเศร้าโศกที่วุ่นและยุ่งเหยิน จะกลายเป็นเศร้าโศกอย่างโดดเดี่ยว
“ดังนั้น ใน 2 สัปดาห์เป็นต้นไป ทางทีม MCATT จะอยู่ในพื้นที่ตลอด เราจะมีศูนย์เยียวยาในชุมชน จะกระจายติดตั้งให้ช่วยเหลือได้ง่ายที่สุด และจะมีกลไกทำงานเชิงรุก เดินไปเยี่ยมบ้าน และ 3. ระยะการดูแลต่อเนื่องอย่างน้อย 3 เดือนขึ้นไปหรือมากกว่านั้น โดยจะทำความเข้าใจกับพื้นที่ให้สามารถปรับตัวและร่วมดูแล โดยรายที่มีปัญหาสำคัญต้องส่งต่อและดูแลต่อเนื่อง”
จากเหตุการณ์ดังกล่าว วันแรกๆ มีผู้รับผลกระทบทางตรง 170 คน แต่เมื่อสถานการณ์คลายตัวเยอะจึงเหลือหลักสิบกว่าคน มีบางรายที่ยังเสียใจมาก และไม่สามารถปรับตัวได้ จนอยากทำร้ายตัวเอง ซึ่งกลุ่มนี้ได้รับการดูแลแล้ว จากนั้นมีกลุ่มที่กินไม่ได้นอนไม่หลับ มีปัญหาสุขภาพกายเพิ่มขึ้นอีก 10 ราย ทั้งนี้ บางรายเริ่มเกิดภาวะPTSD (Post-traumatic stress disorder) ฝันร้าย เกิดภาพติดตา คิดวนเวียน นอนไม่หลับ บางรายเกิดความขัดแย้งในครอบครัว จากความสูญเสีย แต่ทุกรายได้เจอจิตแพทย์แล้ว
อย่างไรก็ตาม สำหรับการดูแลผู้ได้รับผลกระทบที่ต้องดูแลแบ่งเป็น 1. ผู้รับผลกระทบโดยตรง ซึ่งมีเยาวชนต่ำกว่า 18 ปีอยู่ 60 คน และ 2.กลุ่มที่ไม่ใช่ญาติสายตรงของผู้บาดเจ็บหรือผู้เสียชีวิต แต่อยู่ในตำบลอุทัยสวรรค์มีอยู่ 6,500 คน และเด็กใน 2 โรงเรียนที่อยู่ในที่เกิดเหตุอีก 129 และ 3.กลุ่มที่ได้รับข่าวสารทั้งภายในจังหวัดและในประเทศ สำหรับกรณีที่มีการหวาดกลัวไม่กล้าให้ลูกหลานไปเรียนนั้น อาจจะต้องมีการยืดหยุ่น ครูก็ทำความเข้าใจ อาจจะหยุดเรียนไปสักระยะ แล้วทำกิจกรรมในสังคมอย่างอื่นแทน ทั้งนี้กรมฯ จะเข้าไปทำความเข้าใจกับครูทั้งจังหวัดด้วย
**เมื่อถามว่าขณะนี้ในพื้นที่มีการต่อว่า ขับไล่แม่ผู้ก่อเหตุ กรณีเช่นนี้ต้องมีการดูแลอย่างไร.. พญ.อัมพร กล่าวว่า โดยหลักการสำคัญทั้งคุณแม่ผู้ก่อเหตุ หรือครอบครัวผู้ก่อเหตุถือเป็นกลุ่มเสี่ยงสูงในเรื่องสภาพจิตใจ ซึ่งทีมได้เข้าไปดูแลตั้งแต่แรกเริ่ม และเฝ้าระวังปัญหาจิตใจ สภาพแวดล้อม และเตรียมทางเลือกให้ครอบครัวปรับตัวและก้าวข้ามไปได้ ซึ่งไม่มีใครต้องการให้ครอบครัวเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น อย่างไรก็ตาม จริงๆ การแยกออกจากสิ่งแวดล้อม ณ ขณะนั้นก่อน จะเป็นประโยชน์มาก เพราะช่วงแรกๆ จะส่งผลต่อครอบครัวนั้น
**ผู้สื่อข่าวถามว่า สังคม คนรอบข้างผู้สูญเสีย จะมีวิธีการช่วยเหลือ ประคับประคองให้ผู้ประสบเหตุผ่านช่วงเวลานี้ไปได้อย่างไร พญ.อัมพร กล่าวว่า ต้องประคับประคองจิตใจให้เป็น การปรอบโยนให้เป็น การใส่ใจอารมณ์ แต่ไม่ขุดคุ้ยขยี้ถาม ใส่ใจอารมณ์ และจากนี้การเสนอความช่วยเหลือ การดึงประโยชน์ของชีวิตที่จะเดินหน้าต่อไปให้ได้ การมีเวลาร่วมกันในการทำกิจกรรมประเพณีร่วมกันก็จะช่วยประคับประคอง และหล่อหลอมจิตใจร่วมกันได้ รวมถึงผู้ใหญ่ต่างๆ ลงไปเยี่ยมเยียนก็ช่วยสภาพจิตใจได้
อย่างไรก็ตาม ในช่วงนี้สิ่งที่อาจจะเจอได้ในผู้สูญเสีย เนื่องจากมีพิธีการ มีงานศพ คนมารวมตัวกัน อาจจะเจอภาวะหายใจหอบถี่ เหนื่อย คนที่อยู่ใกล้ชิดสามารถช่วยให้ผู้สูญเสียตั้งหลัก หายใจลึกๆ หรือใช้กระดาษ A4 ทำเป็นกรวยครอบไว้สักพัก เพื่อให้หายใจช้าลง แล้วอาการจะค่อยๆ ดีขึ้น ๆ หรือบางคนอาจจะมีภาวะถดถอยทางจิตใจ อาจจะมีพฤติกรรมกรีดร้อง หรือมีท่าทีคล้ายกับผู้ที่จากไป ซึ่งจะโน้มนำให้เกิดอุปทานหมู่ได้ ขออย่ามุงดู แต่ให้ประคองผู้มีอาการออกมาให้อยู่ที่สงบ แล้วอาการจะดีขึ้น
**เมื่อถามว่า เนื่องจากมีเหตุการณ์กราดยิงเกิดหลายครั้ง เวลาใกล้กัน จึงกังวลว่าจะเป็นการลอกเลียนแบบหรือไม่ พญ.อัมพร กล่าวว่า จากการที่เราคาดการณ์ได้ทั่วโลก และประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พื้นฐานเดิมก่อนที่จะมีการระบาดของโรคโควิด -19 จะพบเรื่องความก้าวร้าวรุนแรง เรื่องความเครียดของสังคมมีมากขึ้นเรื่อยๆ แต่มีเจอการระบาดของโรคโควิดมา 2 ปีกว่า เห็นได้ชัดว่าแนวโน้มเรื่องนี้จะเกิดขึ้น ซึ่งมีการเฝ้าระวังกันอยู่ และเราก็หวังว่าเราจะสามารถป้องกัน หรือหยุดมันให้ได้มากที่สุด
ทั้งนี้ สิ่งที่เห็นได้เสมอในเหตุการณ์ความรุนแรง พบว่า 1. มีเรื่องสารเสพติด 2. เรื่องอาวุธ และ 3.ปฏิเสธไม่ได้คือเรื่องของสุขภาพจิต จะเป็นตัวที่เชื่อมโยง 2 ปัญหาแรก เข้าถึงกันจึงเกิดเป็นปรากฏการณ์ความรุนแรง ดังนั้นเราต้องขอความร่วมมือจากพี่น้องสื่อมวลชน เพื่อเป็นการป้องกันการเลียนแบบ
จึงขอให้หลีกเลี่ยงการใช้คำว่า “กราดยิง” รวมถึงการพูดถึงเหตุการณ์นี้ ในระยะนี้อาจอ้างอิงว่า “เหตุการณ์ความรุนแรงที่จังหวัดหนองบัวลำภู” แต่อีกสักระยะหนึ่ง เราไม่อยากให้หนองบัวลำภูอยู่กับชื่อนี้และเจ็บปวดไปตลอด จึงค่อยๆ ปรับคำนี้ว่าเป็น “เหตุการณ์ความรุนแรงเมื่อวันที่ ...”
เรื่องความรุนแรงที่เกิดขึ้นวันนี้ สิ่งที่ต้องป้องปรามให้มากที่สุด ไม่ว่าจะเกี่ยวข้องกับคดีนี้หรือไม่ก็ตาม คือเรื่องยาเสพติด ตอนนี้หลายพื้นที่ตื่นตัว และลงไปเอ็กซเรย์แต่ละชุมชนว่ามีผู้ติดยาเสพติดมากน้อยแค่ไหน 2.ผู้ป่วยจิตเวช ซึ่งในการระบาดของโรคโควิด – 19 มีปัญหาการขาดยาได้ง่าย และมีข้อจำกัดในการรักษา 3. ปัญหาความสัมพันธ์ ที่มักเป็นฟางเส้นสุดท้าย ต้องสร้างความเข้าใจ และปรับตัวได้ของทุกกลุ่ม ดังนั้นกลไกทางจิตเวชต้องเข้าไปช่วยทุกกลุ่ม
ข่าวเกี่ยวข้อง :
- “อนุทิน” แจงดรามาปมกราดยิงหนองบัวลำภู มีคนไม่อยู่หน้างานมัวจับผิดการชันสูตร-เยียวยาจิตใจ
- สธ.เผยอาการผู้บาดเจ็บเหตุกราดยิงหนองบัวลำภู 7 รายนอนรักษาตัว ขณะนี้ทุกรายปลอดภัย
- 251 views