พรุ่งนี้แล้ว! 1 ต.ค. 65 (ปีงบประมาณ 66) รพ.สต.จำนวน 3,264 แห่ง ต้องถ่ายโอนไป อบจ. ทั้งหมด ด้านสธ.เตรียมตั้งคณะทำงานส่วนกลางติดตามหลังการถ่ายโอน รพ.สต.ไปอบจ. ดูแลช่วงเปลี่ยนผ่าน 1 ต.ค. 65  ยืนยันประชาชนไม่ได้รับผลกระทบในการดูแล

ภายหลังเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ออกประกาศคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เรื่อง หลักเกณฑ์และขั้นตอนการถ่ายโอนภารกิจสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินี และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลให้แก่องค์การบริหารส่วนจังหวัด  มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 19 ต.ค. 64 นั้น

ที่ผ่านเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในแวดวงสาธารณสุขหลาย ๆ คนเกิดการตั้งคำถามและมีข้อสงสัยในหลายประเด็น อย่างเช่น ท้องถิ่นขนาดเล็กอย่าง อบต. พร้อมแค่ไหนกับการดูแลประชาชนด้านสาธารณสุข? , ถ้าหากตัดสินใจถ่ายโอนไปแล้ว มีข้อดีข้อเสียอย่างไรบ้าง? หรือมีข้อคำถามต่างๆอีกมากมายที่ยังคงมีมาเรื่อยๆ ก็ตาม

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 20 ก.ย. 65 นายเลอพงศ์ ลิ้มรัตน์ ประธานคณะอนุกรรมการบริหารภารกิจถ่ายโอนด้านสาธารณสุขให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เผย กรณีทันตาภิบาลกังวลว่าถ่ายโอนไปแล้วจะทำฟันโดยไม่มีทันตแพทย์ควบคุมได้อย่างไร... ว่า ในส่วนเรื่องทันตาภิบาล กรณีที่ 1 เราใช้หลักการเดิมคือกระทรวงสาธารณสุขต้องร่วมมือกับองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ในการที่จะจัดทันตแพทย์เข้ามาหมุนเวียน กรณีที่ 2 ในส่วนของ รพ.สต. ขนาดใหญ่ บางแห่งนั้นอาจจะมีทันตแพทย์อยู่แล้ว ซึ่งจะเป็นอำนาจการบริหารงานของ อบจ. ว่าสามารถหมุนเวียนการบริการทันตกรรมไปตามรพ.สต. ที่รับถ่ายโอนมาได้เช่นกัน

ทั้งนี้ ล่าสุดจำนวน รพ.สต. ที่ถ่ายโอนมี 3,264 แห่ง บุคลากรที่เป็นข้าราชการมี 11,911 คน และพนักงานกระทรวงสาธารณสุขและลูกจ้าง 9,868 คน โดยทั้งหมดพร้อมจะถ่ายโอนในวันที่ 1 ตุลาคม 2565 ที่จะถึงนี้แน่นอน นายเลอพงศ์ กล่าว.

 

ขณะที่ วันที่ 26 ก.ย. 65 นพ.สุระ วิเศษศักดิ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวถึงการถ่ายโอนภารกิจฯ ว่า กระทรวงสาธารณสุขเห็นด้วยกับหลักการการกระจายอำนาจ และมีการเตรียมความพร้อมในการถ่ายโอนภารกิจสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินี (สอน.) และ รพ.สต.ใน 49 จังหวัด ไปยัง อบจ. ตามมติเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2565 และวันที่ 26 กรกฎาคม 2565 โดยมี สอน.และ รพ.สต.ที่จะถ่ายโอนจำนวน 3,264 แห่ง บุคลากรรวม 21,829 ราย ประกอบด้วย ข้าราชการ 11,992 ราย และประเภทการจ้างงานอื่น 9,837 ราย แบ่งเป็น สายงานบริการทางการแพทย์ 13,034 ราย คิดเป็น 59.7% ของบุคลากรที่ประสงค์ถ่ายโอนทั้งหมด สายสนับสนุนวิชาชีพและสายสนับสนุนงานบริหาร 8,795 ราย คิดเป็น 40.3% โดย ครม.ยังอนุมัติงบประมาณเพื่อสนับสนุนการถ่ายโอนรวม 5,932 ล้านบาท

ทั้งนี้ รพ.สต.ที่ประสงค์ถ่ายโอนจำนวน 3,264 แห่ง คิดเป็น 47.5% จาก รพ.สต.ทั้งหมด 6,872 แห่งใน 49 จังหวัด และคิดเป็น 33.39% ของ รพ.สต. 9,775 แห่งทั้งประเทศ โดยมี รพ.สต.ที่โอนย้ายบุคลากรและเจ้าหน้าที่ไปทั้งหมดกว่า 75% โอนย้ายบุคลากรมากกว่าครึ่งหนึ่ง 21% โอนย้ายบุคลากรน้อยกว่าครึ่งหนึ่ง ประมาณ 2.4% และไม่มีบุคลากรสมัครใจโอนย้าย ประมาณ 1.13% ซึ่งหากบุคลากรมีข้อติดขัดหรือไม่พร้อมที่จะถ่ายโอน กระทรวงสาธารณสุขจะยังให้การดูแลตามเดิม โดยหลังจากมีการถ่ายโอน รพ.สต.ไปแล้ว งบประมาณต่าง ๆ จะอยู่ภายใต้การบริหารจัดการของ อบจ.ทั้งหมด นพ.สุระ กล่าว.

 

ข่าวเกี่ยวข้อง 

สธ.ตั้งทีมติดตามช่วงเปลี่ยนผ่านการถ่ายโอนไป อบจ. โดยเฉพาะข้อห่วงใยกรณีจ้างงานกว่า 9 พันคน

อัปเดต! ข้อมูลจำนวน รพ.สต. - บุคลากร ที่พร้อมถ่ายโอนไป อบจ. 1 ต.ค. 65 นี้!