กระทรวงสาธารณสุข ตั้งทีมติดตามกระบวนการถ่ายโอน รพ.สต. 3,264 แห่ง ไปสังกัด อบจ. โดยเฉพาะเรื่องการจ้างงานช่วงเปลี่ยนผ่าน เผย พนักงานกระทรวงฯ และจ้างเหมารวมกว่า 9 พันคน ยังต้องรอหลักเกณฑ์การจ้างจาก อบจ. ก่อน แต่จะดูแลให้ประชาชนยังคงได้รับบริการสุขภาพเหมือนเดิม หากไม่ได้รับความสะดวกให้แจ้งสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด
วันนี้ (27 กันยายน 2565) นพ.สุระ วิเศษศักดิ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การถ่ายโอนภารกิจสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินี (สอน.) และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) จำนวน 3,264 แห่ง บุคลากรรวม 21,879 คน ให้แก่องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ใน 49 จังหวัด ตามมติคณะรัฐมนตรี ที่จะเริ่มขึ้นในวันที่ 1 ตุลาคม 2565 นั้น กระทรวงสาธารณสุขมีคณะทำงานดำเนินการร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย อย่างใกล้ชิด ทั้งด้านบุคลากร ทรัพย์สิน และงบประมาณ เพื่อให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและสอดคล้องกับกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
โดยบุคลากรที่จะต้องโอนย้ายไปสังกัด อบจ. แยกตามประเภทการจ้างงาน พบว่า เป็นข้าราชการ 11,552 คน พนักงานกระทรวงสาธารณสุข 4,751 คน จ้างเหมาบริการ 4,443 คน ลูกจ้างชั่วคราว 408 คน ลูกจ้างประจำ 23 คน และพนักงานราชการ 8 คน ซึ่งในส่วนของพนักงานกระทรวงสาธารณสุข จ้างเหมาบริการ และลูกจ้างชั่วคราว รวมกว่า 9 พันคน เมื่อมีการถ่ายโอนภารกิจแล้วกระทรวงสาธารณสุขจะไม่สามารถจ้างงานต่อได้ เนื่องจากจะขัดกับระเบียบงบประมาณ จึงต้องรอหลักเกณฑ์ของ อบจ. ในการจ้างงานกลุ่มนี้
นพ.สุระกล่าวต่อว่า ในช่วงเปลี่ยนผ่านการถ่ายโอนภารกิจ กระทรวงสาธารณสุขได้จัดตั้งคณะทำงานเพื่อติดตามกระบวนการในการถ่ายโอนทั้งด้านบุคลากร ทรัพย์สิน และภารกิจการบริการ โดยเฉพาะกรณีการจ้างงานบุคลากรกว่า 9 พันคนที่ยังอยู่ระหว่างดำเนินการ กระทรวงสาธารณสุขจะประสานกับทางองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน เพื่อไม่ให้กระทบกับการให้บริการประชาชน ส่วนกรณีบุคลากรที่ไม่ประสงค์ถ่ายโอน จะมีหนังสือแจ้งหน่วยงานเกี่ยวกับขั้นตอนการดำเนินงาน โดยจังหวัดที่มีบุคลากรไม่ประสงค์ถ่ายโอนขอให้แสดงความจำนงเลือกหน่วยงานเพื่อไปปฏิบัติงาน เมื่อสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลแล้ว จะเสนอ อ.ก.พ.สป. และ อ.ก.พ.กระทรวง พิจารณาเกลี่ยอัตรากำลังไปยังหน่วยงานอื่นตามความประสงค์ และจัดทำคำสั่งย้ายบุคลากรต่อไป
“ยืนยันว่า หลังการถ่ายโอน สอน.และ รพ.สต. 3,264 แห่งให้แก่ อบจ.ทั้ง 49 แห่งแล้ว ยังต้องมีการจัดบริการสุขภาพให้แก่ประชาชนทั้ง 5 มิติ คือ รักษาพยาบาลเบื้องต้น ส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันควบคุมโรค ฟื้นฟูสมรรถภาพ และการคุ้มครองผู้บริโภค โดยจะมีการขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการปฐมภูมิ ซึ่งในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ หากประชาชนไม่ได้รับความสะดวกในการรับบริการ สามารถแจ้งต่อสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนั้นๆ ได้” นพ.สุระกล่าว
อ่านข่าวเกี่ยวข้อง
สธ.เตรียมตั้งคณะทำงานส่วนกลาง มอนิเตอร์หลังการถ่ายโอน รพ.สต.ไปอบจ. ดูแลช่วงเปลี่ยนผ่าน 1 ต.ค.65
- 3549 views