สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) พร้อมคณะ ลงพื้นที่ “จ.พังงา” พื้นที่รูปธรรมการในการใช้กระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน “ออกแบบอนาคตของตัวเอง” ผ่านกระบวนการ “สมัชชาพังงาแห่งความสุข” ที่ช่วยเปิดพื้นที่กลางเคลียร์ข้อพิพาท ลดบรรยากาศการเผชิญหน้ากับภาครัฐ และสร้างอำนาจการต่อรองให้ประชาชน
เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2565 สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) โดยมี นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ พร้อมคณะ ลงพื้นที่จังหวัดพังงา ร่วมเวทีเสวนาเรื่อง “เขียนกติกาชุมชน เขียนนโยบายประชาชน เขียนอนาคตของตัวเอง” เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ถึงแนวทางการจัดการตนเอง ตลอดจนการสร้างความเข้มแข็งของชาวพังงาผ่านกระบวนการ “สมัชชาพังงาแห่งความสุข” ที่ช่วยเปิดพื้นที่กลางเคลียร์ข้อพิพาท ลดบรรยากาศการเผชิญหน้ากับภาครัฐ และสร้างอำนาจการต่อรองให้ประชาชน
นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า จ.พังงา เป็นพื้นที่รูปธรรมที่แสดงให้เห็นถึงความเข้มแข็งของเครือข่ายภาคประชาชนที่ลุกขึ้นมากำหนดนโยบายและออกแบบทิศทางการพัฒนาของจังหวัด โดยมีการพัฒนาต่อยอดกลไกและเครื่องมือจากทุกภาคส่วน จนสามารถสร้างเครื่องมือที่เป็นแบบฉบับของตัวเองขึ้นมา นั่นก็คือ “สมัชชาพังงาแห่งความสุข” และมีการวางจังหวะขับเคลื่อนงานที่เกิดจากฉันทมติในสมัชชาพังงาแห่งความสุขจนเกิดเป็นรูปธรรม
นพ.ประทีป กล่าวว่า ในส่วนของ สช. ในฐานะองค์กรสานพลังที่จัดตั้งขึ้นภายใต้ พ.ร.บ. สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๐ มีเครื่องมือการทำงานเพื่อสร้างสมดุลการพัฒนา คลี่คลายความขัดแย้ง ที่ทุกภาคส่วนสามารถหยิบยกไปประยุกต์ใช้ให้สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ได้ โดยเครื่องมือเหล่านั้น ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการสมัชชาสุขภาพ ธรรมนูญสุขภาพ การประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ (HIA) ฯลฯ ได้ผ่านการพิสูจน์แล้วว่ามีประสิทธิภาพในการแสวงหาความร่วมมือในบรรยากาศกัลยาณมิตรได้อย่างแท้จริง
นายไมตรี จงไกรจักร์ ผู้จัดการมูลนิธิชุมชนไท กล่าวว่า ในอดีต จ.พังงา มีปัญหาหลากหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่ดิน ยาเสพติด สุขภาพ หนี้สินครัวเรือน ฯลฯ โดยขณะนั้นภาคประชาสังคมที่เข้ามาทำงานในพื้นที่ จ.พังงา มีความสัมพันธ์ระหว่างกันที่ดี แต่การทำงานกลับยังแยกส่วนต่างคนต่างทำ ขาดระบบการเชื่อมโยงที่ชัดเจน ที่สำคัญคือไม่ได้ทำงานโดยใช้โจทย์จากพื้นที่เป็นตัวตั้ง สุดท้ายแล้วก็ไม่เกิดความยั่งยืน
จุดเปลี่ยนที่สำคัญคือในปี 53 มีการขัดแย้งทางการเมือง ทะเลาะกันในเรื่องการเมือง จะทำอย่างไรต่อกับชีวิต ซึ่งก่อนหน้านั้นประชาชนในจังหวัดพังงาก็ต่างคนต่างทำ นอกจากนี้ยังเป็นเรื่อง "สึนามิ" ที่ทำให้เห็นคนในพังงามากขึ้น ซึ่งปี 53 ทำให้เกิดสมัชชาปฏิรูปรูบขึ้น เรามีการพูดคุยการปฏิรูปในระดับจังหวัดก่อนซึ่งตอนนั้นได้มีการคัดเลือก 2 จังหวัด คือ พังงาและสตูล ซึ่งประการแรกที่คิดคือทำยังไงให้คนหวังดีกับจังหวัด และจะทำอย่างไรให้คนยอมมานั่งพูดคุยโต๊ะเดียวกัน โดยชวนประชาชนที่อยากมีส่วนร่วมมาพูดคุยกันและต้องมีผู้ใหญ่เป็นคนกลางร่วมด้วย เป้าหมายการพูดคุยกันคือ ทำอย่างไรให้คนที่อยู่พังงามีความสุขระยะยาว...
นายไมตรี กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมา จ.พังงา มีเครื่องมือการทำงานและกลไกการทำงานที่หลากหลาย ซึ่ง จ.พังงา ก็ได้นำหลักการของทุกเครื่องมือและทุกกลไกมาประยุกต์ใช้ ไม่ว่าจะเป็นของสภาองค์กรชุมชน กองทุนสวัสดิการชุมชน รวมถึงเครื่องมือภายใต้ พ.ร.บ. สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๐ นั่นก็คือ “กระบวนการสมัชชาสุขภาพ” โดยมีการใช้กระบวนการสมัชชาฯ ในการรวบรวมคน เปิดพื้นที่กลางเพื่อถกแถลงและหาข้อสรุปร่วมกัน
“สิ่งเหล่านี้ทำให้เราเรียนรู้ว่า วิธีการต่อสู้ของภาคประชาชนไม่จำเป็นต้องประท้วงอย่างเดียว แต่เมื่อเรามีแนวทางที่เป็นความต้องการคนในพื้นที่ มีข้อมูล มีแผนที่ชัดเจน สุดท้ายผู้ว่าฯ ก็ให้การยอมรับแผนพัฒนาจังหวัด ซึ่งเป็นแผนงานที่คนพังงาร่วมกันวิเคราะห์และเสนอความต้องการของตน สู่การกำหนดทิศทางการพัฒนาบ้านเมืองที่ตนรัก ไม่ใช่แผนงานที่คิดจากข้าราชการที่ทำงานสนองตอบนโยบายที่ถูกกำหนดมาจากบุคคลภายนอก” นายไมตรี กล่าว
ด้านนางชาตรี มูลสาร ผู้อำนวยการสถาบันการเรียนรู้พังงาแห่งความสุข กล่าวว่า พวกเราทำงานมาเกือบ 30 ปี เรามีคำถามว่าจะทำยังไงให้ รมณีย์อยู่อย่างยั่งยืน ถ้าเกิดคนรุ่นหลังได้มาทำต่อ อยากให้ได้เรียนรู้และมีคุณภาพชีวิตที่ดี ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสวัสดิการ เรื่องอาชีพ ฯลฯ เรามองว่าจะทำอย่างไรให้ประชาชนชาวบ้านมีอาชีพเสริมหรือมีรายได้ในสิ่งที่ทำ และทำอย่างมีความสุขและสามารถส่งต่อเรื่องราวให้กับลูกหลานได้จริงๆ ภารกิจของเราวันนี้ คือเรื่องราวที่ชุมชนทำ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสวัสดิการ เรื่องราวมากมายอยู่ปะปนกันไปในแต่ละพื้นที่ ส่วนเรื่องการท่องเที่ยวแห่งการเรียนรู้เกิดจากที่เราได้ลงพื้นที่จัดประชุมและพูดคุยกันในแต่ละพื้นที่ โดยจัดเป็นทริปค้างคืน รวมถึงการศึกษาดูงานต่างๆ จึงทำให้เกิดไอเดียว่า ทำไมไม่ทำเป็นสถานที่ท่องเที่ยวหรือการเรียนรู้ด้วยเลย
อย่างไรก็ตาม การทำงานตรงนี้เราจะถามกลับไปว่า สุดท้ายแล้วเราต้องการอะไร เราต้องการความสุขเราต้องการความยั่งยืนหรือไม่ เราจะทำอย่างไรเราจะเปลี่ยนแปลงตัวเองอย่างไรเพื่อรับความรู้ในเรื่องใหม่ๆ เรามีการค้นหาที่จะทำหลักสูตรโดยการลงพื้นที่ในพื้นที่ต่างๆและเป็นพื้นที่ที่พร้อมในการทำความรู้ให้กับบุคคลทั่วไปได้เรียนรู้ด้วย
นางชาตรี มูลสาร กล่าวอีกว่า สำหรับสถาบันเรียนรู้การพัฒนาพังงาแห่งความสุข จัดตั้งขึ้นในปี ๒๕๖๓ ภายใต้การออกแบบการเรียนรู้ร่วมกับ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เพื่อเปิดพื้นที่การสื่อสารและถ่ายทอดกระบวนการพัฒนาการทำงานในพื้นที่ จ.พังงา โดยมีด้วยกัน ๖ หลักสูตร ได้แก่ ๑. รมณีย์ : จัดสรรทรัพย์ แบ่งปันสุข ๒. บ้านน้ำเค็ม : วางแผน ป้องกัน แก้ไข ภัยพิบัติด้วยชุมชน ๓. โคกเจริญ : สุขภาพดี วิถีโคกเจริญ ๔. รวมคนสร้างเมืองตามแนวคิดพังงาแห่งความสุข ๕. เกาะยาวน้อย : สู่ความสุขร่วมของคนในชุมชน ๖. มอแกลนทับตะวัน : เข้าใจพหุวัฒนธรรม สร้างสรรค์พลเมืองโลก ทุกวันนี้ยังเปิดให้บุคคลภายนอกเข้ามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ได้
ขณะที่ นางสาวภัทรกันยา ชูวงศ์ หัวหน้าสำนักงานจังหวัดพังงา กล่าวว่า ตนเองต้องสวมหมวก 2 คือ ใบที่ 1 ตนเองเป็นลูกหลานของคนพังงาโดยกำเนิด ใบที่ 2 ได้รับตำแหน่งเป็นหัวหน้าสำนักงานจังหวัดพังงา ในส่วนการท่องเที่ยวของพังงาเราจะแบ่งเป็น 2 ทาง คือ 1. การท่องเที่ยวระดับโลกที่เป็นภาคเอกชนมาลงทุน และ 2.การท่องเที่ยวชุมชน ซึ่งถ้าพูดถึงการท่องเที่ยวชุมชนนั้นเกิดจากอะไร? ต้องบอกได้ว่าเกิดจากชุมชนชุมชน แต่ละชุมชนต้องมีการจัดการตนเองให้ได้ หากจัดการตนเองไม่ได้จะไปต่อไม่ได้ อย่างเช่น “ชุมชนรมณีย์” ที่ตอนนี้สามารถจัดการตนเองได้ ซึ่งเมื่อ 10 ปีที่แล้วรมณีย์ไม่ได้เป็นแบบนี้
นอกจากนี้เรายังมีงบสนับสนุนให้ชาวบ้านได้ปลูกผักผลไม้แบบปลอดสารพิษด้วย ซึ่งสามารถนำมาทำเป็นอาหารเพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวได้ด้วย อีกอย่างเมื่อเกิดโควิด-19 เกิดผลกระทบต่อการท่องเที่ยวของจังหวัดพาอย่างมาก แต่ตอนนี้พังงาโดดเด่นในเรื่องของการท่องเที่ยว ชุมชน ที่ไม่ว่าจะไปที่ไหนก็สามารถหยิบจับมาเป็นรายได้ของชุมชนได้ทั้งนั้น ซึ่งเรื่องนี้จะไม่สามารถจัดการหรือดำเนินการคนเดียวได้ต้องเกิดการรวมกลุ่มเพื่อในการจัดการหรือการกำหนดยอดอุบายเพื่อชุมชน เราให้ประชาชนเป็นใหญ่ที่สุด ยอมรับเลยว่างบประมาณปี 100 กว่าล้านจะต้องถามภาคประชาชน คณะกรรมการทุกคณะกรรมการระดับจังหวัดต้องมีภาคประชาชนหรือผู้แทนประชาชนที่เข้าไปเป็นคณะทำงานด้วย
ถ้าถามว่า ทำตรงนี้จะยั่งยืนได้อย่างไร เรามองว่าการพัฒนาจะยั่งยืนก็ต่อเมื่อคนในพื้นที่ประชาชน ชุมชนร่วมกันและมองว่าการพัฒนาเป็นหน้าที่ของเราที่จะต้องำถ้าเมื่อไหร่ที่มองว่ารัฐมีหน้าที่จะต้องทำรัฐมีหน้าที่ต้องพัฒนาเมื่อนั้นความยั่งยืนจะไม่เกิดความยั่งยืน จะเกิดต่อไป ก็คือคนในพื้นที่ภาคประชาชนต้องเข้มแข็ง ทุกอย่างที่ประชาชนจะทำภาครัฐพร้อมจะเสริมในทุกเรื่องเพื่อจะทำให้เป็นอัตลักษณ์ของพังงาเพื่อให้พังงามีความยั่งยืน... นางสาวภัทรกันยา กล่าว.
- 140 views