จากความเชื่อที่ว่า คนที่สายตาสั้นแล้วอายุเพิ่มมากขึ้นจนเกิดสายตายาว ความสามารถในการมองเห็นจะกลับมาปกตินั้น พญ.อรอร ธงอินเนตร ตำแหน่งนายแพทย์ชำนาญการพิเศษ โรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์ (วัดไร่ขิง) กรมการแพทย์ กล่าวกับ Hfocus ว่า เรื่องนี้เป็นข้อมูลจริงเพียงบางส่วน โดยปกติสายตาสั้นคือเมื่อมีแสงผ่านเข้ามาในลูกตา โดยปกติจะมีการรวมแสงให้ภาพคมชัดสูงสุดเมื่อแสงตกที่จอประสาทตา คนไข้สายตาสั้นจะมีภาวะผิดปกติ ทำให้แสงตกก่อนถึงจุดโฟกัส จึงมองไกลไม่ชัดแต่มองใกล้ชัด เมื่ออายุเพิ่มขึ้นจะเกิดภาวะสายตายาวตามวัย จะทำให้ศักยภาพในการโฟกัสระยะใกล้ลดลง ซึ่งผู้ที่มีภาวะสายตาสั้นอยู่เดิม ในช่วงแรกสายตาสั้นที่ไม่เยอะมากจะถัวกับสายตายาวไปบางส่วน ทำให้ในช่วงอายุกว่า 40 ปี มีความสามารถในการมองเห็นระยะใกล้ เทียบกับคนที่ไม่เคยสายตาสั้นมาก่อนจะเริ่มมองระยะใกล้ได้ลำบาก แต่คนที่สายตาสั้นก็ยังเป็นอยู่ เมื่อมองไกลก็ยังไม่ชัดอยู่เหมือนเดิม ข้อมูลนี้จึงเป็นข้อมูลจริงเพียงบางส่วน คือ คนไข้สายตาสั้นยังสายตาสั้นอยู่ไม่หายไปไหน เคยมองไกลไม่ชัดก็ไม่ชัดเช่นเดิม แค่มีภาวะสายตายาวตามวัยช้ากว่าคนอื่นที่ไม่มีภาวะสายตาสั้น
"ภาวะสายตาสั้นคือการที่มีความผิดปกติ ไม่สมดุลกันในค่าความโค้งของกระจกตา เลนส์ตา ทำให้แสงตกที่หน้าจุดโฟกัส การผ่าตัดแก้ไขสายตาผิดปกติด้วยเลเซอร์หรือที่เรียกกันว่า เลสิค จะไปทำให้กระจกตาบางลง ค่าความโค้งกระจกตาลดลง เป็นการทำให้แสงขยับจุดโฟกัสไปตกที่จอประสาทตา ทำให้เราได้ภาพที่คมชัดเหมือนคนปกติที่ไม่มีภาวะสายตาสั้น โดยเลสิคจะรักษาได้ทั้งสายตาสั้น สายตายาว และสายตาเอียง ตามข้อบ่งชี้ของคนไข้แต่ละท่าน ปัญหาที่เจอส่วนใหญ่ก็คือ ภาวะสายตาสั้น ถ้าผลการผ่าตัดสมบูรณ์ดี คนไข้จะมีค่าสายตาเป็นศูนย์ ไม่มีสั้นและไม่มียาว จะกลายเป็นคนที่มีค่าสายตาปกติ เมื่ออายุเริ่มต้น 40 ปี จะมีภาวะสายตายาวตามวัยเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้ศักยภาพในการโฟกัสระยะใกล้ลดลง ดูมือถือ อ่านหนังสือ ได้ไม่ปกติจึงต้องใส่แว่นสายตาช่วยในการโฟกัสระยะใกล้" พญ.อรอร อธิบาย
*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org
- 1384 views