กรมอนามัย ร่วมกับกรมการแพทย์ ประชุมพัฒนาศักยภาพบุคลากรสาธารณสุขระดับจังหวัด สร้างทีมครู ก. ร่วมคัดกรองสายตานักเรียนและแก้ไขภาวะสายตาผิดปกติ คาดทั่วประเทศมีนักเรียนประมาณ 260,000 คนต้องใส่แว่นสายตา
เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2559 ณ โรงแรมแอมบาสเดอร์ กรุงเทพมหานคร นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดการประชุมพัฒนาศักยภาพบุคลากรสาธารณสุขระดับจังหวัดในการดำเนินงานตรวจสายตานักเรียน ภายใต้โครงการเด็กไทยสายตาดี เพื่อเพิ่มโอกาสการเรียนรู้ตามนโยบาย “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” ว่า แนวโน้มสถานการณ์สุขภาพของเด็กวัยเรียนที่ส่งผลต่อการพัฒนาการเรียนรู้ และการเติบโต คือ หูตึง สายตาสั้น ความผิดปกติของสมอง สภาวะตาบอด ตาเลือนราง และโรคตาที่เป็นสาเหตุสำคัญและเป็นปัญหาสาธารณสุขในกลุ่มประชากรเด็กไทย อายุ 1-14 ปี
จากการคัดกรองภาวะสายตาผิดปกติโดยครูในกลุ่มเด็กก่อนประถมศึกษาและประถมศึกษาในโรงเรียน จำนวน 17 แห่ง ในพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดสุมทรปราการ สุราษฎร์ธานี ลำพูน และนครพนม พบว่า เด็กมีภาวะสายตาผิดปกติ ร้อยละ 6.6 และจำเป็นต้องใส่แว่นสายตา ร้อยละ 4.1 โดยประมาณการในภาพรวมของประเทศคาดว่าจะมีเด็กนักเรียนจำเป็นต้องใส่แว่นสายตา ประมาณ 260,000 คน เพื่อลดปัญหาตาบอดจากสภาวะสายตาผิดปกติ
นพ.วชิระ กล่าวต่อว่า กระบวนการสำคัญที่จะทำให้การดำเนินงานมีประสิทธิภาพและประสบผลสำเร็จนั้น กระทรวงสาธารณสุข จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายหลายภาคส่วน ทั้งฝ่ายสาธารณสุข และฝ่ายการศึกษา ตั้งแต่การตรวจคัดกรอง และกระบวนการส่งต่อเพื่อทำการรักษา ช่วยเหลือและแก้ไข ซึ่งการประชุมพัฒนาศักยภาพบุคลากรสาธารณสุขระดับจังหวัดในการดำเนินงานตรวจสายตานักเรียนฯในครั้งนี้ เพื่อสร้างทีมวิทยากรระดับจังหวัด หรือครู ก. ที่จะเป็นผู้ถ่ายทอดองค์ความรู้ ทักษะ และแนวทางการตรวจคัดกรองสายตานักเรียนและแก้ไขภาวะสายตาผิดปกติของนักเรียน สู่บุคลากรในระดับพื้นที่ได้อย่างมีคุณภาพต่อไป โดยขอให้บุคลากรสาธารณสุขทุกระดับเตรียมเด็กวัยเรียนให้มีความพร้อมเรียนรู้ สามารถมองเห็นได้ชัดเจน ด้วยการร่วมกับทางโรงเรียนตรวจคัดกรองสายตา และส่งต่อแก้ไขหากพบความผิดปกติ
“ทั้งนี้ โครงการเด็กไทยสายตาดีของกระทรวงสาธารณสุขเป็นความร่วมมือจากกรมอนามัย กรมการแพทย์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินงานเพื่อสนับสนุนนโยบายรัฐบาล “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” โดยให้ความสำคัญในเรื่องของสายตาและการมองเห็นของเด็ก ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นนำไปสู่การพัฒนาการทางสมองและการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ให้เกิดกระบวนการจดจำ คิด และสร้างสรรค์จนกลายเป็นการเรียนรู้ ความฉลาด และนำไปสู่พัฒนาการด้านอื่นตามมา โดยให้มีการตรวจวัดสายตานักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 และแก้ไขความผิดปกติอย่างเหมาะสมทันเวลา อันจะส่งผลให้ทั้งสามารถลดความชุกของภาวะตาบอดและตาเลือนรางในเด็กไทย และในปีการศึกษา 2560 กระทรวงสาธารณสุข มีเป้าหมายที่จะขยายผลในการตรวจวัดสายตานักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 1 ต่อไป” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว
- 100 views