กรมควบคุมโรคแจงละเอียดหลังมติ คกก.โรคติดต่อฯ เห็นชอบผ่อนคลายมาตรการป่วยโควิดไม่มีอาการ-อาการน้อย ไม่ต้องแยกกัก แต่ต้องระวังตนเองปฏิบัติตาม DMHT อย่างเคร่งครัดเป็นเวลา 5 วัน เน้นสวมหน้ากากอนามัย ป้องกันแพร่เชื้อ แต่ทั้งหมดขึ้นกับปัจจัยความเสี่ยง สถานที่ทำงาน บริษัทนั้นๆ พร้อมย้ำการใช้ LAAB ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ใช้ได้ในกลุ่มเสี่ยงตามข้อบ่งชี้ทางการแพทย์

 

ตามที่คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ มีมติเห็นชอบผ่อนคลายมาตรการเตรียมรับโรคโควิดเข้าสู่โรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 โดยให้ผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการ หรือมีอาการน้อยไม่ต้องแยกกัก แต่ให้ระวังตนเองและให้ปฏิบัติตาม DMHT อย่างเคร่งครัด 5 วัน และให้คำแนะนำแก่ประชาชนให้มีพฤติกรรมป้องกันตนเองอย่างถูกต้องเหมาะสม เช่น การสวมหน้ากาก เว้นระยะห่าง ล้างมือ และตรวจ ATK เมื่อมีอาการ ปรากฎว่ายังเกิดคำถามว่า จะแยกอาการอย่างไรว่า ใครควรต้องกักตัว หรือสามารถทำงาน หรือออกมาข้างนอกได้

 

เมื่อวันที่ 22 กันยายน นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) กระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ถึงเรื่องนี้ว่า คำว่า กักตัว ใช้กับคนที่ยังไม่ป่วย แต่เสี่ยงสูง แต่หาก "แยกกัก" คือ ป่วยแล้วหรือติดเชื้อแล้ว ซึ่งที่ผ่านมาเราใช้ Isolation แต่ขณะนี้ต้องการให้ใกล้เคียงกับปกติ เนื่องจากสถานการณ์โควิด ณ ขณะนี้ อาการไม่ได้รุนแรง คล้ายโรคหวัด โรคอื่นๆ ซึ่งหากเรารู้ตัวว่าป่วย แต่กลับไม่ยอมป้องกันตนเอง ก็จะทำให้ผู้อื่นเสี่ยงไปด้วย จึงแนะนำให้มีการปฏิบัติตาม DMHT โดยที่สำคัญที่สุด คือ สวมใส่หน้ากากอนามัย ผู้สื่อข่าวถามว่า แม้จะมีคำแนะนำว่า คนป่วยอาการไม่มาก หรือไม่มีอาการให้ปฏิบัติตาม DMHT แต่กรณีการไปทำงาน ต้องขึ้นกับนโยบายบริษัทหรือผู้ประกอบการ หรือความเสี่ยงแพร่เชื้อด้วยหรือไม่

นพ.โสภณ กล่าวว่า ใช่ เช่น หากเราทำงานในโรงพยาบาล และต้องอยู่ใกล้หรือดูแลผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ซึ่งตามคำแนะนำคือ ต้อง DMHT จะมีคำว่า Distancing หรือ D คือ ต้องเว้นระยะห่าง การดูแลอาจต้องอยู่คนละห้องเลย หรือหากเป็นเจ้าของสถานบริการดูแลผู้สูงอายุ ก็อาจต้องให้หยุดงาน เพราะผู้สูงอายุหากติดเชื้อเสี่ยงอาการรุนแรงได้ เมื่อถามว่าหากครบกำหนด 5 วัน ผู้ติดเชื้ออาการน้อยหรือไม่มีอาการต้องตรวจ ATK หรือไม่

 

รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ไม่จำเป็น แต่ทั้งหมดขึ้นอยู่กับความเสี่ยง เช่น หากทำงานใกล้ชิดกลุ่มเสี่ยงก็ต้องระวังตัวเองเป็นพิเศษ จริงๆ โดยหลักคือ การสวมหน้ากากอนามัย หากเราป่วยเราก็ควรต้องสวมหน้ากากอนามัย ต้องระวังให้มากกว่าปกติ เพื่อไม่ให้เกิดการแพร่เชื้อไปผู้อื่น หรือง่ายๆ คือต้องปฏิบัติตาม DMHT เมื่อถามถึงความจำเป็นต้องฉีดวัคซีนเข้มกระตุ้นหรือไม่ นพ.โสภณ กล่าวว่า จากข้อมูลหากเป็นผู้สูงอายุควรได้เข็ม 4 แต่หากวัยหนุ่มสาว ไม่มีโรคประจำตัวควรได้เข็ม 3 เพราะหลักการการฉีดวัคซีน คือ ยังสร้างภูมิคุ้มกันได้สูงหรือไม่ หากไม่ก็ต้องกระตุ้น และมีความเสี่ยงหรือไม่ หากระบาดหนักๆ ภูมิฯตกนิดก็ต้องรีบฉีด แต่วันนี้ค่อนข้างปลอดภัย ความเสี่ยงก็ลด แต่การฉีด 2 เข็มไม่พอแน่นอน เมื่อถามถึงการใช้ภูมิคุ้มกันสำเร็จรูปหรือแอนติบอดีออกฤทธิ์ยาว (Long Acting Antibody : LAAB) เนื่องจากมีนักวิชาการออกมาตั้งคำถามว่า อาจไม่เหมาะสมกับการใช้รักษา เพราะราคายังสูง

 

นพ.โสภณ กล่าวว่า วันนี้เรามีในมือก็ควรใช้ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง กลุ่มภูมิคุ้มกันต่ำ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันเรามีของมากพอ ส่วนหนึ่งหมดอายุปลายปีไม่กี่หมื่น แต่ที่เหลือจะหมดอายุตุลาคม ปี 2566 เรามีสำรองมากพอ แต่เช่นเดียวกัน LAAB ก็เหมือนวัคซีน ฉีดเพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน ซึ่งคนที่ได้รับเป็นกลุ่มที่ฉีดวัคซีนแล้วภูมิคุ้มกันไม่ขึ้น แต่เราก็ไม่รู้ว่า หากผ่านไป 6 เดือน สถานการณ์โควิดอาจไม่มีอะไรก็ได้ ซึ่งก็ไม่จำเป็นต้องใช้อีกก็ได้ ตอนนี้เป็นการคาดการณ์เรื่องในอนาคตทั้งหมด ผู้สื่อข่าวถามกรณีมีความเข้าใจผิดว่า การใช้ LAAB ต้องเสียค่าใช้จ่าย

นพ.โสภณ กล่าวว่า ไม่ต้องจ่ายเลย ใครที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงให้มาฉีดรพ.ของรัฐ เพราะจะมีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์กำหนดอยู่ "ประเทศไทยเหมือนหลายๆประเทศ มีการขึ้นทะเบียนแบบป้องกัน เพียงแต่ตอนนี้มีหลายประเทศเริ่มเห็นผลการใช้มากขึ้น อย่างญี่ปุ่น ขึ้นทะเบียนวันที่ 30 สิงหาคม 2565 และยุโรปได้อนุมัติให้ใช้รักษาวันที่ 20 กันยายน 2565 ใช้ในการรักษาผู้โควิด 19 ที่เริ่มมีอาการในระยะแรก ในกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรครุนแรง ส่วนประเทศไทยกำลังจะยื่นเอกสารขออนุญาตขึ้นทะเบียนภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป Evusheld เพื่อใช้รักษาผู้ป่วยโควิด 19 ที่เพิ่งติดเชื้อในระยะแรกตามข้อบ่งชี้ทางการแพทย์" นพ.โสภณกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับ D-M-H-T คือ D : Distancing เว้นระยะห่าง M : Mask wearing สวมหน้ากาก H : Hand washing ล้างมือบ่อย ๆ T : Testing ตรวจเชื้อโควิด-19 เมื่อมีอาการ หรือตรวจให้ไว