ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์ประชุมผู้เชี่ยวชาญ เตรียมออกคำแนะนำฉีดวัคซีนโควิดเด็กเล็ก 6 เดือนไปจนถึงอายุน้อยกว่า 5 ปี เผยความจำเป็นควรพาลูกหลานกลุ่มอายุดังกล่าวฉีดป้องกันโรค ดีกว่าป่วยแล้วเสี่ยงเป็น MIS-C ชี้ข้อมูลตปท.อาการข้างเคียงมีไข้ ปวดเมื่อยร่างกาย ไม่พบอาการรุนแรง ประธานราชวิทยาลัยฯ ย้ำยังสามารถฉีดร่วมกับวัคซีนพื้นฐาน เช่น คอตีบ ไอกรน ฯลฯ
ตามที่กระทรวงสาธารณสุขเตรียมนำเข้าวัคซีนไฟเซอร์เด็กฝาสีแดง สำหรับเด็กอายุ 6 เดือน ไปจนถึงน้อยกว่า 5 ปี จำนวน 3 ล้านโดส ฉีดให้เด็ก 1 ล้านคน ล็อตแรกนำเข้าเดือนตุลาคมนี้
เมื่อวันที่ 12 กันยายน ศ.นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา ประธานราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ช่วงบ่ายวันนี้ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย จะมีการประชุมผู้เชี่ยวชาญถึงการออกคำแนะนำการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด19 สำหรับเด็กอายุ 6 เดือน ไปจนถึงน้อยกว่า 5 ปี เพื่อเป็นข้อมูลเกี่ยวกับวิธีการฉีด ขนาดวัคซีน และความจำเป็นของการฉีดให้เด็กเล็กกลุ่มอายุ 6 เดือน เนื่องจากข้อมูลที่ผ่านมาพบว่า เด็กที่อายุน้อยกว่า 1 ขวบ เมื่อติดเชื้อโควิดจะมีอัตราการป่วยรุนแรงและเสียชีวิตสูงกว่าเด็กโต แม้ตัวเลขอาจไม่สูงมาก แต่ก็เป็นตัวเลขที่ต้องเฝ้าระวัง
"ข้อมูลที่ผ่านมาเราพบว่า เด็กที่เสียชีวิตจากโควิดอายุต่ำกว่า 1 ขวบเยอะ เพราะภูมิคุ้มกันร่างกายต่ำ และแม่ก็ไม่เคยป่วยโควิดมาก่อน ทำให้เมื่อคลอดลูกออกมา ลูกก็ไม่ได้มีภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติอีก ที่ประชุมวันนี้จะมีการพิจารณาความจำเป็นถึงการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด เพราะขณะนี้มีส่วนหนึ่งยังกังวลว่า ควรนำบุตรหลานไปฉีดวัคซีนหรือไม่ ซึ่งโดยข้อเท็จจริงต้องพาลูกหลานไปฉีด เพื่อให้มีภูมิคุ้มกัน ยิ่งคนในประเทศมีภูมิคุ้มกันมากขึ้นก็ยิ่งควบคุมการระบาดได้มาก" ศ.นพ.สมศักดิ์ กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า ผู้ปกครองส่วนหนึ่งกังวลเรื่องผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนชนิด mRNA โดยเฉพาะฉีดให้เด็กเล็ก ศ.นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า วัคซีน mRNA แทบไม่มีผลข้างเคียงอะไร จะมีก็เป็นเรื่องปวดเมื่อย เป็นไข้ อย่างที่ผ่านมาฉีดวัคซีนmRNA ให้เด็กโตอายุ 5-11 ปีก็แทบไม่พบปัญหาโรคหัวใจอย่างที่กังวล โดยเฉพาะในประเทศไทย ยิ่งวัคซีนที่นำมาฉีดในเด็กน้อยกว่า 6 เดือน อย่างในต่างประเทศมีข้อมูลว่า ผลข้างเคียงน้อยกว่าเด็กโต และประเด็นเรื่องมีผลต่อหัวใจก็ไม่มี
ประธานราชวิทยาลัยกุมารแพทย์ฯ กล่าวอีกว่า หากไม่ฉีดวัคซีนป้องกันโควิดในเด็ก ปัญหาที่น่ากังวลมากกว่า คือ เมื่อป่วยโควิด แม้ไม่มีอาการ แต่หลังจากนั้น 1 เดือนอาจมีภาวะของโรคมิสซี (MIS-C) คือ เกิดการอักเสบของอวัยวะต่างๆ ซึ่งอาจรุนแรงได้ และถ้ามีโรคอื่นๆ ก็อาจเสียชีวิตได้ ดังนั้น ฉีดวัคซีนป้องกันโควิดดีที่สุด และไม่ต้องกลัวว่าการฉีด mRNA เพราะไม่ได้ฉีด DNA เข้าไปแต่ฉีด RNA ซึ่งเป็นตัวเดียวกับเมื่อติดเชื้อไวรัสจะสร้าง RNA แถม RNA ของวัคซีนปลอดภัยกว่าเพราะเลือกเฉพาะส่วนเดียวที่ช่วยให้เกิดภูมิคุ้มกัน ผิดกับเชื้อธรรมชาติที่จะสร้างแอนติเจนไวรัส ที่สำคัญตัว RNA ไม่มีความคงทน สามารถสลายหายไปได้ ไม่อยู่ค้างในร่างกาย
"ข้อมูลต่างประเทศพบเด็กเป็นมิสซี ส่วนใหญ่อายุ 8-9 ขวบ แม้ตัวเลขพบไม่มากไม่ถึง 1% แต่ก็ต้องระวัง ส่วนของไทยมีแทบทุกช่วงอายุ 4-5 ขวบก็มี ดังนั้น การป้องกันเกิดโรคโควิดดีกว่า ยิ่งวัคซีนที่จะมาฉีดให้เด็กเล็กอายุ 6 เดือน พบว่า ปริมาณที่ฉีดวัคซีนไม่มากขนาดที่ใช้โดสละ 3 ไมโครกรัม ถือว่าน้อยมากๆ การฉีดจึงต้องฉีด 3 เข็มมีระยะเวลาการห่างระหว่างเข็มตามคำแนะนำ ซึ่งจากปริมาณถือว่าน้อย อย่างในต่างประเทศพบว่า เด็กเล็กที่ฉีดมีอาการไข้ ปวดเมื่อยบ้าง ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้หมด แต่ไม่พบอาการรุนแรง" ศ.นพ.สมศักดิ์ กล่าว
เมื่อถามว่า การฉีดวัคซีนโควิดในเด็กเล็กต้องห่างจากวัคซีนพื้นฐาน เช่น ไอกรน คอตีบ กี่สัปดาห์ หรือฉีดพร้อมกันได้ ศ.นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า ในการประชุมราชวิทยาลัยจะมีการพิจารณาประเด็นนี้ แต่โดยหลักไม่มีความจำเป็นต้องฉีดห่างกันเป็นสัปดาห์ อย่างไรก็ตาม จะมีรายละเอียดในประกาศของราชวิทยาลัยฯ คาดว่าจะออกประกาศไม่เกินวันพรุ่งนี้(13 ก.ย.)
ผู้สื่อข่าวถามว่าหลังจากการฉีดวัคซีนกลุ่มเด็กเล็กแล้ว ในอนาคตจำเป็นต้องฉีดให้เด็กๆ ทุกปีหรือไม่ ศ.นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า ยังไม่มีข้อมูลตรงนี้ ตอนนี้ต้องทำให้ทุกคนมีภูมิคุ้มกันป้องกันโรคโควิดให้มากที่สุด ส่วนข้อกังวลเรื่องเชื้อจะกลายพันธุ์นั้น จริงๆร่างกายเราฉีดวัคซีนมาก่อนแล้ว แม้สายพันธุ์เปลี่ยน แต่ร่างกายรู้จักก็จะสามารถสู้ได้ แต่ตอนแรกที่ระบาด ร่างกายเราไม่รู้จักเชื้อก็ไม่สามารถสู้ได้เลย
ทั้งนี้ สำหรับการฉีดในเด็กกลุ่มอายุดังกล่าวมีขนาดการใช้วัคซีนโดสละ 0.2 มิลลิลิตร (3 ไมโครกรัม) ฉีด 3 เข็ม โดยเข็ม 2 ห่างจากเข็ม 1 จำนวน 3 สัปดาห์ และเข็ม 3 ห่างจากเข็ม 2 จำนวน 8 สัปดาห์
ข่าวเกี่ยวข้อง : "อนุทิน" ลั่นไทยมีวัคซีนโควิดครบทุกช่วงอายุ หลังสธ.จัดหาวัคซีนไฟเซอร์ ให้เด็ก 6 เดือนขึ้นไปแต่ต่ำกว่า 5 ขวบ
*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org
- 9592 views