ปิดฉากประชุมวิชาการบุหรี่กับสุขภาพฯ ครั้งที่ 20 ประกาศปฏิญญาห้ามบุหรี่ไฟฟ้า 2022 แสดงเจตนารมณ์ “คงกฎหมายห้ามนำเข้า-ขายบุหรี่ไฟฟ้า” ไม่สนับสนุนพรรคการเมือง ส.ส. ส.ว. เชียร์ยกเลิกบุหรี่ไฟฟ้า เดินหน้าเปิดโปงกลยุทธ์แทรกแซงนโยบายควบคุมบุหรี่ผ่านองค์กร บุคคล สื่อให้สังคมรับรู้ เร่งรณรงค์ค่านิยมดูแลสุขภาพ ไม่สูบบุหรี่/บุหรี่ไฟฟ้า
เมื่อวันที่ 30 ส.ค. 65 ที่แพทยสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ผศ.ดร.นพ.วิชช์ เกษมทรัพย์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) กล่าวในพิธีปิดการประชุมวิชาการบุหรี่กับสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 20 เรื่อง “บุหรี่ไฟฟ้า ภัยซ่อนเร้นในสังคม” ว่า ในฐานะผู้แทนจากเครือข่ายวิชาชีพเพื่อสุขภาพควบคุมยาสูบทั่วประเทศ ขอประกาศปฏิญญาห้ามบุหรี่ไฟฟ้า 2022 คือ 1.สนับสนุนให้คงกฎหมายห้ามนำเข้าและห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้า โดยไม่สนับสนุนพรรคการเมืองและนักการเมือง ที่มีจุดยืนให้ยกเลิกการห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้า เร่งให้ข้อเท็จจริงแก่ผู้กำหนดนโยบายโดยเฉพาะ ส.ส. และ ส.ว. ถึงอันตรายของบุหรี่ไฟฟ้าและกลยุทธ์ที่บิดเบือนข้อเท็จจริงของอุตสาหกรรมยาสูบข้ามชาติ และเครือข่ายบุหรี่ไฟฟ้าต่าง ๆ 2.ส่งเสริมให้การไม่สูบบุหรี่/บุหรี่ไฟฟ้า เป็นค่านิยมดูแลสุขภาพ
เร่งรณรงค์ให้ประชาชนโดยเฉพาะวัยรุ่นและเยาวชน รู้ถึงพิษภัยและการเสพติดบุหรี่ไฟฟ้า ทั้งช่องทางการของระบบการศึกษา และช่องทางอื่น ๆ 3.สร้างความเข้มแข็งควบคุมการบริโภคยาสูบในทุกระดับ โดยเฝ้าระวังและกระตุ้นหน่วยงานที่รับผิดชอบการปราบปรามการโฆษณา การลักลอบขายบุหรี่ไฟฟ้าอย่างผิดกฎหมาย เปิดโปงกลยุทธ์การตลาดและกลยุทธ์การแทรกแซงนโยบายของเครือข่ายบุหรี่ไฟฟ้าผ่านองค์กร บุคคล สื่อ ให้สังคมรับรู้ ทั้งหมดนี้เพื่อสุขภาวะของประชาชนไทย ทุกเพศ ทุกวัย อย่างทั่วถึง
ผศ.ดร.นพ.วิชช์ กล่าวต่อว่า บุหรี่ไฟฟ้าไม่ใช่ทางเลือกที่ปลอดภัยและเป็นอันตรายต่อร่างกาย การใช้บุหรี่ไฟฟ้ามีสารพิษต่าง ๆ เทียบเท่ากับการสูบบุหรี่ปกติ ส่งผลกระทบต่อสุขภาพต่อสมองและระบบประสาท ทำให้มีโอกาสติดง่ายและติดนาน และกลายเป็นจุดเริ่มต้นของการเสพติดนิโคตินอย่างต่อเนื่อง บุหรี่ไฟฟ้าไม่ได้ทดแทนการเลิกสูบบุหรี่ แต่เป็นจุดเริ่มต้นในการเสพติดบุหรี่หรือสารเสพติดประเภทอื่นในเด็กและเยาวชน การไม่รู้เท่าทันกลยุทธ์ของบริษัทผู้ผลิตบุหรี่ไฟฟ้า ด้วยรูปลักษณ์และองค์ประกอบของบุหรี่ไฟฟ้า สร้างความยั่วยวนใจให้หันมาสูบบุหรี่ไฟฟ้า และเกิดกระแสในกลุ่มวัยรุ่นอย่างรวดเร็ว
“จุดยืนของประเทศไทยคือ ไม่สนับสนุนบุหรี่ไฟฟ้า ปัจจุบันมาตรการและประสบการณ์ของประเทศต่าง ๆ ไม่มีมาตรการอื่นใดที่มีประสิทธิภาพปกป้องเด็กและเยาวชนไม่ให้เข้าถึงบุหรี่ไฟฟ้า และทดลองเสพบุหรี่ไฟฟ้าได้ ดังนั้นจึงควรป้องกันที่ต้นทางคือ การห้ามนำเข้าและขายบุหรี่ไฟฟ้า ตลอดจนดำเนินการตามอนุสัญญาพิธีสารว่าด้วยการจัดการการค้าผลิตภัณฑ์ยาสูบที่ผิดกฎหมาย และบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด” ผศ.ดร.นพ.วิชช์ กล่าว
- 316 views