อาการบ้านหมุน (Vertigo) เป็นปัญหาสุขภาพที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ แต่คนในวัยหนุ่มสาวก็อาจเกิดอาการนี้ได้เช่นกัน โดยความเข้าใจของคนส่วนใหญ่จะคิดว่า อาการบ้านหมุนเกิดจากน้ำในหูไม่เท่ากัน แต่จริง ๆ แล้ว อาการบ้านหมุน สามารถเป็นสัญญาณของโรคอื่น ๆ ได้ด้วย นพ.เมธิศ ชินะชัชวารัตน์ กลุ่มศูนย์การแพทย์เฉพาะทางด้านโสต ศอ นาสิก โรงพยาบาลราชวิถี อธิบายกับ Hfocus ว่า บ้านหมุนเป็นคำแสดงอาการ สัญญาณของโรคได้หลายชนิด เกิดได้จากหลายสาเหตุ โดยผู้ป่วยจะมีอาการคล้ายกับสิ่งแวดล้อมรอบตัวหมุน หรือรู้สึกว่าร่างกายตัวเองกำลังหมุนทั้งที่ไม่มีการเคลื่อนไหว ส่วนใหญ่แล้วจะเกิดได้จาก 2 สาเหตุหลัก 1.เกิดจากระบบประสาทส่วนกลาง สมอง เส้นประสาท พบได้ไม่ถึง 10 เปอรเซ็นต์ แต่จะทำให้เกิดอันตรายต่อร่างกายผู้ป่วยได้มาก เช่น ภาวะสมองขาดเลือด หรือเนื้องอกในสมอง 2.เกิดจากระบบประสาทส่วนปลายบริเวณหูชั้นใน พบได้ถึง 90 เปอร์เซ็นต์ โรคจะไม่ได้มีอันตรายถึงแก่ชีวิต แต่จะก่อให้เกิดความรำคาญ ไม่สบายตัว โดยจะมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย อาทิ เวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน หน้ามืด หูอื้อ หรือมีเสียงในหู ซึ่งโรคที่พบได้มากที่สุด ได้แก่ 1.โรคหินปูนในหูชั้นในเคลื่อน 2.น้ำในหูไม่เท่ากัน 3.เส้นประสาทการทรงตัวอักเสบ จะเห็นได้ว่า โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน ไม่ใช่โรคเดียวที่ทำให้เกิดอาการบ้านหมุนได้ ต้องสังเกตอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น การได้ยินลดลง หรือหูอื้อ
สำหรับช่วงวัยที่พบอาการบ้านหมุนได้นั้น นพ.เมธิศ เปิดเผยว่า อายุ 50 ปีขึ้นไป จะมีความเสี่ยงเกิดอาการบ้านหมุนได้ เพราะเป็นวัยที่เริ่มพบโรคอื่น ๆ เข้ามาได้ แต่ที่ต้องระวัง คือ หลอดเลือดในสมอง ที่มักจะมาพร้อมกับโรคเบาหวาน ความดัน นอกจากนี้ ผู้หญิงยังมีโอกาสพบอาการบ้านหมุนได้มากกว่าผู้ชาย ส่วนคนที่อายุต่ำกว่า 50 ปี ก็สามารถเกิดอาการนี้ได้ หากเคยเกิดอุบัติเหตุศีรษะกระแทกหรือเคยติดเชื้อในหู อย่างไรก็ตาม การกินยาบางประเภทยังทำให้เกิดอาการบ้านหมุนได้ด้วย เช่น ยาคลายเครียด ยานอนหลับ จะทำให้เกิดอาการวิงเวียนศีรษะได้ ยิ่งผู้ป่วยที่มีความเครียดด้วยแล้วก็เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดอาการนี้ได้มากขึ้นเช่นกัน
"หากเกิดอาการบ้านหมุนตอนโน้มตัวลงนอนจะเป็นสัญญาณของโรคหินปูนในหูชั้นในเคลื่อน แต่ถ้าเป็นเวลาลุกเร็ว ๆ จะเกิดจากภาวะความดันต่ำขณะเปลี่ยนท่า บางคนอาจจะรู้สึกคล้ายบ้านหมุน หรือวิงเวียนหน้ามืด สำหรับสัญญาณของโรคที่เป็นอันตรายและต้องรีบไปพบแพทย์ ได้แก่ บ้านหมุนที่มีอาการทางระบบประสาทร่วมด้วย เช่น แขนขาอ่อนแรง ปากเบี้ยว พูดไม่ชัด มีอาการชาบริเวณใบหน้า ตัวชา การได้ยินลดลง ถ้ามีอาการเหล่านี้ให้มาตรวจเพื่อดูว่าเป็นโรคจากระบบประสาทส่วนกลางหรือโรคจากสมองหรือไม่ อาจเกิดภาวะสมองขาดเลือด โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัวอย่างเบาหวานและความดัน" นพ.เมธิศ กล่าวพร้อมให้คำแนะนำการดูแลสุขภาพว่า วิธีดูแลสุขภาพ ควรนอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอเพื่อไม่ให้เกิดความเครียด เมื่อเกิดอาการบ้านหมุนควรหยุดพักสักครู่ นั่งหรือนอนหลับตาจนกว่าอาการจะดีขึ้น ไม่ควรเคลื่อนไหวร่างกายเร็ว ๆ หรือเปลี่ยนอิริยาบถอย่างรวดเร็วเกินไป พยายามทำกิจวัตรให้ช้าลง โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่ต้องระวังไม่ให้เกิดการล้มจากบ้านหมุน ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกายมากขึ้นได้ เมื่อเกิดอาการบ้านหมุนเป็นประจำจึงควรมาพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยและทำการรักษาโรคต่อไป
*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org
- 2944 views