หินปูนในหูหลุด โรคยอดฮิตของผู้สูงวัย เป็นแล้วหายได้เองไหม หากปล่อยไว้อันตรายหรือเปล่า นพ.เมธิศ ชินะชัชวารัตน์ กลุ่มศูนย์การแพทย์เฉพาะทางด้านโสต ศอ นาสิก โรงพยาบาลราชวิถี อธิบายกับ Hfocus ว่า โรคหินปูนในหูชั้นในเคลื่อนหรือหินปูนในหูหลุด เป็นโรคที่พบได้บ่อยกับผู้สูงอายุ 50-70 ปี เพราะร่างกายเริ่มเสื่อมลง หินปูนที่เกาะแน่นอยู่ในหูชั้นในก็จะเคลื่อนหลุดลงมา โดยหินปูนจะเกาะอยู่กับเซลล์ขนประสาท หากหินปูนหลุดออกมาขณะที่พลิกตะแคงตัว หินปูนจะตกลงตามแรงโน้มถ่วง ไปกระตุ้นเซลล์ประสาทที่ไม่ควรถูกกระตุ้นทำให้รู้สึกเหมือนกำลังหมุนตัว เกิดเป็นอาการบ้านหมุนขึ้นมา ส่วนวัยหนุ่มสาวก็อาจเกิดโรคนี้ได้เช่นกัน หากเคยประสบอุบัติเหตุหัวกระแทก หรือคนที่เคยติดเชื้อในหูมาก่อน มีหนองไหลจากหู หรือเส้นประสาทอักเสบ ผู้ป่วยจะอ่อนแอกว่าคนปกติ หินปูนจะหลุดง่ายขึ้นได้ อย่างไรก็ตาม โรคนี้ไม่ได้อันตรายแต่สร้างความน่ารำคาญ เมื่อหันตะแคงท่าใดท่าหนึ่งในตำแหน่งที่หลุด ผู้ป่วยจะเกิดอาการเวียนหัวและบ้านหมุนขึ้นมาทันที แต่เกิดเพียง 1-2 นาที อาการก็จะหายไปได้เองเมื่อนั่งอยู่นิ่ง ๆ 

"หินปูนในหูหลุด มักจะเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดอาการบ้านหมุน ซึ่งสามารถหายเองได้ หากเวลาผ่านไปหลายเดือน หินปูนจะกลับเข้าที่ แต่ไม่ใช่เรื่องง่าย ผู้ป่วยต้องทนกับอาการบ้านหมุนขณะใช้ชีวิตประจำวัน ในผู้สูงวัยจะเสี่ยงอันตราย เวียนหัวแล้วเกิดการล้มได้สูง จึงขอแนะนำให้ปรึกษาแพทย์ เพราะในทางการแพทย์จะตรวจได้ว่า หินปูนหลุดตรงไหน พร้อมรักษาให้หินปูนกลับเข้าที่ได้ อาการบ้านหมุนที่เคยเกิดขึ้นแทบจะหายได้ในทันที" นพ.เมธิศ กล่าว

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org