ประธานคณะอนุกรรมการบริหารภารกิจถ่ายโอนด้านสาธารณสุขฯ เผยกรณีกลุ่มบุคลากรสมัครใจแล้วเปลี่ยนใจภายหลัง ขอให้มาทำงานที่อบจ.สักระยะหนึ่งก่อน ชี้กรณีลูกจ้างชั่วคราวเมื่อถ่ายโอนไปอบจ. จะจ้างต่อระยะยาวหรือไม่ ส่วนเรื่องแพทย์ที่มาให้บริการรพ.สต. ที่เป็น PCC ย้ำ! ในช่วงเปลี่ยนผ่านต้องร่วมมือกับสธ. ทั้งนี้หากอบจ.จะไปต่อยอดหรือหาอะไรเพิ่มเติมอยู่ที่อำนาจของ อบจ.เอง
จากกรณีที่ กมธ.สาธารณสุขกังวลช่วงเปลี่ยนผ่าน ห่วงลูกจ้างชั่วคราวเดิมสังกัด สธ. เมื่อถ่ายโอนไปอบจ. จะจ้างต่อหรือไม่ ขณะที่ รพ.สต. กลุ่ม PCC มีหมอจาก รพช. รพศ. ดูแลผู้ป่วยจำนวนมาก หากถ่ายโอนเตรียมแพทย์บริการอย่างไรนั้น ล่าสุด นายเลอพงศ์ ลิ้มรัตน์ ประธานคณะอนุกรรมการบริหารภารกิจถ่ายโอนด้านสาธารณสุขให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เปิดเผยกับ Hfocus ว่า สำหรับเรื่องแพทย์ นั้น เบื้องต้นในช่วงเปลี่ยนผ่าน คงต้องทำความร่วมมือกับ สธ. ใช้ตามแนวทางเดิมไปก่อน เนื่องจากขณะนี้ถือว่าเป็นเรื่องใหม่ทางฝั่ง อบจ.เองในการที่จะเตรียมการต่างๆถ้าหากไปขอแพทย์ที่ใหม่เลยน่าจะเป็นอุปสรรค ดังนั้นก็ใช้เหมือนเดิมเลยตามหลักการทั่วๆไป ซึ่งเจตนาที่ทางคณะอนุกรรมการกระจายอำนาจฯ ได้เขียนแนวทางไว้ คือ สิ่งไหนที่เคยทำเราก็อยากให้ทำเหมือนเดิมก่อน ทั้งนี้ หากอบจ.จะไปต่อยอดหรือหาอะไรเพิ่มเติม ก็จะเป็นในส่วนของอบจ.เอง
** สำหรับเรื่องกรณีลูกจ้าง เนื่องจากว่า รพ.สต. บางแห่ง ที่มีความจำเป็นจะต้องจ้างลูกจ้าง เหตุคือไม่สามารถหาบุคลากรที่เป็นข้าราชการมาเพื่อให้เป็นไปตามกรอบได้ ประเด็นแรกคือ เพราะติด 40% (งานบริหารงานบุคคลของ กพ.) ประเด็นที่สอง ทางกระทรวงสาธารณสุขเองจัดสรรหาบุคลากร เพื่อบรรจุเป็นข้าราชการค่อนข้างมีอุปสรรคมากพอสมควร
ดังนั้น ทางเลี่ยงในการปฎิบัติงานของ รพ.สต. ที่ผ่านมาจึงจำเป็นต้องจ้างลูกจ้าง และเมื่อถามว่าต้องจ้างต่อไปหรือไม่ เบื้องต้น 2 ปีแรก คาดการณ์ว่า อบจ. แต่ละแห่งคงต้องจ้างต่อ ซึ่งแนวทางได้เขียนว่า ลูกจ้างที่จ้างมา ถ้าหากมีคุณวุฒิที่ในสายงานที่ขลาดแคน อาทิเช่นพยาบาล แพทย์แผนไทย เภสัชกร เป็นต้น เราให้อำนาจของ อบจ. ว่าคุณสามารถนำเข้าสู่วิธีการสรรหาโดยวิธีพิเศษเพื่อให้ได้รับราชการได้
นายเลอพงศ์ ลิ้มรัตน์ กล่าวต่อว่า และถ้าอนาคตบุคลากรกลุ่มนี้ได้รับราชการ นั้นขึ้นอยู่กับดุลพินิจของ อบจ. ว่าจะจ้างใหม่หรือไม่จ้างเลยก็ได้ เราจะไม่ก้าวล่วงในอำนาจหน้าที่ของ อบจ. ส่วนคนที่ไม่มีวิชาชีพที่ขาดแคลนที่ว่า ในอนาคตคนปัจจุบันคงจะถูกจ้างต่อไปเรื่อยๆ จนกว่าระยะหนึ่ง ถ้าเกิดการบริหารงานบุคคลเข้าร่องเข้ารอย มีบุคลากรเต็มตามกรอบเราก็ตอบไม่ได้ว่าจะถูกจ้างต่อหรือไม่ แต่ส่วนใหญ่คนที่ทำงานอยู่แล้วก็เชื่อว่าทาง อบจ. คงไม่อยากผลักออก คงอยากให้ทำงานต่อเนื่องไปเรื่อยๆ นายเลอพงศ์ กล่าว.
สำหรับกรณีสมัครใจถ่ายโอนแล้วมาเปลี่ยนใจภายหลังวันที่ 7 ธันวาคม 2564 ทางเราเองจะต้องดำเนินการตามเดิมก่อนเนื่องจากในงานธุรการหรืองบประมาณส่วนกลางได้ยืนยันข้อมูลตรงกันแล้วว่าคุณแสดงความประสงค์ที่จะถ่ายโอนก่อนวันที่ 7 ธ.ค. 64 หากหลังจากนี้ต้องการที่จะเปลี่ยนใจจะทำให้คุณทำงานในส่วนกลางค่อนข้างที่จะลำบากในการทำงาน ฉะนั้นแนะนำว่าน้องที่เปลี่ยนใจก็คงต้องขอให้มาทำงานที่ อบจ. สักกระยะหนึ่งก่อน หรือทำงานจนถึงเดือนตุลาคม ก่อน หากท่านอยากถ่ายโอนกลับไป ก็ต้องไปขอโอนกลับ
ทั้งนี้ อยู่ที่กระทรวงสาธารณสุขด้วย ว่ายังสงวนตำแหน่งของบุคลากรเหล่านี้ไว้ให้หรือไม่ สามารถรับได้หรือไม่ เราต้องขออภัยบุคลากรกลุ่มนี้ด้วยอยากให้มาทำงาน ที่ อบจ. ก่อน ถ้าทำแล้วไม่สบายใจหรือมันไม่ใช่ก็คงต้องหาแนวทางที่จะโอนกลับ หรือโอนไปส่วนราชการอื่นๆ ตรงนี้ก็ค่อยหาวิธีกันต่อไป นายเลอพงศ์ กล่าว.
ข่าวเกี่ยวข้อง
"สาธิต" กำชับ นพ.สสจ.ช่วยจนท.ไม่ต้องการถ่ายโอน ด้าน "หมอเจตน์" ไม่ขัดขวาง แต่ห่วงลูกจ้างชั่วคราว
รวมข่าวถ่ายโอน รพ.สต. สู่ ท้องถิ่น
*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org
- 2262 views