อธิบดีกรมสุขภาพจิต นำรัฐมนตรีสาธารณสุขมาเลเซีย ศึกษาดูงานจิตเวช สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา นำเสนอการบริการ คลินิกประสาทวิทยาและความจำสำหรับภาวะสมองเสื่อม สุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่น ศูนย์สมองจิตใจและโปรแกรมฟื้นฟู ซึ่งไทย-มาเลเซีย พร้อมแลกเปลี่ยนและสนับสนุนข้อมูลวิชาการด้านสุขภาพจิตระหว่างกัน
เมื่อวันที่ 25 ส.ค.2565 ที่สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา กรุงเทพมหานคร พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต นำ นาย Khairy Jamaluddin ABU BAKAR รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ประเทศมาเลเซีย และคณะ เยี่ยมชมการดำเนินงานศูนย์สุขภาพจิต และกิจกรรมต่างๆ
พญ.อัมพร กล่าวว่า ประเทศไทยกับประเทศมาเลเซียมีความสัมพันธ์ที่ดีในการดำเนินงานด้านสุขภาพจิตมาอย่างต่อเนื่อง มีกิจกรรมทางวิชาการราวมกัน ทั้งการศึกษา การประชุม และการฝึกอบรม นอกจากนี้ กรมสุขภาพจิตยังร่วมมือกับโรงพยาบาลเปอร์ไม ยะโฮร์บาห์รู ประเทศมาเลเซีย (Permai Hospital, Johor Bahru, Malaysia) ดำเนินงานด้านจิตเวช บริการสุขภาพชุมชน ศูนย์ฟื้นฟู และงานสุขภาพจิตชุมชน ซึ่งตอกย้ำคุณภาพการบริการสุขภาพจิตของทั้งสองประเทศอย่างมีนัยสำคัญ สำหรับประเทศไทย ได้ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์สุขภาพจิตในการส่งเสริมและป้องกัน ควบคู่กับการปรับปรุงคุณภาพและมาตรฐานระบบการบริการ โดยกรมสุขภาพจิตมีโรงพยาบาลจิตเวชทั่วไปในสังกัด 14 แห่ง และสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่น 6 แห่ง ขณะนี้บางแห่งกำลังพัฒนาสู่การเป็นศูนย์กลางความเป็นเลิศเฉพาะทางและด้านวิชาการ เพื่อตอบสนองการเปลี่ยนแปลง และรองรับผลกระทบจากการแพร่ระบาดในเชิงรุก
พญ.อัมพร กล่าวต่อว่า ในวันนี้ได้นำเสนอข้อมูลต่อรัฐมนตรีสาธารณสุขมาเลเซีย และคณะ เกี่ยวกับการบริการสุขภาพจิตของไทย อาทิ โรคที่พบมาก ได้แก่ การใช้สารเสพติด จิตเภท ภาวะซึมเศร้า โรคสมาธิสั้น และการรักษาช่วยเหลือผู้ที่มีความเสี่ยงต่อภาวะฆ่าตัวตาย การให้บริการผู้ป่วยนอก ซึ่งในปี 2565 มีการระบาดของ Covid-19 ทำให้มีอัตราการเข้ารับบริการลดลง เป็นต้น
นอกจากนี้ ได้นำเสนอการดำเนินงานของ คลินิกประสาทวิทยาและความจำสำหรับภาวะสมองเสื่อมที่มีพฤติกรรมและอาการทางจิตวิทยาของภาวะสมองเสื่อม สุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่น ศูนย์สมอง จิตใจ และโปรแกรมฟื้นฟู และกิจการร้านกาแฟหลังคาแดงและร้านเพื่อน ที่ให้ผู้ป่วยจิตเวชได้ปฏิบัติ เรียนรู้ สร้างทักษะทางสังคม สามารถกลับคืนสู่สังคม โดยมีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีศักดิ์ศรีในความเป็นมนุษย์ รวมถึงเป็นต้นแบบธุรกิจเพื่อสังคมสำหรับผู้ป่วยจิตเวชแห่งแรกของประเทศ ซึ่งการนำเสนอและแลกเปลี่ยนข้อมูลในครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งในการกระชับความสัมพันธ์และสร้างความร่วมมือในการดำเนินงานด้านจิตเวชระหว่างไทยและมาเลเซียให้มีประสิทธิผลมากขึ้น และเป็นประตูสู่การพัฒนาขีดความสามารถของบุคลากรสาธารณสุขด้านจิตเวชของทั้ง 2 ประเทศต่อไปในอนาคต
- 178 views