สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) พร้อมภาคีเครือข่ายรวม 15 องค์กร ร่วมกันจัดอบรมหลักสูตร “การจัดการระบบสุขภาพท้องถิ่นแบบมีส่วนร่วม” เพื่อพัฒนาศักยภาพกองสาธารณสุข องค์การบริหารส่วนจังหวัด รองรับการถ่ายโอนสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินี (สอน.) และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) โดยมีตัวแทนผู้รับผิดชอบการถ่ายโอน สอน. และรพ.สต. จากอบจ. 76 จังหวัดทั่วประเทศเข้าร่วมการอบรม
ทั้งนี้ ในวันที่ 19 สิงหาคม 2565 มีการเสวนาในเรื่อง "ความสำคัญระบบสุขภาพท้องถิ่น " โดยมี นพ. ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ นพ.ประภัสสร เจียมบุญศรีรองอธิการบดีสถาบันพระบรมราชชนก นายเลอพงศ์ ลิ้มรัตน์ ประธานคณะอนุกรรมการบริหารภารกิจถ่ายโอนด้านสาธารณสุข ให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และศาสตราจารย์วุฒิสาร ตันไชย เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ร่วมเสวนา
นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) กล่าวว่า เป้าหมายสำคัญของการถ่ายโอนรพ.สต.ให้อบจ. คือประชาชนจะต้องได้รับประโยชน์มากขึ้น ปัจจัยเสี่ยงลดลง และสามารถเข้าถึงบริการได้มากขึ้นแต่มีค่าใช้จ่ายที่น้อยลง นอกจากนี้ การถ่ายโอนฯ ต้องทำให้ระบบบริการเข้มแข็งมากขึ้น ทั้งงานบริการ งานวิชาการ งานบริหาร ที่ต้องมีประสิทธิภาพ เพื่อนำไปสู่ภาพรวมของคนไทยทั้งประเทศให้มีความปลอดภัยด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ สังคม ให้มีความยั่งยืน และมั่นคง
ทั้งนี้ การถ่ายโอนรพ.สต.ยังเป็นโอกาสของการพัฒนาระบบบริการสุขภาพ โดยเฉพาะระบบสุขภาพท้องถิ่นใกล้บ้านใกล้ใจ ซึ่งรพ.สต.จะเป็นด่านแรกในการดูแล ส่งเสริมสุขภาพของประชาชนในพื้นที่แบบองค์รวม และอบจ.จะช่วยสร้างการเชื่อมโยงระบบใหญ่ พร้อมทั้งขยายการบริการ เพิ่มเติมบุคลากรสาธารณสุขที่จำเป็นสำหรับการพัฒนาสุขภาพในทุกมิติที่สอดรับกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่ โดยมีสธ.เป็นฝ่ายสนับสนุน
“ปัจจุบันในรพ.สต.อาจจะมีพยาบาล นักสาธารณสุข และเจ้าหน้าที่บริหาร แต่การถ่ายโอนจะเพิ่มโอกาสในการพัฒนาเพิ่มเติมบุคลากรในการดูแลส่งเสริมสุขภาพมากขึ้น เช่น แพทย์ครอบครัว นักทันตภิบาล นักกายภาพบำบัด นักโภชนาการ หรือนักจิตวิทยา เป็นต้น ซึ่งจะเป็นการเติมเต็มช่องว่างในการดูแลสุขภาพของประชาชนให้สมบูรณ์ ” นพ.ประทีป กล่าว
ด้าน นพ.ประภัสสร เจียมบุญศรี รองอธิการบดีสถาบันพระบรมราชชนก กล่าวว่า ศักยภาพของมหาวิทยาลัยแห่งนี้ ซึ่งขับเคลื่อนด้วยระบบรัฐสภาจะช่วยพวกเราอย่างไร ซึ่งการดำเนินการถ่ายโอนในครั้งนี้มาถูกทางแล้ว เพราะต้องเป็นคนที่ดูแลอย่างใกล้ชิด สนับสนุนได้ง่าย ในเรื่องของทรัพยากร การดูแลต่างๆ ฯลฯ เพราะฉะนั้นทิศทางแนวโน้มนี้ทั้งหมด 3,264 รพ.สต. รวมทั้งโรงพยาบาลชุมชน ในอนาคตมันก็จะเป็นในทิศทางที่สดใส สำหรับบุคลากรที่อยู่ใน อบจ. อยู่แล้ว มีข้อเสนอแนะอยากให้ท่านเข้ามาเรียนรู้ และที่สำคัญกับหน่วยงานสาธารณสุขของจังหวัดคิดว่าการดำเนินงานจะไปได้ไม่ยาก เพราะตอนนี้สถาบันพระบรมราชชนกกำลังจะเปลี่ยนผ่านจากกองในกระทรวงสาธารณสุข มาเป็นมหาวิทยาลัย ก็มีลักษณะเดียวกันคือ อาจารย์มหาวิทยาลัยก็ไม่แน่ใจว่าจะมาหรือไม่มา จะปรับตัวอย่างไร หน่วยตั้งรับจะปรับตัวอย่างไร ซึ่งจริงๆแล้วมันไม่ยากเพราะมันคือการพูดคุยประสานกัน อะไรที่เป็นเชิงวิชาการที่ต้องการพัฒนาวิชาชีพเรามาพูดคุยกัน สถาบันพระบรมราชชนกยินดีให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่
ด้าน นายเลอพงศ์ ลิ้มรัตน์ ประธานคณะอนุกรรมการบริหารภารกิจถ่ายโอนด้านสาธารณสุข ให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กล่าวว่า ยังยืนยันชัดเจนว่า รพ.สต. ทั้งหมด 3,264 แห่ง และบุคลากรที่เป็นส่วนข้าราชการ 12,000 กว่าคน จะได้รับการจัดสรรเปลี่ยนกระเป๋าซ้ายกระเป๋าขวา มาที่ อบจ. เรียบร้อยแล้วแน่นอน ทั้งนี้ต้องขอบคุณบุคลากรที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ที่ช่วยในการคีย์ข้อมูลโดยเฉพาะอย่างยิ่งทางฝั่ง อบจ. นั้น บางคนต้องทำงานจนถึงเที่ยงคืน ขอย้ำอีกครั้งว่าในเรื่องงบประมาณนั้นจัดการเรียบร้อยแล้ว เงินเดือนบุคลากรก็มาแล้ว ส่วนเงิน s/m/l ก็มาด้วยเช่นเดียวกัน
ซึ่งในส่วนนี้ตามแนวทางนั้นเราก็มีเป้าประสงค์แบ่งเป็น 1 ล้าน / 1.5 ล้าน / 2 ล้าน แต่ด้วยสภาวะทางเศรษฐกิจและระบบการเงินของประเทศค่อนข้างที่จะอัตคัด ดังนั้น 512 แห่งแรก จึงได้มาคือ 4 แสน / 650,000 / 1 ล้าน ดังนั้นแล้วอีก 2,700 กว่าแห่ง ก็คงได้ลักษณะประมาณนี้เช่นกัน คงไม่เกิดความเหลื่อมล้ำ ตอนนี้เราเหลือเวลาแค่อีกเดือนเศษๆเท่านั้นในการที่จะเปลี่ยนผ่านตรงนี้ จากข้อมูลที่รับทราบมาทาง อบจ. ยังไม่มีการสำรวจทรัพย์สิน คุรุภัณฑ์ ที่ดินของ รพ.สต. เลย อยากจะฝากทางอบจ. ให้ดำเนินการต่อไปด้วยเช่นกัน
ขณะที่ศาสตราจารย์วุฒิสาร ตันไชย เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า กล่าวว่า ประการแรกคือ ขณะนี้โครงสร้างของระบบการบริหารสุขภาพมันถูกเปลี่ยน การมี สปสช. เข้ามาเป็นคนจ่ายเงิน ประการที่สองคิดว่า 20 ปีที่ผ่านมา พัฒนาการของความมีวุฒิภาวะและความมั่นคงขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเปลี่ยน นั่นก็คือ ความไว้วางใจ การมีบทบาท การทำหน้าที่ขององค์กรณ์ส่วนปกครองท้องถิ่นเปลี่ยนไปเยอะ และเก่งขึ้นเยอะ ทำงานหลากหลายขึ้น และที่สำคัญท้องถิ่นยังได้รับความไว้ใจจากประชาชน
นอกจากนี้บทพิสูจน์ของการถ่ายโอนโรงเรียน ที่ทำให้การถ่ายโอนโรงเรียนประสบความสำเร็จ เป็นบทพิสูจน์ค่อนข้างสำคัญที่ทำให้การถ่ายโอน รพ.สต. ครั้งนี้ อยู่ในบรรยากาศที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งเรื่องของระบบสุขภาพการทำงานมีความก้าวหน้าไปมาก ทุกวันนี้ประเด็นสุขภาพไม่ได้พูดเรื่องปัญหาการสร้าง นำซ่อม อย่างเดียว จึงทำให้เชื่อมโยงกับองค์กรท้องถิ่นง่ายขึ้น ประกอบกับองค์กรท้องถิ่นก็มีการจัดการบริหารเรื่องสุขภาพมามากพอสมควร อย่างน้อย 80 กว่าแห่งที่ถ่ายโอนและหน่วยงานท้องถิ่นที่ทำเรื่องสุขภาพกันเองก็มีมากพอสมควร
ซึ่งหลักสำคัญของการกระจายอำนาจคือ การเอาอำนาจการแก้ปัญหาไปไกล้ปัญหา นั่นคือ เอาอำนาจวิธีการตัดสินใจไปไว้ใกล้ปัญหาที่สุด ซึ่งในแง่ขององค์กรที่ทำหน้าที่ดูแลประชาชน องค์กรท้องถิ่นมีความใกล้ชิดประชาชนมากที่สุด ทั้งนี้ องค์การบริหารส่วนจังหวัดอาจจะดูมีระยะห่างกว่า แต่ที่สำคัญคือ องค์กรท้องถิ่นมีความแตกต่างจากหน่วยงานของรัฐ ตุรงที่ผู้บริหารมาจากการเลือกตั้ง มีความรับผิดชอบตามกฏหมาย มีความรับผิดชอบทางสังคม เชื่อว่าผู้บริหารท้องถิ่นทุกคนทำอะไรต้องคิดถึงลูกหลาน รวมถึงประชาชนในพื้นที่ เพราะเขาคือคนส่วนหนึ่งของสมาชิกสังคม ฉะนั้นจึงเป็นต้นทุนที่สำคัญมากในการที่จะทำให้การจัดการด้านสุขภาพวะของพี่น้องประชาชนตอบสนองโดยเร็ว
- 478 views