"วิจัยพัฒนาระบบบริการสุขภาพพื้นที่ห่างไกล: สวรส.-สสจ.น่าน สานความร่วมมือ เน้นพัฒนาระบบ Tele-health สู่การบริการสุขภาพ ทั่วถึง-เท่าเทียม-มีประสิทธิภาพ พร้อมสร้างงานวิจัย-นักวิจัย ตอบโจทย์การใช้ประโยชน์ได้จริง"
บนระยะทางอันห่างไกลและความหลากหลายของชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่จังหวัดน่าน มีความเฉพาะทั้งในแง่พื้นที่และผู้คน รวมถึงจำเป็นต้องมีการพัฒนาและแก้ปัญหาอย่างเข้าใจในพื้นฐานและบริบทของการใช้ชีวิตและความเป็นอยู่ การพัฒนาระบบบริการสุขภาพจึงเป็นความท้าทายที่ต้องตอบสนองให้เกิดการเข้าถึงบริการสุขภาพได้อย่างทั่วถึง เท่าเทียม และสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการแก้ปัญหาตามบริบทได้อย่างแท้จริง ดังนั้นการพัฒนาระบบสาธารณสุขในพื้นที่ห่างไกล จึงเป็นโจทย์สำคัญของการทำงานร่วมกันของสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดน่าน (สสจ.น่าน)
ซึ่งที่ผ่านมาทั้งสองหน่วยงานได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้บนเส้นทางของความร่วมมือกันมาโดยตลอด ตั้งแต่ พ.ศ. 2560 เพื่อเป้าหมายการพัฒนาระบบบริการสุขภาพ และการมีคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนในพื้นที่ห่างไกล ตลอดจนการพัฒนาเชิงระบบที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในพื้นที่ที่มีความคล้ายคลึงกัน และในปี พ.ศ. 2565 นี้ สวรส. และ สสจ.น่าน ได้ลงนามบันทึกความร่วมมือต่อเนื่องกันอีกครั้ง โดยมี นายธีรธัช กันตามระ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวรส. ทพ.จเร วิชาไทย ผู้จัดการงานวิจัย สวรส. และ ดร.จุไรรัตน์ พรหมใจ ผู้จัดการงานวิจัย สวรส. ร่วมลงนามความร่วมมือฯ กับ นพ.วรินทร์เทพ เชื้อสำราญ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดน่าน นายถนัด ใบยา หัวหน้ากลุ่มงานพัฒนาคุณภาพและรูปแบบบริการ
สสจ.น่าน และ นพ.คณิต ตันติศิริวิทย์ หัวหน้าศูนย์ประสานงานประชาคม จ.น่าน เมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2565 ณ โรงแรมน่านบูทิค โฮเทล แอนด์รีสอร์ท จังหวัดน่าน
นายธีรธัช กันตามระ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวรส. กล่าวว่า แม้ สวรส.จะมีการบริหารจัดการงานวิจัย ภายใต้กรอบและวัตถุประสงค์ที่กำหนด แต่งานวิจัยจะแก้ปัญหาและใช้ประโยชน์ได้จริงในพื้นที่ จำเป็นต้องศึกษาข้อมูลในพื้นที่นั้นๆ และมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน ปัญหาที่เกิดขึ้นในแต่ละพื้นที่ ทฤษฎีบางอย่างอาจใช้ไม่ได้เสมอไป บางสถานการณ์อาจต้องมีการผสมผสานกับการใช้องค์วามรู้ของภูมิปัญญาชาวบ้านร่วมด้วย สวรส.จึงให้ความสำคัญกับการพัฒนางานวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้ที่มาจากการเรียนรู้ร่วมกันกับคนหน้างานในพื้นที่ เพื่อสนับสนุนทั้งการสร้างความรู้และการสร้างนักวิจัยหน้าใหม่ ทั้งนี้บุคลากรด้านสาธารณสุขของจังหวัดน่าน มีความรู้ความสามารถเป็นทุนอยู่แล้ว ซึ่งการพัฒนานักวิจัยและการสร้างงานวิจัยร่วมกันจะช่วยเติมเต็มให้สามารถนำความรู้มาใช้ประโยชน์ได้เต็มศักยภาพมากยิ่งขึ้น ควบคู่กับการทำงานร่วมกับประชาคมจังหวัดน่านที่มีความเข้มแข็ง
นพ.วรินทร์เทพ เชื้อสำราญ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดน่าน ย้ำถึงความต่างและความเฉพาะของพื้นที่จังหวัดน่านว่า ประชากรบางแห่งของจังหวัดน่าน อยู่ในพื้นที่ห่างไกลและการเดินทางค่อนข้างลำบาก ระบบการแพทย์และสาธารณสุขของจังหวัดน่านจึงให้ความสำคัญกับการบริการสาธารณสุขมูลฐานหรือการบริการสุขภาพในระดับปฐมภูมิ
ซึ่งเป็นการให้บริการสุขภาพพื้นฐานที่มีความจำเป็นต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชากรจังหวัดน่าน โดยมีประเด็นมุ่งเน้นและปัญหาของจังหวัด เช่น อนามัยแม่และเด็ก เด็กปฐมวัย ผู้สูงอายุ คนพิการ สุขภาพจิตและการฆ่าตัวตาย อาหารปลอดภัย สมุรไพร อาหารเป็นยา เพื่อดูแลสุขภาพและสนับสนุนการท่องเที่ยว ระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิในพื้นที่ห่างไกล เทคโนโลยีสารสนเทศด้านสุขภาพ ฯลฯ ดังนั้นความร่วมมือระหว่าง สสจ.น่าน และ สวรส. จึงเน้นไปที่การพัฒนางานวิจัยที่สร้างองค์ความรู้ด้วยความเข้าใจในปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในพื้นที่ ควบคู่กับการพัฒนาบุคลากรสาธารณสุข โดยใช้วิธีคิดเชิงระบบ และกระบวนการวิจัยมาปรับใช้และพัฒนางานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ด้าน ดร.จุไรรัตน์ พรหมใจ ผู้จัดการงานวิจัย สวรส. กล่าวว่า ตั้งแต่ พ.ศ. 2560 นับเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของการสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่าง สวรส. และ สสจ.น่าน ซึ่งมีกระบวนการทำงานร่วมกันทั้งการสร้างความรู้โดยการสนับสนุนงานวิจัยที่เป็นโจทย์วิจัยเพื่อตอบสนองปัญหาในพื้นที่ เช่น การพัฒนาสุขศาลาพระราชทาน การพัฒนาระบบเฝ้าระวังผลกระทบทางสุขภาพโดยชุมชน กรณีมลพิษจากโรงไฟฟ้าถ่านหินหงสา ประเทศลาว ฯลฯ และการพัฒนาศักยภาพนักวิจัย ซึ่ง สวรส.เชื่อว่างานวิจัยจะเป็นองค์ความรู้เชิงประจักษ์ที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริงและช่วยแก้ปัญหาของประชาชนในพื้นที่อย่างเป็นระบบ
โดยมีประเด็นความร่วมมือสำคัญได้แก่ 1) การพัฒนาระบบ Tele-health เพื่อส่งเสริมให้เกิดการนำเทคโนโลยีการสื่อสารรูปแบบต่างๆ มาใช้ให้เกิดการเข้าถึงบริการสาธารณสุขของกลุ่มประชากรในพื้นที่ห่างไกล รวมถึงกลุ่มชาติพันธุ์ และกลุ่มเปราะบางต่างๆ 2) การประเมินผลกระทบ/ความคุ้มค่าและส่งเสริมการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ เช่น โครงการวิจัยสุขศาลาพระราชทาน โครงการส่งเสริมพัฒนาการและสร้างวินัยเชิงบวกในเด็กปฐมวัยโดยครอบครัวมีส่วนร่วม โครงการลดอุบัติเหตุทางถนน ฯลฯ 3) การพัฒนาโจทย์วิจัยใหม่และนักวิจัยหน้าใหม่
การลงนามความร่วมมือต่อเนื่องในครั้งนี้ มีผลบังคับใช้เป็นเวลา 3 ปี เริ่มตั้งแต่วันที่ 10 สิงหาคม 2565 เป็นต้นไป ซึ่งภายใต้ความร่วมมือดังกล่าว คาดหวังให้เกิดการสร้างความรู้ที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์หรือแก้ปัญหาในพื้นที่ได้จริง ควบคู่กับการพัฒนาศักยภาพนักวิจัย โดยจะสร้าง DNA ของนักวิจัย ให้อยู่ติดตัวกับบุคลากรด้านสาธารณสุขทุกคน
- 343 views