"อนุทิน" มอบรางวัลเข็มเชิดชูเกียรติ "ขุนประเมินวิมลเวชช์" 2 ท่าน "หมอประยูร" อดีตอธิบดีกรมควบคุมโรค ผู้วางรากฐานงานระบาดวิทยาประเทศไทย "หมอสมหวัง" คุมการติดเชื้อใน รพ.  และมอบรางวัล "หมอเกียรติภูมิ"  ปลัดสธ. นักระบาดวิทยาเกียรติยศนำองค์กรในการบริหารจัดการสถานการณ์การระบาดโรคโควิด 19 อย่างมีประสิทธิภาพ  

เมื่อวันที่ 15 ส.ค. ที่โรงแรมอัศวิน แกรน์ คอนเวนชัน กทม. นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดงานประชุมวิชาการป้องกันควบคุมโรคและภัยสุขภาพ จัดระหว่างวันที่ 15-16 ส.ค. 2565

พร้อมมอบรางวัลเข็มเชิดชูเกียรติ "ขุมประเมินวิมลเวชช์" ให้แก่ นพ.ประยูร กุนาศล อดีตอธิบดีกรมควบคุมโรคติดต่อ ปี 2535-2537 และผู้วางรากฐานงานระบาดวิทยาให้แก่ประเทศไทย และ ศ.เกียรติคุณ นพ.สมหวัง ด่านชัยวิจิตร ประธานคณะกรรมการด้านวิชาการโรคติดต่อ พร้อมมอบรางวัลนักระบาดวิทยาเกียรติยศนำองค์กรในการบริหารจัดการสถานการณ์การระบาดโรคโควิด 19 อย่างมีประสิทธิภาพ จากสมาคมเวชศาสตร์ป้องกันแห่งประเทศไทย แก่ นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัด สธ. รวมถึงโล่และประกาศนียบัตรรางวัลคุณภาพแห่งชาติการป้องกันควบคุมโรคและภัยสุขภาพ 4.0 ระดับพื้นที่ 6 รางวัล

นายอนุทินกล่าวว่า การระบาดของโควิดส่งผลกระทบต่อประชาชนและการปฏิบัติงานด้านสาธารณสุขอย่างมาก การเตรียมพร้อมก่อนเกิดเหตุจึงมีความสำคัญ ซึ่ง สธ.ไทยมีแพทย์ อาจารย์ และบุคลากรสาธารณสุขที่เข้มแข็ง มีการเตรียมพร้อมเป็นอย่างดี ทั้งพร้อมเรียนรู้ ปรับตัวให้ทันต่อสถานการณ์ ทำให้ควบคุมโควิดได้อย่างดี ได้รับการยอมรับจากนานาชาติว่าทำได้ดีอันดับต้นๆ ของโลก ทำให้ไทยได้รับเลือกให้จัดตั้งศูนย์ภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขและโรคอุบัติใหม่แห่งอาเซียน (ACPHEED) ในไทย เพราะเห็นผลงานการควบคุมโรค ซึ่งช่วงสิ้นเดือนนี้ในการประชุมเอเปคที่ สธ.เป็นเจ้าภาพ จะนำไปดูการเริ่มงานศูนย์นี้ ซึ่งกำลังจัดทำบันทึกข้อตกลงจัดตั้ง มีรายละเอียดเรื่องการเลือกเลขาธิการและเจ้าหน้าที่บริหารศูนย์

"ความสำเร็จเหล่านี้เป็นรากฐานที่ดีของไทย มีวันนี้ไม่ได้ ถ้าพื้นฐานที่วางไว้ไม่เข้มแข็งจากปูชนียบุคคลที่รับรางวัลในวันนี้ทั้ง 3 ท่าน ซึ่งผมไม่ใช่แพทย์แต่มาเป็น รมว.สธ.ก็เชื่อว่าแพทย์คงไม่มาหลอก จึงมีหน้าที่สนับสนุนทุกวิถีทางให้ภารกิจแพทย์และเพื่อนร่วมงานบรรลุวัตถุประสงค์ เฝ้าระวังรักษาโรค มีเงินซื้อยาและวัคซีน จัดตั้ง รพ.สนามมาตรฐานสูงสุด เหล่านี้เกิดได้เร็วเพราะมีพื้นฐานที่ดี" นายอนุทินกล่าว

นายอนุทินกล่าวว่า จากนี้สิ่งที่ต้องคิดคือสิ่งที่เสียไป 2-3 ปีจากโควิด ต้องมองว่าเป็นต้นทุนเพื่ออนาคตที่ดีและมั่นคงขึ้น เราต้องใช้ความเหนื่อยยากมาเป็นต้นทุนที่ใช้สร้างความเจริญทางเศรษฐกิจ สังคม และคุณภาพชีวิตคนไทยให้กลับคืนมาสมกับรากฐานที่อาจารย์ทั้งหลายวางไว้ อย่างเราก็ได้รับการประเมินปลายทางให้เป็นประเทศที่คนอยากเดินทางมาท่องเที่ยวและลงทุน หรือหลายประเทศที่จะย้ายฐานการผลิตจากไทยไปเพื่อนบ้านก็อยู่ที่เดิมและยังขยายตัวด้วย ซึ่งเราก็มีอีอีซีรองรับ นอกจากนี้ ยังพยายามเดินหน้าไปสู่การเป็นศูนย์กลางด้านการแพทย์และสุขภาพหรือเมดิคัล ฮับด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ประวัติผู้ได้รับรางวัลขุนประเมินวิมลเวชช์ทั้ง 2 ท่าน คือ 1.นพ.ประยูรกุนาศล เป็น 1 ใน 3 อาจารย์แพทย์ผู้วางรากฐานให้วงการระบาดวิทยาของประเทศไทย โดยร่วมก่อตั้งกองระบาดวิทยา เพื่อดำเนินการเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรค จนทำให้หยุดยั้งโรคระบาดและโรคติดต่อร้ายแรง และสามารถกำจัดโรคติดต่อให้หมดจากประเทศไทยได้ เช่น กาฬโรค คุดทะราด และไข้ทรพิษ โดยเฉพาะโรคไข้ทรพิษที่ลงไปสอบสวนโรคการระบาดครั้งใหญ่ในภาคใต้และควบคุมการระบาดครั้งสุดท้ายที่ อ.แม่สาย จ.เชียงราย หลังจากนั้นไข้ทรพิษไม่เคยระบาดในไทยอีกเลย

นอกจากนี้ ยังใช้ความรู้ด้านระบาดวิทยาควบคุมโรคติดต่อสำคัญไม่ให้ส่งผลกระทบวงกว้าง เช่น โรคซาร์ส โรคไข้หวัดใหญ่ โรคไข้หวัดนก โรคเมอร์ส และโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา เป็นต้น ผลักดันสาธารณสุขไทยมีการเขียนบัตรรายงานผู้ป่วยโรคติดต่อที่ได้มาตรฐานสากลในวงการระบาดวิทยาของโลกปี 2523 ริเริ่มและผลักดันการฝึกอบรมผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยาภาคสนาม จนเป็นหลักสูตรที่แพทยสภารับรองและอนุมัติบัตรรุ่นแรกในปี 2528 และกลายเป็นโครงการระดับนานาชาติตามคำรับรองขององค์การอนามัยโลกและอาเซียน

และ 2.ศ.เกียรติคุณ นพ.สมหวัง ด่านชัยวิจิตร เป็นผู้บุกเบิกสาขาวิชาโรคติดเชื้อใน รพ.ศิริราช ดำเนินการป้องกันและควบคุมการติดเชื้อใน รพ. ตั้งแต่ปี 2530 ทำให้การป้องกันและควบคุมการติดเชื้อให้เป็นที่รู้จัก ยอมรับ และปฏิบัติในไทย วางระบบงานป้องกันและควบคุมการติดเชื้อในทุก รพ. เขียนตำรา แนวปฏิบัติและงานวิจัยที่ส่งเสริมผลักดันให้มีบุคลากรทั้งแพทย์ พยาบาล นักเทคนิคการแพทย์ ในการปฏิบัติงานควบคุมป้องกันการติดเชื้อใน รพ. ช่วยลดอัตราการติดเชื้อใน รพ.ในไทยจาก 11.7% ในปี 2530 เหลือ  4.3% ในปี 2564 จนลดผู้ป่วยติดเชื้อใน รพ.ลงปีละ 8 แสนคน และลดผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อปีละ 8 หมื่นคน และลดค่าใช้จ่ายได้มาก จนกระทั่งประเทศไทยสามารถควบคุมโรคระบาดได้ดี ได้แก่ ไข้หวัดนก โรคซาร์ส ไหวัดใหญ่ 2009 โรคเมอร์สและโรคโควิด 19 มีการประดิษฐ์เครื่องมือที่ได้รับการขึ้นทะเบียนอนุสิทธิบัตร 5 รายการ ได้แก่ เครื่องอบไอน้ำฆ่าเชื้อ กล่องทิ้งเข็มใช้แล้ว เครื่องคลุกแป้งบนถุงมือ กล่องเก็บเสมหะ และภาชนะเก็บปัสสาวะ-อจจาระ

ขณะที่ นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัด สธ.ได้รับรางวัลจากการบริหารสถานการณ์โควิด 19 โดยมีการคิดกลยุทธ์ในการควบคุมโรคต่างๆ เช่น Bubble and Seal , ขนมครก , การตั้ง รพ.บุษราคัม การใช้คำสื่อสารง่ายๆ เช่น กลุ่ม 608 ทำให้สามารถสื่อสารได้เข้าใจทั้งประชาชนและรัฐบาล นำมาสู่การควบคุมโรคอย่างมีประสิทธิภาพ

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org