"อนุทิน" นำทีมแถลงความพร้อมเจ้าภาพจัดประชุม APEC Health Week  วันที่ 22-26  ส.ค.นี้ มี 21 เขตเศรษฐกิจเอเปคเข้าร่วม พร้อม 3 ผู้นำระดับสูงหน่วยงานระหว่างประเทศ เร่งหารือสร้างความสมดุลสาธารณสุขและเศรษฐกิจ กับ การลงทุนความมั่นคงด้านสุขภาพ เตรียมนำเสนอแนวทางรับมือโควิดของไทย และเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่สอดคล้องนโยบาย BCG Economy

เมื่อวันที่ 15 ส.ค. ที่กระทรวงสาธารณสุข  นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ร่วมแถลงข่าวการประชุมระดับสูงเอเปคว่าด้วยสาธารณสุขและเศรษฐกิจ ครั้งที่ 12 และการประชุมคณะทำงานด้านสุขภาพของเอเปค (ครั้งที่ 2/2565)

นายอนุทิน  กล่าวว่า ในปี 2565 ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปค ภายใต้หัวข้อหลัก “เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล” สนับสนุนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน และผลักดันนโยบายเศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green (BCG) Economy) โดยในส่วนของกระทรวงสาธารณสุขเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับรัฐมนตรีสาธารณสุขของเขตเศรษฐกิจเอเปคภายใต้หัวข้อ “Open to partnership. Connect with the World. Balance Health and the Economy. หรือ เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์กับภาคี เชื่อมโยงกันกับโลก สู่สมดุลระหว่างสาธารณสุขและเศรษฐกิจ” ซึ่งเป็นการจัดประชุมด้านสาธารณสุขครั้งแรกของประเทศไทย (APEC Health Week) ระหว่างวันที่ 22-26 สิงหาคม 2565 ที่โรงแรมมิลเลนเนียม ฮิลตัน กรุงเทพฯ 

โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมระดับรัฐมนตรีสาธารณสุขจากเขตเศรษฐกิจเอเปค ได้แก่ บรูไนดารุสซาลาม อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ จีนไทเป ไทย สหรัฐอเมริกา และเวียดนาม เข้าร่วมแบบออนไซต์ และมี จีน จีนฮ่องกง เกาหลีใต้ และรัสเซีย เข้าร่วมในรูปแบบออนไลน์ รวมถึงมีผู้นำระดับสูงของหน่วยงานระหว่างประเทศ 3 ท่าน ได้แก่ 1. เลขาธิการอาเซียน 2. รองประธานธนาคารพัฒนาเอเชีย และ 3. ผู้อำนวยการบริหารสำนักงานเลขาธิการเอเปค และมีข้าราชการระดับสูงและภาคเอกชนเข้าร่วมประชุมอีกกว่า 150 คน

นายอนุทินกล่าวว่า การจัดประชุมดังกล่าวมี 4 เป้าหมาย เพื่อระดมสมอง แลกเปลี่ยนประสบการณ์ และกำหนดทิศทางการทำงานร่วมกัน เพื่อสร้างความร่วมมือด้านการแพทย์และการสาธารณสุข เพื่อแสดงศักยภาพด้านการแพทย์และการสาธารณสุขของไทย และเพื่อเผยแพร่วัฒนธรรมและประเพณีอันงดงามของไทยซึ่งประกอบด้วย 10 กิจกรรม ได้แก่ การหารือทวิภาคีกับ 3 เขตเศรษฐกิจ, การประชุมวิชาการเรื่องครอบครัวคุณภาพและโรคมะเร็งปากมดลูก , การประชุมรัฐมนตรีสาธารณสุขและภาคเอกชนในรูปแบบการเสวนาเรื่องการสร้างสมดุลระหว่างสุขภาพและเศรษฐกิจ (Balancing Health and the Economy) โดยเฉพาะหลังสถานการณ์ระบาดโควิด 19 ที่จะต้องฟื้นตัวให้เร็ว และการประชุมโต๊ะกลม (Round Table) เรื่องการลงทุนด้านสุขภาพ (Investment in Global Health Security) เพื่อเป็นการกระตุ้นและตอกย้ำให้ทุกเขตเศรษฐกิจเพิ่มการลงทุนด้านสุขภาพ เพื่อรองรับการระบาดต่าง ๆ

นอกจากนี้ ยังมีการศึกษาดูงานความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทางการแพทย์ของไทยให้กับเจ้าหน้าที่ระดับนโยบายที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย อาทิ ศูนย์โปรตอน สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ , ศูนย์สมเด็จพระเทพฯ แก้ไขความพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะ และสำนักงานบรรเทาทุกข์และประชานามัยพิทักษ์ สภากาชาดไทย รวมถึงช่วงบ่ายวันที่ 26 สิงหาคม 2565 และประเทศไทยจะทำการแนะนำสถานที่ตั้งสำนักงานเลขาธิการของศูนย์อาเซียนด้านการรับมือกับภาวะฉุกเฉินและโรคอุบัติใหม่ (ACPHEED : ASEAN Center for Public Health Emergencies and Emerging Diseases) ที่บางรักด้วย

ด้าน นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขมีความพร้อมอย่างเต็มที่ในการเตรียมงาน APEC Health Week ในครั้งนี้ ทั้งการเฝ้าระวังโรคโควิด 19 การเตรียมความพร้อมด้านการแพทย์ มีระบบการแพทย์ฉุกเฉิน โดยจัดทีมแพทย์ประจำสถานที่จัดประชุมที่โรงแรมมิลเลนเนียม ฮิลตัน ตลอด 24 ชั่วโมง และเตรียมระบบรับส่งต่อกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน รวมถึงความปลอดภัยด้านการจราจรในวันประชุม APEC ส่วนการจัดบูธนิทรรศการ ประกอบด้วย กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ร่วมกับภาคเอกชน จัดนิทรรศการ ภายใต้แนวคิด “Thailand Global Healthcare Destination” เพื่อผลักดันให้เกิดศูนย์กลางด้านสุขภาพ Medical Hub ในไทย มีการนำเสนอการนวดไทยและสปา และมีการนำเสนอบทบาทของ อสม. ในการรับมือกับโรคโควิด 19 
กรมแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก นำเสนอ การวิจัยพัฒนา สกัด และผลิตภัณฑ์สมุนไพรเชิงเศรษฐกิจ , กรมการแพทย์ เรื่องเทคโนโลยีทางการแพทย์ของไทย เช่น Personal Based Medicine และ กัญชาเพื่อการแพทย์ และกรมควบคุมโรค เรื่องความสำเร็จในการป้องกันและควบคุมโรค ส่วนช่วงค่ำวันที่ 25 สิงหาคม จัดให้มี GALA dinner แก่ผู้เข้าร่วมประชุม มีการแสดง และจัดเตรียมเสื้อภูอัคนี ย้อมดินภูเขาไฟ สำหรับรัฐมนตรีสาธารณสุขและผู้เข้าร่วมประชุม

สำหรับการศึกษาดูงานที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ในวันที่ 24 สิงหาคม 2565 เพื่อนำเสนอการขับเคลื่อนด้านการแพทย์และการสาธารณสุขในรูปแบบเทคโนโลยีและนวัตกรรม ที่ก้าวหน้าทันสมัย สอดคล้องกับนโยบายเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG models) ที่ได้รับการนำเสนอเพื่อขับเคลื่อน APEC 2022 ให้เกิดการฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ยั่งยืน ครอบคลุม และสมดุล หลังการแพร่ระบาดของโควิดที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของหลายประเทศ โดยเน้นการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาช่วยเหลือผู้ประกอบธุรกิจ มุ่งหวังให้สร้างความสมดุลในทุกด้าน

นอกจากนี้ กระทรวงสาธารณสุขยังจัดเตรียมทีมเจ้าหน้าที่ประสานงาน (Liaison Officer) จำนวน 51 คน จากหลายภาคส่วน ทั้งกรมการท่องเที่ยว การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย การกีฬาแห่งประเทศไทย สำนักงานปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กองบัญชาการตำรวจท่องเที่ยว องค์การบริหารพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน และนักศึกษาโครงการเครือข่ายเยาวชน MICE ในการดูแลผู้เข้าร่วมประชุม และจัดเตรียมของที่ระลึก อาทิ ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวหน้า ผลิตภัณฑ์เครื่องหอมไทย น้ำมันหอมระเหยสำหรับผู้เข้าร่วมประชุมด้วย

สำหรับสมาชิก APEC ปัจจุบันมี 21 เขตเศรษฐกิจ ได้แก่ ออสเตรเลีย แคนาดา ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จีน จีนฮ่องกง นิวซีแลนด์ สหรัฐอเมริกา บรูไนดารุสซาลาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ ไทย จีนไทเป ชิลี เม็กซิโก ปาปัวนิวกินี เปรู รัสเซีย และเวียดนาม

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org