กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์แจงแนวทางตรวจสอบสารพิษในอาหาร ของผู้นำการประชุมเขตเศรษฐกิจเอเปค ชี้เป็นการตรวจภาวะการเกิดพิษของร่างกายด้วยเอนไซม์ Anty Cholinesterase ที่จะเกิดขึ้นหากรับสารพิษเข้าไป พร้อมย้ำขั้นตอนการตรวจมี 2 ทาง คือ 1.ผู้ประกอบการอาหารส่งเมนูให้พิจารณาว่า มีวัตถุดิบเสี่ยงเกิดสารพิษหรือไม่ และ2.จัดทีมลงไปตรวจหน้างาน เพื่อสุ่มตรวจก่อนเสิร์ฟ
เมื่อวันที่ 15 พ.ย. นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ให้สัมภาษณ์ถึงแนวทางการตรวจสอบสารพิษอาหารในการประชุมสัปดาห์ผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ว่า เรื่องความปลอดภัยของอาหารในการประชุมเอเปคจะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ 1.การให้คำแนะนำในการปรุงอาหารให้สุก สะอาด ปลอดภัยตามหลักสุขาภิบาลอาหาร เป็นหน้าที่ของกรมอนามัย และ 2.การตรวจสารพิษที่จะปนมาในอาหาร โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เช่น สารโลหะหนัก สารหนูต่างๆ แต่ไม่ได้ตรวจถึงขั้นมีเชื้อโรคอะไร เนื่องจากต้องใช้เวลา ซึ่งจะตรวจเฉพาะมื้อสำคัญที่ถูกกำหนดไว้แล้ว เช่น รัฐบาลหรือนายกรัฐมนตรีเป็นเจ้าภาพ ผู้ร่วมรับประทานเป็นแขกที่สำคัญ ไม่ได้ตรวจทุกชามทุกคน ทั้งนี้ ในการตรวจก็จะมีทั้งการตรวจวัตถุดิบที่ใช้ปรุงอาหาร และจะมีการสุ่มตรวจตัวอย่างอาหารที่ปรุงเสร็จแล้วด้วย
ด้าน นางเลขา ปราสาททอง ผอ.สำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จะตรวจในส่วนของอาหารผู้นำและภริยาผู้นำ ซึ่งไม่ใช่การเลือกปฏิบัติ เนื่องจากผู้ติดตามจะใช้อาหารจากโรงแรมต่างๆ ที่มีการควบคุมดูแลมาตรฐานผู้ประกอบการ แต่อาหารผู้นำจะมีเมนูที่นอกเหนือจากโรงแรมด้วย โดยการตรวจว่ามีสารพิษผสมหรือไม่นั้น จะใช้หลักการตรวจภาวะเป็นพิษที่เรียกว่า แอนตีโคลีนเอสเตอเรส (Anty Cholinesterase) ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่ร่างกายจะผลิตออกมาเมื่อได้รับสารพิษเข้าไป โดยขั้นตอนการตรวจนั้นทางผู้ประกอบการอาหารจะส่งเมนูให้เราดูก่อน เพื่อพิจารณาว่าเมนูนั้นๆ วัตถุดิบอะไรที่น่าจะเป็นตัวเสี่ยงต่อสารพิษ ก็จะส่งมาให้กรมฯ ตรวจก่อนที่จะสั่งวัตถุดิบล็อตใหญ่มาปรุงเสิร์ฟวันนั้น
นอกจากนี้ ยังมีการจัดทีมลงไปตรวจหน้างานอย่างใกล้ชิด เพื่อสุ่มตรวจก่อนเสิร์ฟด้วย โดยจะเก็บอาหารที่ปรุงเสร็จแล้วมา 1 ชุด เช่น ถ้าเสิร์ฟ 50 ชุด ก็ต้องเก็บให้เราเพิ่มอีก 1 ชุด เพื่อนำมาตรวจก่อนเสิร์ฟ โดยใช้ชุดทดสอบอย่างง่าย ใช้เวลาประมาณ 15-20 นาที ซึ่งจะมีการกำหนดว่าจะเก็บตัวอย่างก่อนเป็นเวลานานเท่าใด เชื่อว่าไม่กระทบเรื่องของการเสิร์ฟอาหารต่อผู้นำ
"ดังนั้น การตรวจจึงไม่ใช่การตรวจว่าในอาหารนั้นมีสารพิษสารปนเปื้อนอะไรอยู่บ้าง แต่เป็นการตรวจจากเอนไซม์ในร่างกายเราเมื่อได้รับสารพิษ ว่าหากรับสารพิษจะมีสารเอนไซม์ตัวนี้ออกมา โดยจะมีค่ามาตรฐานอยู่ ว่าถ้าเกินระดับเท่านี้ถือว่าเป็นพิษและเป็นอันตรายต่อร่างกาย และหากสมมติว่าเกิดกรณีขึ้นมาว่าเป็นพิษต่อร่างกายก็จะเอาตัวอย่างไปตรวจว่าเจอะสารพิษอะไรบ้าง รวมถึงกรมวิทย์เป้นหน่วยงานกลาง หลังจากทดสอบแล้วก็จะเก็บตัวอย่างอาหารไว้ที่อุณหภูมิระดับติดลบ เพื่อรักษาตัวอย่างอาหารไว้ หากเกิดกรณีที่มีข้อสงสัยต่างๆ ขึ้นมาก็จะเอาตัวอย่างจากเราไปตรวจเพิ่มเติมได้" นางเลขากล่าว
- 204 views