กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เผยโอมิครอน BA.4/BA.5 พบมากกว่า 90% ในเขตกรุงเทพฯ และ 80% ในภูมิภาค โดยยังไม่สรุปว่า BA.5 รุนแรงมากกว่า BA.1 หรือ BA.2 ส่วนสายพันธุ์ BA.2.75 ขณะนี้มี 5 ราย เริ่มตรวจเฝ้าระวังในระดับพื้นที่ ส่วน BA.4.6 ที่พบมากในยูเค และสหรัฐ ยังไม่พบว่าแพร่เร็วหรือรุนแรง เหตุพบเชื้อตั้งแต่ปี 2020 ส่วนไทยไม่พบสายพันธุ์นี้
เมื่อวันที่ 8 ส.ค. 2565 ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงข่าวประเด็น "การเฝ้าระวังสายพันธุ์โควิด 19 ว่า จากการตรวจสายพันธุ์โอมิครอน ระหว่างวันที่ 30 ก.ค.-5 ส.ค.2565 ตรวจทั้งหมด 382 ตัวอย่าง พบว่า BA.1 อยู่ 1 ตัวอย่าง ส่วน BA.2 มี 58 ตัวอย่าง ส่วน BA.4/BA.5 พบ 322 ตัวอย่าง ส่วนBA.2.75 พบ 1 ตัวอย่างในสัปดาห์ที่ผ่านมา ขณะที่ผู้เดินทางมาจากต่างประเทศพบ 22 ตัวอย่าง ส่วนในประเทศมี 360 ตัวอย่าง
ทั้งนี้ กลุ่มที่เดินทางจากต่างประเทศส่วนใหญ่เป็น BA.4/BA.5 ส่วนในประเทศก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ หากแบ่งเป็นกรุงเทพฯ ใครที่ติดเชื้อโควิดในกรุงเทพฯ พบว่าประมาณ 92% เป็น BA.4/BA.5 ส่วนภูมิภาคขึ้นมาประมาณ 80% แล้ว อย่างไรก็ตาม การตรวจมากๆ ในเบื้องต้นเราแยกการตรวจระหว่าง BA.4/BA.5 ออกจากกันไม่ได้ แต่เมื่อถอดรหัสพันธุกรรมจำนวน 411 ตัวอย่าง พบว่า BA.4 มี 90 ตัวอย่าง ส่วน BA.5 มี 317 ตัวอย่าง และ BA.2.75 พบ 4 ตัวอย่าง ดังนั้น BA.5 เร็วจริง และเทียบกับ BA.4 ย่อมเร็วกว่า ซึ่งสอดคล้องกับทั่วโลก
สำหรับเรื่องความรุนแรงจะสรุปยากขึ้นเรื่อยๆ เพราะเกือบทั้งหมดติด BA.4/BA.5 หมดแล้ว การจะแยกว่า เทียบกับของเดิมจะทำได้ยากขึ้น สรุปเบื้องต้นก็ไม่ได้แตกต่างกันมาก เพราะติดเชื้อ BA.4/BA.5 ไปมากแล้ว และอาจมีเฟกเตอร์อื่นๆที่มีผลต่อเรื่องนี้ จึงสรุปไม่ได้ว่า BA.5 รุนแรงกว่า BA.1 /BA.2 มากแค่ไหน แต่น่าไม่ต่างกันมาก
อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวอีกว่า ส่วนกรณีโอมิครอนสายพันธุ์อื่น อย่าง BA.2.75 ที่เคยเป็นประเด็นในอินเดีย มีการรายงานข้อมูลไป Gisaid พบ 1,434 รายทั่วโลก โดยสำหรับประเทศไทย ขณะนี้พบ 5 ราย โดยเราได้ตรวจแบบถอดรหัสพันธุกรรมทั้งตัว และในสัปดาห์หน้าในสัดส่วนพื้นที่อื่นๆก็จะสามารถตรวจได้แล้ว ดังนั้น ต่อไปจะทำให้ทราบถึงสัดส่วนได้ครอบคลุมขึ้น
** โดยผู้ติดเชื้อ BA.2.75 ในไทยจำนวน 5 รายราย ประกอบด้วย
1.ชายไทย อายุ 53 ปี ภูมิลำเนาอยู่ที่จ.ตรัง วันที่ 23-24 มิ.ย.2565 เดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัวไปประชุมสโมสรโรตารี ที่ภูเก็ต ที่มีชาวต่างชาติร่วมประชุมด้วย วันที่ 28 มิ.ย. มีอาการป่วย เจ็บคอ มีเสมหะ ไอ ไม่มีไข้ ไม่มีอาการปอดอักเสบ
2.ชายไทย อายุ 62 ปี ภูมิลำเนาอยู่ที่จ.แพร่ เข้าร่วมประชุม ณ สโมสรโรตารี วันที่ 3 ก.ค. เริ่มมีอาการไอ มีเสมหะ เจ็บคอ ไข้ ปวดศรีษะ หายใจเหนื่อย ทั้งนี้ ไม่แน่ใจว่าติดจากลูกสาวหรือไม่ เนื่องจากลูกเดินทางไปกรุงเทพฯ พักกับเพื่อนที่ป่วยโควิด ลูกสาวป่วยกักตัวที่คอนโด 10 วัน แล้วเดินทางกลับมาบ้านที่แพร่
3.ชายไทยอายุ 18 ปี ภูมิลำเนาอยู่ที่จ.น่าน อาการไข้ ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก 14 วันก่อนป่วยมีประวัติสัมผัสผู้ป่วยยืนยันโรคติดเชื้อโควิดที่โรงเรียน โดยมีการติดเชื้อเป็นกลุ่มก้อน
4.ชายไทย อายุ 62 ปี ภูมิลำเนาอยู่ที่จ.สงขลา อาชีพข้าราชการบำนาญ เป็นผู้ป่วยติดเตียงตั้งแต่ปี 2560 ไม่เคยได้รับวัคซีน รายนี้อาการหนักกว่าทั้ง 5 คน ทั้งนี้ ไม่รับวัคซีนโดยให้ข้อมูลว่าแพ้ง่าย แต่จริงๆ อาจเข้าใจคลาดเคลื่อน อย่างไรก็ตาม เริ่มป่วยด้วยอาการไข้ 38 องศาเซลเซียส รพ.สงขลา ตรวจพีซีอาร์ ผลเป็นบวกรักษาตัวในวอร์ดปกติ 2 วัน หลังจากนั้นเข้าไอซียู ใส่ท่อช่วยหายใจ
5.หญิงไทย อายุ 85 ปี ภูมิลำเนาอยู่ที่กรุงเทพฯ เป็นผู้ป่วยติดเตียง
"ทั้งนี้ ต่อไปอาจเห็นสัดส่วนสายพันธุ์ BA.2.75 มากขึ้นในกรณีหากติดเร็วจริง ก็จะพบเปอร์เซ็นต์สูงขึ้น แต่หากไม่เร็วจริง สักพักก็จะหายไป" นพ.ศุภกิจ กล่าว
นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า การระบาดโควิดในไทย ขณะนี้เป็นสายพันธุ์ BA.4/BA.5 เป็นส่วนใหญ่ โดยพบมากกว่า 90% ในเขตกรุงเทพฯ และ 80% ในภูมิภาค โดยเป็น BA.5 ต่อBA.4 ประมาณ 4 ต่อ 1 อย่างไรก็ตาม ข้อมูลเท่าที่มียังไม่สามารถสรุปว่า BA.5 มีความรุนแรงมากกว่า BA.1 หรือ BA.2 มากน้อยเพียงใด ส่วนสายพันธุ์ BA.2.75 ขณะนี้มี 5 ราย จากการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งตัว และเริ่มตรวจเฝ้าระวังในระดับพื้นที่เพิ่มเติม
**เมื่อถามถึงโควิดสายพันธุ์ BA.4.6 มีความรุนแรงหรือไม่อย่างไร
นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า การกลายพันธุ์เป็นเรื่องปกติ มีการกลายพันธุ์ตลอดเวลา โดย BA.4.6 เป็นสายพันธุ์ย่อยของโอมิครอน จริงๆเกิดตั้งแต่ปี 2020 ณ วันนี้มีข้อมูลในจีเสสประมาณ 6,819 ตัวอย่างเจอในหลายประเทศมากบ้างน้อยบ้าง แต่ที่เป็นประเด็น คือ เดือน ก.ค.ที่ผ่านมาเจอตัวเลขที่สูงในบางประเทศ เช่น ในUK ในสหรัฐ แต่องค์การอนามัยโลกยังไม่ได้จัดให้เป็นอะไร แต่รับรู้ว่ามีการกลายพันธุ์ ซึ่งตำแหน่งกลายพันธุ์คล้ายเดลตา และเบตาบางส่วน จึงยังไม่มีข้อมูลว่าหลบภูมิฯได้มากน้อยแค่ไหน หรือแพร่เร็วกว่าเดิมแค่ไหน แต่ถ้าแพร่เร็วก็น่าจะเห็นแล้วเพราะมาตั้งแต่ปี 2020 จึงต้องจับตา แต่ประเทศไทยยังไม่พบสายพันธุ์นี้
อ่านข่าวอื่น : กรมวิทย์ทดสอบภูมิคุ้มกันคนไทยเคยปลูกฝีดาษ ศึกษา 3 กลุ่มอายุ " 40 -50-60 ปี" คาด 1 สัปดาห์รู้ผล!
*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org
- 2175 views