อบจ.โคราช จัดอบรมแผนพัฒนาสุขภาพระดับพื้นที่ ให้ 182 รพ.สต. รองรับก่อนการถ่ายโอนภารกิจสู่ท้องถิ่น เน้นย้ำการดูแลสร้างเสริมสุขภาพ นำหน้าการรักษาพยาบาล พร้อมยึดเอาความต้องการของประชาชนเป็นตัวตั้ง ด้านรองเลขาฯ องค์กรสานพลัง เชื่อท้องถิ่นมีพลังจากหน้าที่ยึดโยงประชาชน ช่วยให้คนในพื้นที่มีสุขภาวะที่ดีขึ้นได้

เมื่อวันที่ 1-2 ส.ค. 2565 ที่ จ.นครราชสีมา ได้มีการจัดโครงการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการถ่ายโอนภารกิจสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินี และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ให้แก่องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) โดยมีตัวแทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ อบจ.นครราชสีมา สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ รพ.สต. ที่ขอรับการถ่ายโอนไปยัง อบจ.นครราชสีมา รวม 182 แห่ง เข้าร่วมประชุมและแสดงความคิดเห็น เพื่ออบรมจัดทำแผนพัฒนาสุขภาพระดับพื้นที่ร่วมกับคณะกรรมการสุขภาพระดับพื้นที่ (กสพ.) ให้นำไปสู่การพัฒนาระบบสุขภาวะที่ดีของประชาชนใน จ.นครราชสีมา

นายวีระชาติ ทุ่งไผ่แหลม รองนายก อบจ.นครราชสีมา เปิดเผยว่า การจัดทำแผนพัฒนาสุขภาพระดับพื้นที่ของ จ.นครราชสีมา ประจำปี 2565 จะสอดรับกับนโยบายด้านสาธารณสุข 9 ข้อของ อบจ. ซึ่งประกอบด้วย 1. สนับสนุน ส่งเสริม พัฒนาระบบสุขภาพปฐมภูมิเข้มแข็ง 2. บูรณาการระบบดูแลสุขภาพแบบองค์รวม 3. นำร่องระบบบริการถ้วนหน้าของ รพ.สต. 4. ส่งเสริมให้มีระบบการแพทย์ทางเลือก

5. น้อมนำศาสตร์พระราชาสู่การพัฒนาด้านสาธารณสุขท้องถิ่น 6. ส่งเสริมการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพ ด้วยนวัตกรรมให้อาหารเป็นยาและสมุนไพรเพื่อสุขภาพ 7. พัฒนาสมรรถนะอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เจ้าหน้าที่ และผู้บริหารด้านสาธารณสุข 8. จัดทำ Big data ของ รพ.สต.และ 9. พัฒนาระบบดูแลผู้สูงอายุ

นายวีระชาติ กล่าวว่า นโยบายทั้ง 9 ด้าน มีความจำเป็นที่จะต้องนำมาประกอบรวมในการจัดทำแผนดูแลสุขภาพของประชาชน และให้สอดรับกับการถ่ายโอนภารกิจ รพ.สต. มายัง อบจ.นครราชสีมา ให้มีการดำเนินการต่อเนื่องและพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นกว่าเดิม อย่างไรก็ตามยอมรับว่าในบางพื้นที่ยังไม่ได้มีการถ่ายโอน รพ.สต. มายัง อบจ. แต่ก็ต้องมองว่าจะทำอย่างไรเพื่อให้เกิดการทำงานร่วมกันได้อย่างมีเอกภาพ เพื่อให้ประชาชนทุกคนได้รับบริการ และการดูแลสุขภาพอย่างเท่าเทียม ซึ่งจะต้องแสวงหาความร่วมมือร่วมกันต่อไป

ขณะที่ นพ.ปรีดา แต้อารักษ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า นโยบายด้านสาธารณสุข ทั้ง 9 ข้อ เป็นการนำเอาความต้องการของประชาชนมาจัดทำ และยังเป็นเอกภาพทางการเมืองของ อบจ.นครราชสีมา ที่มีทิศทางการดำเนินการร่วมกัน ซึ่งจะช่วยทำให้ความสำเร็จของการทำงานเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมได้ ขณะที่การถ่ายโอนภารกิจ รพ.สต. สู่ อบจ.นครราชสีมา ก็ต้องชื่นชมวิสัยทัศน์ภาคการเมืองท้องถิ่น ที่ไม่ได้มองเรื่องของงบประมาณในการถ่ายโอนเป็นหลัก หากแต่มองถึงความต้องการบริการสาธารณสุขอันพึงประสงค์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง

นอกจากนี้ การออกแบบนโยบายด้านสาธารณสุขที่มีผลต่อสุขภาวะของคนในพื้นที่ หากเป็นนโยบายเพียงด้านเดียวจากผู้มีอำนาจ ก็อาจไม่ตอบสนองความต้องการของประชาชนได้ แต่หากเป็นนโยบายที่มีส่วนร่วมของประชาชน ที่สามารถกำหนดนโยบายที่มีผลต่อสุขาวะของชุมชนได้เอง ก็จะยิ่งสร้างความเข้มแข็งด้านสุขภาพแบบองค์รวมได้ดียิ่งขึ้น

นพ.ปรีดา กล่าวว่า ระบบบริการสาธารณสุข จะมีขอบเขตที่กว้างกว่าระบบบริการทางการแพทย์ เพราะเกี่ยวข้องกับการป้องกันโรค ที่มีปัจจัยสาเหตุของปัญหาสุขภาพมาจากสังคม ซึ่งการถ่ายโอนภารกิจของ รพ.สต. มาให้ อบจ. จึงมีความเหมาะสมในแง่ของการตัดสินใจตามอำนาจหน้าที่ของท้องถิ่นในการดูแลประชาชนให้ตรงกับความต้องการ อีกทั้งท้องถิ่นให้ความสำคัญกับเรื่องสุขภาวะของชุมชนมากขึ้น ซึ่ง

นพ.ปรีดา กล่าวด้วยว่า ความตั้งใจในการขับเคลื่อนงานระบบบริการสุขภาพของท้องถิ่น บวกกับความมุ่งมั่นของบุคลากร รพ.สต. ที่ไม่ได้มองว่าเป็นข้าราชการสังกัดใด แต่ตั้งใจทำงานเพื่อสุขภาวะของประชาชนเป็นหลัก จะเป็นพลังสำคัญที่จะทำให้งานถ่ายโอนภารกิจ รพ.สต. เกิดความสำเร็จ ทำให้การบริการสุขภาพดีขึ้นกว่าเดิม และมีความยั่งยืนต่อไป

“ท้องถิ่นเห็นความทุกข์ประชาชน จากบริบทของระบบสุขภาพมูลฐานต่างๆ ได้เป็นอย่างดี และสามารถตัดสินใจได้ตามอำนาจหน้าที่ จะต่างจากเดิมที่สาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) อาจต้องฟังนโยบายเป็นหลัก จึงทำให้การตัดสินใจต่างๆ ยุ่งยาก และใช้เวลานาน” นพ.ปรีดา กล่าว

 

 

ด้าน นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา กรรมการสุขภาพแห่งชาติ เขตพื้นที่ 9 กล่าวว่า ปัจจุบันการทำงานของ รพ.สต. ไม่ได้มุ่งไปที่เรื่องการรักษาอาการเจ็บป่วยเพียงอย่างเดียว แต่มาใส่ใจในเรื่องสุขภาพและสาเหตุของการเจ็บป่วยมากขึ้น เพราะการแก้ปัญหาสุขภาพของประชาชนไม่อาจมองได้แค่มิติการรักษาพยาบาล แต่ยังมีมิติทางสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม ที่เป็นสาเหตุสำคัญซึ่งมีผลต่อสุขภาพของประชาชน

“การถ่ายโอน รพ.สต. มายัง อบจ. จะเป็นการมองเรื่องคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่เป็นหลัก ซึ่งอบจ.มีบทบาทหน้าที่ ที่เอื้อให้เกิดการขยายขอบเขตการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้คนท้องถิ่นได้มากกว่าแค่การรักษา ซึ่งการทำแผนแผนพัฒนาสุขภาพระดับพื้นที่นั้น ประเด็นที่ประชาชนต้องการขับเคลื่อน และต้องการมีส่วนร่วมในการจัดการเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น จะเป็นส่วนสำคัญที่ต้องนำมาพิจารณาเพื่อให้แผนพัฒนาสุขภาพระดับพื้นที่ เพื่อเป็นการยกระดับสุขภาวะของคนในพื้นที่อย่างแท้จริง”