ด้วยลักษณะของโรคฝีดาษวานร ที่เกิดอาการแสดงทางผิวหนังใกล้เคียงกับโรคติดต่อจากเชื้อไวรัสอื่น การสังเกตอาการเบื้องต้นจึงเป็นสิ่งสำคัญ ช่วยให้แยกแยะความแตกต่างของโรคและลดความวิตกกังวลลงได้
สำหรับโรคฝีดาษวานรนั้น แม้อาการภายนอกจะดูน่ากลัว แต่ความรุนแรงมีไม่มากและติดต่อยาก หากเทียบกับโรคอื่น ๆ พญ.นฤมล สวรรค์ปัญญาเลิศ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ ที่ปรึกษากรมการแพทย์ อธิบายถึงโรคฝีดาษวานรกับ Hfocus ว่า ฝีดาษลิงหรือฝีดาษวานร เป็นไวรัสชนิดหนึ่งที่มีเปลือกหุ้ม ข้อดีของไวรัสชนิดนี้คือ ตายง่าย เชื้อก่อโรคมีชื่อว่า Pox Virus จึงถูกเรียกว่า Monkey Pox คล้ายกับไข้ทรพิษหรือ Small Pox แต่อาการของฝีดาษวานรนั้นไม่รุนแรงเท่าและอัตราการเสียชีวิตต่ำ การติดต่อของโรคก็มักจะติดกับคนใกล้ชิดอยู่บ้านเดียวกัน หรือนอนห้องเดียวกัน หากสัมผัสกับสารคัดหลั่ง ถูกละอองฝอย ก็สามารถติดเชื้อได้ โดยเฉพาะการสัมผัสกับตุ่มหนองที่แตกแล้ว จะเป็นช่วงการแพร่เชื้อสู่ผู้อื่น
"อาการสำคัญของโรคฝีดาษลิง ได้แก่ มีไข้ ปวดเมื่อย ปวดหลัง ปวดศีรษะ มีอาการอ่อนเพลีย และต่อมน้ำเหลืองโตได้ หากผู้ป่วยมีโรคประจำตัว เช่น ภูมิต้านทานต่ำ โดยเฉพาะหญิงตั้งครรภ์และเด็กเล็กที่มีภูมิต้านทานต่ำ เมื่อติดเชื้ออาจเกิดอาการรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ แต่ถ้าไม่มีอาการรุนแรงก็จะหายเองได้ใน 3 สัปดาห์" พญ.นฤมล กล่าว
ส่วนความแตกต่างของโรคฝีดาษวานรกับโรคติดต่ออื่น ๆ นั้น พญ.นฤมล อธิบายว่า ฝีดาษวานรจะมีต่อมน้ำเหลืองโต ทำให้เกิดผื่นหรือตุ่มได้ทั้งตัว จึงแตกต่างจากโรคอื่น เช่น เริมที่มีอาการปวดแสบปวดร้อน ลักษณะจะเป็นตุ่มน้ำใส มักเกิดบริเวณจมูก ริมฝีปาก ไม่ค่อยกระจายไปทั่วทั้งตัว ส่วนงูสวัดจะปวดแสบปวดร้อนมาก เพราะเกิดจากการอักเสบของเส้นประสาท และอีสุกอีใส ที่ร่างกายจะเกิดเป็นตุ่มแดง ตุ่มน้ำ และตุ่มหนอง แต่จะพบรอยโรคได้หลายระยะในเวลาเดียวกัน ซึ่งลักษณะตุ่มของฝีดาษวานรจะเกิดรอยโรคอยู่ในระยะเดียวกันเท่านั้น
พญ.นฤมล กล่าวด้วยว่า สำหรับแพทย์จะพิจารณาจากประวัติสัมผัส เช่น มีประวัติเดินทางในพื้นที่เสี่ยง สัมผัสคนที่เป็นฝีดาษวานรหรือไม่ พร้อมกับดูลักษณะผื่น หากเป็นผู้ป่วยเข้าข่ายสงสัยก็จะส่งแล็ปตรวจอย่างละเอียดต่อไป ในส่วนของมาตรการต่าง ๆ กรมการแพทย์ จะเน้นดูแลเฝ้าระวังในโรงพยาบาล แนะนำกรณีที่คนไข้เข้ามาคลินิกเอกชน โดยคาดว่า สัปดาห์หน้าน่าจะได้แนวทางออกมาว่าจะป้องกันอย่างไรไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคได้ ส่วนประชาชนแนะนำให้ใส่หน้ากากอนามัย เพื่อลดการสัมผัสละอองฝอยจากน้ำลายและน้ำมูก ล้างมือบ่อย ๆ ด้วยน้ำและสบู่ หรือแอลกอฮอล์เจล หลีกเลี่ยงการสัมผัสตุ่มหนอง ไม่สัมผัสสารคัดหลั่งของร่างกาย ไม่ใกล้ชิดผู้ติดเชื้อโดยตรง อีกทั้งไม่รับประทานเนื้อสัตว์ดิบ ๆ เพราะอาจเกิดการติดเชื้อได้
*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org
- 2465 views