เครือข่ายท้องไม่พร้อมฯ เครือข่ายอาสา RSA สายด่วนปรึกษาเอดส์และท้องไม่พร้อม 1663 และองค์กรภาคีรวม 59 องค์กร ร่วมกันยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงกระทรวงสาธารณสุข สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานประกันสังคม ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์ และแพทยสภา เรียกร้องให้กำหนดมาตรฐานการดูแลรักษา พัฒนา และกำกับติดตามการให้บริการยุติการตั้งครรภ์ ให้เป็นหนึ่งในบริการสุขภาพที่มีมาตรฐาน
วันที่ 27 กรกฎาคม 2565 ที่งานแถลงข่าว การบริการและส่งต่อยุติการตั้งครรภ์ที่ไม่เป็นไปตามกฎหมายกรณีความเสี่ยงต่อสุขภาพกาย และทารกมีความเสี่ยงพิการหรือโรคทางพันธุกรรม เครือข่ายท้องไม่พร้อมฯ เครือข่ายอาสา RSA สายด่วนปรึกษาเอดส์และท้องไม่พร้อม 1663 และองค์กรภาคีรวม 59 องค์กร ร่วมกันยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงกระทรวงสาธารณสุข สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานประกันสังคม ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์ และแพทยสภา เรียกร้องให้กำหนดมาตรฐานการดูแลรักษา พัฒนา และกำกับติดตามการให้บริการยุติการตั้งครรภ์ ให้เป็นหนึ่งในบริการสุขภาพที่มีมาตรฐาน ให้สอดคล้องกับประมวลกฎหมายอาญาว่าด้วยการทำแท้ง พ.ศ. 2564 ข้อบังคับแพทยสภา สิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพ และระบบประกันสังคม ให้เข้าถึงได้อย่างปลอดภัย โดยรวบรวมกรณีศึกษาส่วนหนึ่งที่เกิดขึ้นใน พ.ศ. 2565 ของการตั้งครรภ์ที่มีความเสี่ยงต่อสุขภาพกายและทารกในครรภ์เสี่ยงพิการ ดังกรณีข้างต้น มาวิเคราะห์ประเด็นปัญหาดังต่อไปนี้
- กระบวนการตรวจความผิดปกติของตัวอ่อนในครรภ์มีขั้นตอนที่ซับซ้อนใช้เวลานาน ส่งผลให้อายุครรภ์มากขึ้นและหากผู้หญิงต้องการยุติการตั้งครรภ์ในระหว่างนั้น จะหาสถานบริการได้ยาก
- สูตินรีแพทย์จำนวนหนึ่งไม่ได้ยุติการตั้งครรภ์ตามแนวทางราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์ เกี่ยวกับการคัดกรองทารกพิการดาวน์ซินโดรม
- ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมละเลยการปฏิบัติตามแนวทางข้อบังคับแพทยสภา ในข้อ 4 (1) ความเสี่ยงต่อสุขภาพกายและใจ และ ข้อ 4 (2) ทารกเสี่ยงพิการหรือโรคทางพันธุกรรม
- โรงพยาบาลที่ตรวจความผิดปกติของตัวอ่อนในครรภ์ไม่ให้บริการยุติการตั้งครรภ์ และไม่ทำเรื่องส่งตัวพบปัญหาส่วนใหญ่ในหญิงตั้งครรภ์ที่ใช้สิทธิประกันสังคม เมื่อพบความเสี่ยงต่อสุขภาพกาย โรงพยาบาลมีกระบวนการตรวจที่รอนานทำให้อายุครรภ์เพิ่มมากขึ้น และละเลยการประสานส่งต่อฯ
- มีการตั้งคณะกรรมการยุติการตั้งครรภ์ในโรงพยาบาลหลายแห่ง เพื่อพิจารณาว่าสมควรให้บริการหรือไม่ ซึ่งใช้เวลาพิจารณาค่อนข้างนาน ทำให้อายุครรภ์มากขึ้น
- บุคลากรสุขภาพขาดองค์ความรู้ในด้านวิธียุติการตั้งครรภ์ อายุครรภ์ที่ทำได้ กฎหมายอาญาว่าด้วยการทำแท้ง ไม่รู้ข้อมูลเครือข่ายให้บริการและแนวทางการส่งต่อฯ สุดท้ายหญิงตั้งครรภ์ต้องไปแสวงหาบริการเอง ไม่มีเอกสารส่งตัว ไม่สามารถใช้สิทธิสุขภาพ และต้องออกค่าใช้จ่ายเองทั้งหมด สุ่มเสี่ยงต่อการได้รับบริการที่ไม่ปลอดภัย
ภาคีที่ร่วมยื่นจดหมายเปิดผนึกฯ มีข้อเสนอต่อองค์กรที่เกี่ยวข้องดังนี้
1. ข้อเสนอต่อหน่วยงานทั้ง 5 แห่ง พัฒนาทัศนคติของบุคลากรทางการแพทย์ต่อการยุติการตั้งครรภ์ให้สอดคล้องตามแนวทางขององค์การอนามัยโลก “Safe abortion is health care, it saves lives.” คือ การยุติการตั้งครรภ์คือบริการสุขภาพที่ช่วยชีวิตคน
2. ข้อเสนอต่อแพทยสภา และราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทยบริหารจัดการกำกับและติดตามให้มีแพทย์และสถานพยาบาล เพื่อให้การดูแลรักษาการยุติการตั้งครรภ์
3. ข้อเสนอเฉพาะราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทยต้องออกมาตรฐานจริยธรรมสำหรับสูตินรีแพทย์ในการตรวจคัดกรองและวินิจฉัยโรคของทารก ให้บริการในกรณีที่หญิงตั้งครรภ์ตัดสินใจยุติการตั้งครรภ์ภายหลังได้รับคำปรึกษาทางพันธุกรรม หรือจัดบริการส่งต่อโดยมิชักช้า
4. ข้อเสนอต่อสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานประกันสังคม และกระทรวงสาธารณสุข ร่วมวางแนวทางการให้บริการตรวจความผิดปกติของตัวอ่อนในครรภ์และการยุติการตั้งครรภ์ โดยมีรายละเอียดในด้านระเบียบค่าใช้จ่าย การบริการ และส่งต่อตามสิทธิสุขภาพ
5. ข้อเสนอเฉพาะสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ต้องทำความชัดเจนในการเบิกจ่ายค่าบริการยุติการตั้งครรภ์ของผู้รับบริการสิทธิอื่น เปิดช่องทางการร้องเรียนให้แก่ผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าอย่างทั่วถึง
6. ข้อเสนอเฉพาะสำนักงานประกันสังคม ต้องมีช่องทางในการร้องเรียนสถานพยาบาลคู่สัญญา ประสานให้ผู้ประกันตนอย่างทันท่วงที โดยมีมาตรการลงโทษสถานพยาบาลคู่สัญญาที่ละเมิดสิทธิการรักษาของผู้ประกันตน
7. ข้อเสนอเฉพาะกระทรวงสาธารณสุข ต้องพัฒนาความรู้ความเข้าใจวิธีการยุติการตั้งครรภ์ อายุครรภ์ที่ทำได้อย่างปลอดภัย ประมวลกฎหมายอาญาว่าด้วยการทำแท้ง เครือข่ายบริการและแนวทางการส่งต่อบริการยุติการตั้งครรภ์ให้กับสถานพยาบาลในสังกัด
ด้านรศ.ดร. กฤตยา อาชวนิจกุล ผู้ประสานงานเครือข่ายท้องไม่พร้อมฯ กล่าวว่า สิ่งที่เราเรียกร้องไม่ต้องการให้ลงโทษใครไม่ต้องการเปิดโปงใคร เพราะฉะนั้นเราจะไม่ระบุชื่อโรงพยาบาล ในเอกสารแต่เราต้องการให้เกิดระบบพัฒนาบริการส่งต่อยุตติการตั้งครรภ์ตามบริบทของกฎหมายใหม่ซึ่งเหตุที่เกิดขึ้นทั้ง 7 กรณีนี้ไม่ได้ปฏิบัติตามข้อบังคับแพทยสภาที่ออกมาเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2564
ทั้ง 7 กรณีมี 3 กรณีที่มีโอกาสเสี่ยงสูงจะเสียชีวิต นอกจากนี้เรามีเพื่อนเครือข่ายที่แจ้งให้เราทราบว่ามีผู้ปกครองที่กำลังจะแจ้งความเอาผิดโรงพยาบาลแล้ว ซึ่งกรณีนี้ยังไม่ได้ทราบข้อมูลมากนัก ซึ่งเราไม่ต้องการให้เรื่องเหล่านี้เกิดขึ้นเลย เราอยากจะให้มีการพัฒนาระบบบริการยุติการตั้งครรภ์ตามข้อบ่งชี้ตามกฎหมายที่อนุญาตให้ยุตติการตั้งครรภ์ได้และไม่มีการปฏิเสธ ไม่มีการผลักดันส่งต่อไปเรื่อยๆ เป็นต้น
ด้านผศ.นพ. สัญญา ภัทราชัย คณะแพทย์ศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ม.มหิดล (แพทย์ RSA) กล่าวว่า ในฐานะที่มีส่วนร่วมในการรับส่งคนไข้ ปัญหาที่เจอคือการยุตติตั้งครรภ์ที่จะต้องกระทำภายในมาตรฐานของแพทยสภา เป็นการให้บริการสุขภาพ ซึ่งถูกปฏิเสธจากแพทย์ ไม่ใช่เพราะว่า ทำไม่ได้หรือเทคโนโลยีไม่ถึงหรือไม่มีความรู้ความสามารถ ปฏิเสธด้วยเงื่อนไขอย่างเดียวคือไม่อยากทำ
ซึ่งถือว่าเป็นการกระทำที่ไม่ได้มาตรฐานทางการแพทย์ถือว่าไม่รับผิดชอบต่อหน้าที่แพทย์ จนทำให้ผู้หญิงตั้งครรภ์ต้องทุกข์ทรมาน ถูกรีเฟอร์ไปตามสถานที่ต่างๆ อย่างตัวอย่างที่รายงานมา รีเฟอร์ไปตั้ง 4-5 โรงพยาบาล แล้วแต่ละโรงพยาบาลก็ปฏิเสธด้วยขึ้นไขเดียวกันคือไม่อยากทำไม่ใช่ว่าทำไม่ได้
ผมยืนยันว่ามาตรฐานการยุติตั้งครรภ์ทางการแพทย์ตอนนี้มีเทคโนโลยีที่ไม่ได้ใช้ความยุ่งยากหรือเครื่องมือราคาแพงและเทคโนโลยีสูงอะไรเลยโรงพยาบาลไหนที่ทำคลอดได้สามารถยุติการตั้งครรภ์ได้ทั้งนั้นไม่จำเป็นต้องรีเฟอร์ เราขอยืนยันว่าอยากจะให้หญิงที่ไม่พร้อมตั้งครรภ์ได้รับบริการตามมาตรฐานของประเทศไทยแล้วก็ถือว่าเป็นผู้ป่วยสามารถเบิกค่าใช้จ่ายตามหลักเกณฑ์ของ สปสช. ได้ ผศ.นพ. สัญญา กล่าว
- 1473 views