กรมสุขภาพจิต ขับเคลื่อนการดูแลสุขภาพใจทุกกลุ่มวัยในระบบสุขภาพปฐมภูมิ “ร่วมสร้างพลังใจ สุขภาพจิตไทยยั่งยืน” Better Mental Health Care for all พร้อมเคียงข้างโดยไม่ทอดทิ้งใครไว้ข้างหลัง
วันนี้ (26 กรกฎาคม 2565) กรมสุขภาพจิต จัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อขับเคลื่อนการดูแลสุขภาพจิตทุกกลุ่มวัยในระบบสุขภาพปฐมภูมิ “ร่วมสร้างพลังใจ สุขภาพจิตไทยยั่งยืน” Better Mental Health Care for all พร้อมมอบรางวัลให้กับเครือข่ายต้นแบบฯ พร้อมจัดนิทรรศการเพื่อเผยแพร่ความรู้ และให้ผู้ที่สนใจนำประยุกต์แนวทางการดำเนินงานไปใช้ดูแลสุขภาพจิตให้กับประชาชนในพื้นที่ของตนเองต่อไป
แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 ส่งผลกระทบต่อประชาชนทั่วโลกทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สุขภาพกายและสุขภาพจิต ทุกภาคส่วนต่างก็ช่วยกันเร่งแก้ไขปัญหาของประชาชน โดยมีเป้าหมายร่วมกัน คือ ประชาชนไทยจะต้องมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและปลอดภัยจากเชื้อไวรัสโควิด 19 อย่างไรก็ตามการต้องเผชิญกับสถานการณ์วิกฤตการแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่องและยาวนานในครั้งนี้ ทำให้ประชาชนจำนวนมากต้องอยู่กับความเครียด ความกังวล ความสิ้นหวัง หมดกำลังใจ ซึ่งในสภาวะเช่นนี้อาจเป็นสาเหตุสำคัญที่นำไปสู่การเจ็บป่วยทางจิต การมีภาวะซึมเศร้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งพบว่าหลายคนตัดสินใจจบชีวิตของตัวเอง
ซึ่งกรมสุขภาพจิตได้ติดตามสถานการณ์และบูรณาการเสริมสร้างการมีสุขภาพจิตที่ดีและเฝ้าระวังป้องกันปัญหาสุขภาพจิต ตลอดจนให้การดูแลจิตใจประชาชนเชิงรุกผ่านกลไกระบบสุขภาพปฐมภูมิร่วมกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนที่ครอบคลุม ตลอดจนเพิ่มโอกาสการเข้าถึงบริการสุขภาพจิตอย่างทั่วถึงและรวดเร็ว ความร่วมมือ ร่วมแรง ร่วมใจจากทุกภาคส่วน ผ่านคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอในการส่งเสริมการมีสุขภาพจิตที่ดี ซึ่งการทำงานของปฐมภูมิที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง
ส่งผลให้เกิดเครือข่ายทั้งในและนอกระบบสาธารณสุขในการมีส่วนร่วมในการดูแลประชาชนได้ครอบคลุมและทั่วถึง ผ่านคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ หรือ พชอ. ตลอดจนส่งเสริมการเฝ้าระวังและช่วยเหลือเชิงรุกด้วยทีม 3 หมอ และให้บริการสุขภาพจิตและจิตเวชผ่าน หน่วยบริการปฐมภูมิและโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลทั่วประเทศ โดยในปีงบประมาณ 2565 นี้มีการดูแลสุขภาพจิตในระบบสุขภาพปฐมภูมิ ผ่านอำเภอที่ร่วมบูรณาการการดูแลจิตใจเข้ากับการดูแลคุณภาพชีวิตของ พชอ. ถึง 856 แห่ง และใน 40 เขตในกรุงเทพมหานคร
รวมไปถึงการมีตำบลที่นำการเสริมสร้างวัคซีนใจในชุมชนไปใช้กว่า 2,179 ตำบล ความร่วมมือของภาคีเครือข่ายในระบบสุขภาพปฐมภูมิที่เป็นหัวใจของการดูแลจิตใจประชาชน จะเป็นต้นแบบที่สำคัญเพื่อใช้เป็นแนวทางในการพัฒนากลไกการดำเนินงานสุขภาพจิต และการดูแลจิตใจประชาชนที่มีความชัดเจนเป็นรูปธรรม และเข้ากับบริบทวัฒนธรรมที่หลากหลายในแต่ละพื้นที่ต่อไป
นายแพทย์ธิติ แสวงธรรม รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า จากความร่วมมือของภาคีเครือข่ายในระบบสุขภาพปฐมภูมิที่เป็นหัวใจของการดูแลจิตใจประชาชน กิจกรรมวันนี้จึงถือเป็นโอกาสอันดีที่เครือข่ายที่มีผลการดำเนินงานสุขภาพจิตที่โดดเด่นเข้าร่วมนำเสนอผลงานและร่วมเผยแพร่เพื่อเป็นประโยชน์ต่อสังคม โดยมีผลงานที่โดดเด่นเป็นรูปธรรมถึง 48 แห่ง แบ่งเป็นชุมชนที่มีการเสริมสร้างวัคซีนใจในชุมชน 13 แห่ง เครือข่ายที่มีการดำเนินงาน 3 หมอที่โดดเด่น 9 แห่ง เครือข่ายที่บูรณาการงานสุขภาพจิตเข้ากับ พชอ. 9 แห่ง เครือข่ายที่ดูแลสุขภาพจิตภายใต้สถานการณ์วิกฤต 12 แห่ง และชุมชนต้นแบบในการป้องกันปัญหาการฆ่าตัวตาย 5 แห่ง ภายหลังการร่วมนำเสนอผลการดำเนินงานที่หลากหลายในครั้งนี้ จะทำให้เกิดแนวทางในการนำองค์ความรู้สุขภาพจิตไปบูรณาการเข้ากับกับระบบสุขภาพปฐมภูมิ ตลอดจนวิธีปฏิบัติที่เป็นเลิศที่เครือข่ายนำเสนอจะสามารถดูแลจิตใจประชาชน ให้เหมาะกับบริบทของชุมชนตนเองได้ต่อไป
กรมสุขภาพจิต ขอชื่นชมทุกเครือข่ายและจะสื่อสารองค์ความรู้ที่ได้รับ เพื่อเป็นแนวทางต้นแบบในการไปช่วยสร้างภูมิคุ้มกันทางใจให้ประชาชนในพื้นที่ที่สนใจ เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการที่สะดวกรวดเร็ว มีภูมิคุ้มกันทางใจทั้งในระดับบุคคล ครอบครัวและชุมชน สามารถก้าวข้ามวิกฤตปัญหาต่างๆ ไปได้อย่างเข้มแข็ง ซึ่งขอให้พี่น้องชาวไทยทุกคนฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆ โดยใช้ทั้งความหวังและพลังใจเป็นเครื่องชี้นำให้ประชาชนมีพลังอึด ฮึด สู้ ตลอดจนมีความเข้มแข็ง กรมสุขภาพจิตพร้อมก้าวผ่านวิกฤตต่างๆ ไปด้วยกัน โดยไม่ทอดทิ้งใครไว้ข้างหลัง
- 508 views