นายพิเชษฐ์ ปาณะพงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เปิดเผยว่า ขอให้ประชาชนทั่วไปและนักท่องเที่ยวมั่นใจในการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ตว่าการพบผู้ป่วยฝีดาษวานรชาวไนจีเรียในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต และการที่ผู้ป่วยรายนี้หายตัวไป ยังไม่สามารถติดต่อได้นั้น จะไม่ส่งผลกระทบกับการท่องเที่ยว จากข้อมูลทางการแพทย์ที่ระบุว่าโรคฝีดาษวานรติดต่อกันได้ยากกว่าโควิด-19 เพราะต้องสัมผัสกันอย่างใกล้ชิด รวมทั้งกลไกเกี่ยวกับมาตรการป้องกันของภาครัฐ เอกชน และประชาชน หากร่วมมือกันแจ้งเมื่อพบผู้มีอาการต้องสงสัยเพื่อตรวจสอบและติดตาม ก็ไม่น่ากระทบการท่องเที่ยวมาก โรคนี้สามารถสังเกตุได้จากตุ่มหนองตามร่างกาย ไม่ใช่โควิดที่สังเกตุไม่ได้ อีกทั้งกลไกด้านสถานพยาบาลต่างๆ ก็เฝ้าระวังผู้ป่วยที่เข้าข่ายต้องสงสัยอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นผลกระทบด้านการท่องเที่ยวคงไม่มีมากนัก ส่วนคนไข้ที่ยังติดตามตัวไม่เจอก็จะเร่งดำเนินการต่อไป หากเดินทางออกจากจังหวัดภูเก็ตไปแล้วก็น่าจะหายป่วยแล้วเพราะระยะเวลาของโรคไม่เกิน 21 วัน ซึ่งข้อมูลที่ตำรวจได้รับคือ ผู้ป่วยรายนี้บอกกับผู้ดูแลคอนโดมิเนียมที่เช่าอยู่ว่า หายแล้วไม่ต้องไปพบแพทย์ ซึ่งอาจเชื่อได้ครึ่งหนึ่งว่าอาการเขาดีขึ้นและอาจหายดีแล้ว
พญ.กนกอร เลิศลำยอง แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านอายุรศาสตร์โรคติดเชื้อ โรวพยาบาบวชิระภูเก็ตกล่าวว่า ปกติแม้จะไม่ได้รับการรักษาด้วยยาต้านไวรัสอะไรเลย ผู้ป่วยก็สามารถหายไดภายใน 2-4 สัปดาห์ ยิ่งผู้ป่วยไม่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาบก็คาดเดาว่าน่าจะมีอาการดีขึ้นในระดับหนึ่ง
นพ.วีระศักดิ์ หล่อทองคำ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต เปิดเผยว่า เชื้อไวรัสฝีดาษวานรที่ตรวจพบในผู้ป่วยชาวไนจีเรียรายนี้เป็นชนิด West African ซึ่งไม่รุนแรง เป็นเชื้อไวรัสที่พบแพร่ระบาดในแถบทวีปยุโรป โดยโรคฝีดาษลิงติดเชื้อได้จากการสัมผัส หายใจ ไอจามใกล้ๆ แต่ติดยากกว่าโควิด-19
นพ.กู้ศักดิ์ กู้เกียรติกูล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า ขอให้ประชาชนทั่วไปอย่าตื่นตระหนก ไม่อยากให้เรื่องนี้กระทบกับการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต โรคฝีดาษวานรไม่ได้ติดกันง่ายๆ ยังคงเดินทางมาท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ตได้ตามปกติ มาตรการการคัดกรองทำอยู่แล้ว โดยด่านตรวจคัดกรองโรคติดต่อระหว่างประเทศ ที่ผ่านมามีการส่งตัวผู้ป่วยที่สงสัยมาตรวจที่โรงพยาบาลอยู่เสมอ รวมทั้งขอความร่วมมือโรงพยาบาลทุกแห่งที่พบผู้ป่วยที่น่าสงสัยให้ตรวจเลือด เพาะเชื้อ และสอบสวนโรค รวมทั้งเฝ้าระวังตามคลีนิกนิรนามและคลินิคโรคผิวหนัง สอบย้อนหลังว่ามีผู้ป่วยเฝ้าระวังเข้าข่ายต้องสงสัยหรือไม่
- 171 views