กรมควบคุมโรคเตือนหยุดยาว! หวั่นติดเชื้อเพิ่มจากเมืองไปต่างจังหวัด ขอให้ทุกคนช่วยลดความเสี่ยง เน้นมาตรการป้องกันส่วนบุคคล เพราะถ้าป่วยโควิดเพิ่มเร็ว ปอดอักเสบจะพุ่งสูงตาม ขณะเดียวกันเผย 3 สัญญาณเตือน ต้องปรับมาตรการ คือ 1.ผู้ป่วยรายใหม่รักษาในรพ. พุ่งเกิน 4 พันรายต่อวัน 2.ผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจเกินวันละ 400-500 ราย  และ3.เสียชีวิตเกิน 40 รายต่อวัน

 

เมื่อวันที่ 11 ก.ค. 2565 ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค  กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) แถลงข่าวสถานการณ์โควิด19 ว่า  ไทยมีผู้ป่วยรายใหม่เข้ารักษาในรพ. 1,811  ราย ผู้ป่วยรุนแรง ปอดอักเสบ 786 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 349 ราย และเสียชีวิต  24 ราย  ทั้งนี้ ในส่วนของผู้ป่วยปอดอักเสบและใส่ท่อช่วยหายใจ แนวโน้มเพิ่มขึ้น  แต่ยังอยู่ในเกณฑ์รองรับด้านสาธารณสุขได้เมื่อเทียบช่วงเดลตาที่สูงมาก ส่วนผู้เสียชีวิตค่าเฉลี่ย 14 วันยังเท่าเดิม ส่วนผู้เสียชีวิตอาจมีแกว่งขึ้นลงได้  

 

 “สถานการณ์ขณะนี้ผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นในกทม.และปริมณฑล รวมถึง จังหวัดท่องเที่ยวขนาดใหญ่ และก็จะตามมาด้วยการเพิ่มขึ้นของผู้ป่วยปอดอักเสบ และใส่ท่อช่วยหายใจ  จากนั้นก็จะเหมือนกับระลอกที่ผ่านมา คือ กระจายไปจังหวัดต่างๆ  จากเมืองไปชนบท  ซึ่งในช่วงวันหยุดยาวนี้ ปัจจัยหนึ่งที่จะทำให้แพร่ไปต่างจังหวัดเร็วขึ้น จึงต้องช่วยลดความเสี่ยง คงมาตรการป้องกันส่วนบุคคลให้เข้มข้น เพราะถ้าติดเชื้อเพิ่มขึ้นเร็ว ปอดอักเสบขึ้นเร็วด้วย จะกระทบเตียงยาในการรักษา ต้องช่วยกันชะลอ เพื่อให้ดูแลรักษาทั่วถึง”นพ.จักรรัฐกล่าว  

ขณะนี้มีการปรับลดเตียงสำหรับรองรับผู้ป่วยโควิด19ในรพ.ต่างๆลดลง เพื่อรองรับผู้ป่วยโรคอื่นๆด้วย  ทำให้จำนวนเตียงผู้ป่วยลดลงด้วย  ซึ่งมี 8 จังหวัดที่อัตราการครองเตียงผู้ป่วยโควิด19ระดับ2-3 มากกว่า 20 % ได้แก่ กรุงเทพฯ 38.2 % สมุทรปราการ 29.8 % นนทบุรี 42.6 % นครสวรรค์ 26 % ชัยภูมิ 30.50 %  ปทุมธานี 29.3 %  เลย 22.10 %  และน่าน  20.50% 

“ต้องช่วยกันลดการติดเชื้อลงให้มากที่สุด มาตรการป้องกันโรคส่วนบุคคล เว้นระยะห่างการรวมกลุ่ม สถานที่แออัด สวมหน้ากากเมื่ออยู่ใกล้กลุ่มเสี่ยง  กลุ่ม 608 เมื่อมีอาการป่วยรีบไปพบแพทย์ เพื่อลดเสี่ยงป่วยหนักได้ รวมถึงการฉีดวัคซีน ซึ่งต้องไม่เกิน 3 เดือน เพราะหากเกิน 3 4 เดือนไปแล้ว ภูมิคุ้มกันอาจมาต่อสู้ไม่ทัน อาจป่วยหนักขึ้นได้ โดยเฉพาะกลุ่ม 608 ส่วนกลุ่มนักเรียน นักศึกษา วัยทำงาน ที่แข็งแรงผลอาการอาจจะไม่มาก หากเทียบกับกลุ่ม 608 เพราะฉะนั้น กลุ่ม 608  ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัว ต้องเร่งฉีดกระตุ้น หากได้รับเข็มล่าสุดมาเกิน 3 เดือน  ควรรีบเข้ารับวัคซีนกระตุ้นด่วน ซึ่งขณะนี้กลุ่ม 608 รับเข็มกระตุ้นแล้ว 47.5 % ยังห่างจากเป้าที่ 60 %”นพ.จักรรัฐกล่าว  

 

นพ.จักรรัฐ กล่าวด้วยว่า สธ.คาดการณ์สถานการณ์ระยะ Post Pandemic พ.ศ.2565  โดยสัญญาณเตือนที่จะพิจารณาปรับมาตรการป้องกันควบคุมโรค  คือ

1.ในส่วนของผู้ป่วยรายใหม่เข้ารักษาในรพ. เกิน 4,000 รายต่อวัน  อาจต้องให้ใส่หน้ากากอนามัย 100% หรือเว้นระยะห่างมากขึ้น

2.ผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจ เกิน400-500 รายต่อวัน อาจต้องปรับมาตรการรักษา ให้ยาเร็วขึ้น ป้องกันโรคอื่นด้วย

3.ผู้เสียชีวิต เกิน 40 รายต่อวัน ถ้าเกินต้องมีมาตรการเพิ่มเติม 

สำหรับคำแนะนำประชาชน ลดการป่วยหนัก หลังช่วงวันหยุดยาวเดือนก.ค.นี้ สธ.ขอความร่วมมือ  ดังนี้

1. คงมาตราการป้องกันส่วนบุคคล 2 U ติดเชื้อป่วยหนักไม่ให้ขึ้นเร็วเกินไป เว้นระยะห่าง รวมกลุ่มทำได้ แต่อย่าใกล้ชิดเกินไป สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา โดยเฉพาะขนส่งสาธารณะ หยุดยาว สวดมนต์ที่วัดนั่งห่างๆ ตรงไหนแออัดเลี่ยงได้ก็เลี่ยง  การไปสถานบันเทิงอาจไม่อยู่ในโปรแกรม เลี่ยงได้ก็เลี่ยงเพื่อลดเสี่ยงติดเชื้อกลุ่มเสี่ยงฉีดทุกเข็มกระตุ้นตามกำหนดป้องกันป่วยหนัก 

2.มาตรการด้านการแพทย์สาธารณสุข หากมีอาการป่วย ไข้ ไอ เจ็บคอ สงสัยติดเชื้อให้ตรวจ ATK หากเป็นขีดเดียวสวมหน้ากากอนามัย ไม่หายตรวจซ้ำ 24-48 ชม. หากเจอ 2ขีด ติดเชื้อ ให้กักตัวที่บ้านอย่างน้อย 7 วัน  หรือปรึกษาโทรศัพท์หรือไปรับยาที่ รพ.เพื่อป้องกันป่วยหนัก ส่วนกลุ่ม 608และผู้ที่ยังไม่ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น เมื่อติดเชื้อให้ไปพบแพทย์  บางคนอาจลงปอดโดยไม่ทราบ เมื่อติดเชื้อ งดร่วมกิจกรรมคนจำนวนมาก ลดเสี่ยงลง เลี่ยงขนส่งสาธารณะ ผู้สัมผัสเสี่ยงสูง สวมหน้ากากตลอดเวลา สังเกตอาการป่วยตัวเอง10 วัน 
 

(ข่าวเกี่ยวข้อง : กรมวิทย์เผยโควิด19 “BA.4/BA.5” เบื้องต้นอาการรุนแรง แต่ยังไม่สรุป! ขอเก็บตัวอย่างเพิ่ม)

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org