กรมควบคุมโรค เผยกรณีข้อกังวลโควิดติดเชื้อเพิ่มขึ้น จะเกิดระลอกใหม่หรือไม่ จริงๆ ไม่ใช่ แต่เรียกว่า ระบาดเป็นเวฟเล็กๆ  เพราะขณะนี้สายพันธุ์เปลี่ยนเป็นโอมิครอน "BA.4/BA.5" พบการติดเชื้อเร็ว แต่ความรุนแรงค่อนข้างน้อย รวมถึงไทยมีมาตรการผ่อนคลายมากขึ้น ทำให้ติดเชื้อมากขึ้น แต่ระบบสาธารณสุขยังรับได้

เมื่อวันที่ 5 ก.ค. นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่พบว่ามีการติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น และหลายฝ่ายเกรงว่าจะเป็นการระบาดระลอกใหม่  ว่า  คงไม่นับว่าเป็นการระบาดระลอกใหม่แล้ว เพราะลักษณะการระบาดในขณะนี้จะเกิดเป็นครั้งๆ แล้วแต่สายพันธุ์ที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะสายพันธุ์ย่อยโอมิครอน BA.4 และ BA.5 ที่พบว่ามีการติดเชื้อได้เร็วจริง แต่ความรุนแรงค่อนข้างน้อย รวมถึงเมื่อประเทศไทยมีมาตรการผ่อนคลายมากขึ้นก็ติดเชื้อมากขึ้นตาม ซึ่งสอดคล้องกับหลายประเทศทั่วโลกที่มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม ในระบบสาธารณสุขจะมีการติดตามในผู้ป่วยหนักและเสียชีวิตว่าเพิ่มขึ้นหรือไม่ ซึ่งขณะนี้ระบบสาธารณสุขของไทยยังรับได้

“ส่วนที่มีข่าวว่าเตียงล้นโรงพยาบาล (รพ.) เท่าที่ตรวจสอบพบว่า ส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยอาการไม่มาก แต่หลายคนขออยู่ รพ.เพราะมีเรื่องประกันสุขภาพด้วย แต่จริงๆ คนป่วยหนัก เตียงไอซียูโควิด-19 ยังรองรับได้ และที่สำคัญคือเตียงโควิด-19 ที่เคยมีมากๆ ตอนนี้ก็ปรับกลับไปให้ผู้ป่วยโรคทั่วไปแล้ว ตอนนี้เตียงเลยไม่ได้เยอะมากเหมือนเดิม” นพ.โอภาส กล่าว

นพ.โอภาส กล่าวอีกว่า เราไม่ประมาทและมีการติดตามสถานการณ์สม่ำเสมอ แต่จะเห็นว่าปัญหาพบมากในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ส่วนจังหวัดอื่นพบปัญหาน้อยมาก ขณะเดียวกัน นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัด สธ. ก็ได้ออกหนังสือไปยังหน่วยงานสาธารณสุขทั่วประเทศให้เตรียมความพร้อมรองรับให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในพื้นที่นั้นๆ แล้ว

** ผู้สื่อข่าวถามว่าการระบาดที่ต่อเนื่องและมีเพิ่มสูงขึ้น แต่ระบบสาธารณสุขเปลี่ยนแปลงไป มีการให้ตรวจ RT-PCR ในบางกรณี และตรวจ ATK เฉพาะที่มีอาการ เราจะนิยามการระบาดเช่นนี้ว่าอะไร  นพ.โอภาส กล่าวว่า เราจะเรียกว่า “เวฟเล็กๆ”  ซึ่งจะมีลักษณะระบาดขึ้นลงตามวงรอบ ส่วนหนึ่งมาจากเชื้อกลายพันธุ์ด้วย อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าขณะนี้เชื้อกับคนกำลังหาจุดสมดุลกันอยู่ โดยเชื้อกลายพันธุ์อ่อนแรงลงเพื่อให้อยู่กับคนได้ ส่วนคนก็ฉีดวัคซีนแล้ว มีการติดเชื้อสร้างภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติเยอะขึ้นแล้ว เชื่อว่าจุดสมดุลระหว่างคนกับเชื้อโรคน่าจะถึงจุดสมดุลเร็วๆ นี้ แต่ยังไม่สามารถระบุชัดเจนได้ว่าช่วงใด แต่ก็เป็นมาตรการหนึ่งที่ทำให้เราก้าวพ้นระยะการระบาด (Pandemic) ได้

** เมื่อถามกรณีมีผู้เชี่ยวชาญคาดการณ์ตัวเลขติดเชื้อจริงน่าจะมากกว่า 5 หมื่นรายต่อวัน จะต้องมีกาพิจารณาและเสนอต่อที่ประชุม ศบค.ชุดใหญ่พิจารณาเพื่อปรับแผนรองรับเพิ่มเติมหรือไม่    นพ.โอภาส กล่าวว่า เรื่องการติดเชื้อจริงๆ ไม่มีใครบอกได้ว่าติดเชื้อมากถึงไหน อาจจะมากกว่าตัวเลขที่มี 2 เท่า 3 เท่า 5 เท่า หรือ 10 เท่า ตรงนี้ไม่มีใครบอกได้ เพราะเราไม่ได้ตรวจ RT-PCR ในทุกคนที่สงสัยแล้ว จะตรวจเฉพาะผู้ที่ต้องเข้ารักษาใน รพ. ส่วนคนทั่วไปก็ใช้ตรวจ ATK เฉพาะตอนมีอาการ ซึ่งหลายคนอาการน้อย เขาก็ไม่ได้ตรวจเชื้อแล้ว ฉะนั้น ไม่มีความจำเป็นต้องหาว่าการติดเชื้อกี่คน ซึ่งทั่วโลกก็ทำเหมือนๆ กัน โดยต่างประเทศก็ไม่ได้ตรวจอะไรแล้ว

อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวอีกว่า เราสนใจผู้ป่วยนอน รพ. ใส่ท่อหายใจ ที่จะเป็นตัวเลขที่บอกสถานการณ์ได้ค่อนข้างดีและแม่นยำที่สุด ตอนนี้มาตรการสำคัญคือ เร่งฉีดวัคซีนกระตุ้น สวมหน้ากากอนามัยในคนและเหตุการณ์เสี่ยง และเว้นระยะห่างด้วย ส่วนมาตรการปิดกิจกรรมต่างๆ ต้องดูอีกทีว่ามีความจำเป็นมากน้อยแค่ไหน และมีผลกระทบอย่างไรด้วย แต่เบื้องต้นทุกอย่างเป็นไปตามที่เราคาดการณ์อยู่ว่าจะมีการระบาดขึ้น 

"ขณะนี้ที่เห็นชัด คือ ประชาชนติดเชื้อมีความรู้ในการดูแลตัวเอง อยู่บ้านรักษาตามอาการ นี่เป็นตัวยืนยันว่า มาตรการฉีดวัคซีนของเราได้ผล เพราะถ้าไม่ได้รับวัคซีนก็จะต้องมีเหตุการณ์คนล้น รพ.เกิดขึ้นอีกเหมือนช่วงที่สายพันธุ์เดลต้าระบาด  โดยจะมีการประชุมกับ ศปก.ศบค.ในข้อมูลต่างๆ นำมาสู่การวิเคราะห์ ประเมินสถานการณ์ก่อนที่จะนำเสนอในการประชุม ศบค.ในวันที่ 8 ก.ค.นี้" นพ.โอภาส กล่าว

** เมื่อถามถึงการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ จะมีการประชุมหารือพิจารณาปรับลดระดับให้โควิดที่เป็นโรคติดต่ออันตราย ให้เป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังหรือไม่ นพ.โอภาส กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีการนัดประชุมจากคณะกรรมการโรคติดต่อฯ ซึ่งอาจต้องรอการประชุม ศบค.ชุดใหญ่ก่อน

 *สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org