เสียงสะท้อนของ "หมอ" สู่การขับเคลื่อนกำหนด "ชั่วโมงการทำงานแพทย์" ภาระงานกว่า 100 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ทำงานต่อเนื่องไม่หยุด 48 ชั่วโมง ร่างกายล้า ส่งผลต่อสุขภาพตัวเองและการรักษาผู้ป่วย เกิดปัญหาวนลูป เหตุที่ผ่านมามีคำแนะนำแพทยสภา แต่ทำไม่ได้จริง เพราะบุคลากรไม่พอ! ขอทวงสิทธิ์ความเป็นธรรมต่อคณะกรรมาธิการแรงงาน 30 มิ.ย.นี้ ที่รัฐสภา ขอกฎหมายควบคุมเวลาทำงาน
"หมอที่ทำงานช่วยชีวิตคนไข้ ไม่มีใครอยากให้เกิดความผิดพลาด แต่ด้วยภาระงานที่มาก ทำงานไม่มีเวลาพักผ่อน ไม่ได้หลับได้นอน ควงเวรติดต่อกัน 48 ชั่วโมงไม่ได้พัก ทำงานทั้งในและนอกเวลาราชการเกิน 100 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ร่างกายไม่ไหว ข้อผิดพลาดเกิดขึ้น กลายเป็นสิ่งที่อยู่ในใจมาตลอด ถึงเวลาแล้วที่รัฐต้องช่วยเหลือแพทย์คนทำงาน ก่อนจะไหลออกนอกระบบ หรือเหนื่อยล้าจนป่วย เป็นโรคซึมเศร้า ทำร้ายตัวเอง..."
พญ.ชุตินาถ ชินอุดมพร ผู้แทนสมาพันธ์แพทย์ผู้ปฏิบัติงาน หนึ่งในแพทย์ที่ปฏิบัติงานช่วยชีวิตผู้ป่วยมาอย่างต่อเนื่อง ให้ข้อมูลกับ Hfocus ว่า ทำงานหนักมากเกิน 100 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ไม่ได้หลับได้นอน เป็นปัญหาที่หมอทุกคนที่ทำงานภาครัฐต้องเจอ เป็นปัญหาที่วนลูปมาตลอดหลายสิบปี แต่ไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง กลายเป็นเรื่องที่หมอต้องประสบปัญหามาตลอด เนื่องจากเมื่อร่างกายเหนื่อยล้า ไม่ได้พักผ่อนเต็มที่ ทำให้ส่งผลทั้งต่อตัวแพทย์เอง และต่อการวินิจฉัยรักษาคนไข้ กลายเป็นปัญหาฟ้องร้อง แพทย์ลาออก แพทย์เครียด จนก่อนหน้านี้มีน้องหมออินเทิร์นทำร้ายตัวเองเสียชีวิตก็มี การทำงานของบุคลากร คุณภาพชีวิตเลวร้ายลง ยิ่งโควิดทำงานหนักมากๆ คนยิ่งอยากหนีออกจากระบบกันหมด
ด้วยเหตุนี้ สมาพันธ์แพทย์ผู้ปฏิบัติงาน จึงออกมาเชิญชวนเหล่าแพทย์ทุกคน และประชาชนที่สนใจร่วมยื่นหนังสือร้องเรียนแก่คณะกรรมาธิการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร ที่รัฐสภา ในวันที่ 30 มิถุนายน 2565 เวลา 10.00 น. เพื่อแก้ไขชั่วโมงการทำงานของแพทย์ ที่ไร้ความเป็นธรรมแล้วยังทำให้เพิ่มความเสี่ยงแก่สุขภาพบุคลากรและผู้ป่วยที่ได้รับการดูแลโดยตรง
พญ.ชุตินาถ เล่าว่า อยากให้ออกเป็นกฎหมายเกี่ยวกับชั่วโมงการทำงาน ปัญหานี้เกิดขึ้นจริงกับแพทย์ที่ทำงานปัจจุบัน โดยเฉพาะแพทย์เพิ่มพูนทักษะปีแรก หรือแพทย์อินเทิร์นปี 1 ทำงานนอกและในเวลาราชการรวมกันมากกว่า 100 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเวลาพัก ไม่ได้หลับไม่ได้นอนเกิน 48 ชั่วโมง จึงอยากให้มีกฎหมายออกมาควบคุม เพราะที่ผ่านมาแม้แพทยสภาจะมีแนวทางปฏิบัติขอความร่วมมือไม่ให้ทำงานติดต่อกันเกิน 48 ชั่วโมง แต่ความเป็นจริงทำไม่ได้
สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการบรรจุแพทย์ไม่เพียงพอ การกระจายแพทย์ที่ไม่ตรงตามภาระงาน ซึ่งจริงๆเรามีสูตรคำนวณจำนวนแพทย์เทียบเท่าภาระงาน แต่ปัญหาตำแหน่งที่เปิดไม่สอดคล้องกับการทำงานจริง และตำแหน่งนี้จะขอเพิ่มก็ค่อนข้างยาก เวลาให้ตำแหน่งก็เหมารวมเป็นบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งไม่ใช่แค่แพทย์เท่านั้น
ที่ผ่านมาแพทยสภามีการออกประกาศ แต่จะเป็นลักษณะข้อแนะนำ ซึ่งความเป็นจริงทำไม่ได้ เพราะแพทย์ไม่พอ และไม่สามารถทำอะไรได้เลย แม้ล่าสุดสมาพันธ์แพทย์ผู้ปฏิบัติงาน ได้ประชุมร่วมกับแพทยสภาเกี่ยวกับเรื่องนี้ จนได้ข้อกำหนดใหม่ ซึ่งเพิ่มกรณีหาก รพ.ไหนปฏิบัติไม่ได้ อาจมีการพิจารณาไม่ส่งแพทย์เพิ่มพูนทักษะ แต่จริงๆ เราเข้าใจฝั่งรพ. เพราะเป็นไปได้ยาก เนื่องจากเมื่อเปิดตำแหน่งได้จำนวนเท่าไหร่ก็ได้เท่านั้น
ทางออก คือ การขับเคลื่อนเพื่อเรียกร้องให้การกำหนดเวลาชั่วโมงการทำงานของแพทย์ ออกเป็นกฎหมาย โดยจะมีการเดินทางไปเรียกร้องต่อคณะกรรมาธิการแรงงาน เพื่อกำหนดเวลาการทำงานของแพทย์ให้ออกเป็นกฎหมายบังคับใช้จริง ซึ่งทางคณะกรรมาธิการแรงงาน จะเป็นส่วนกลางในการเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องต่างๆ ทั้งกระทรวงสาธารณสุข สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล หรือ สรพ. (HA)
"อย่าง สรพ. ซึ่งเป็นหน่วยงานประเมินคุณภาพของสถานพยาบาล อาจต้องเพิ่มข้อกำหนดว่า หากรพ.ใดๆ มีจำนวนชั่วโมงการทำงานมากกว่าที่กำหนด อาจไม่ผ่าน HA ตรงนี้ควรมีตัวชี้วัดทำได้จริง หากประกาศเป็นกฎหมาย อย่างน้อยก็บังคับใช้จริง ไม่เหมือนคำแนะนำของแพทยสภา และเมื่อบังคับใช้จริง ก็จะได้ทราบว่า แพทย์ไม่เพียงพอ ก.พ.จะได้เปิดตำแหน่งเพิ่ม" ผู้แทน สมาพันธ์แพทย์ผู้ปฏิบัติงาน กล่าว
ที่ผ่านมา รศ.นพ.เมธี วงศ์ศิริสุวรรณ เคยสำรวจภาระงานของบุคลากรสาะารณสุขต่างๆ ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค.2564- 31 ม.ค.2562 โดยมีผู้ตอบแบบสอบถามทั้งสิ้น 8,829 คน เกินกว่าครึ่งเป็นพยาบาล ขณะที่แพทย์มีประมาณพันกว่าคน โดยแพทย์ใช้ทุนตอบมากที่สุด รองลงมาเป็นแพทย์เฉพาะทาง และแพทย์ประจำบ้าน ทั้งนี้พบว่า แพทย์ 60% ทำงานเกิน 80 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และอีก 30% ทำงานเกินกว่า 100 ชั่วโมงต่อสัปดาห์
พญ.ชุตินาถ เล่าอีกว่า สำหรับตัวเองเคยทำงานควงเวรติดต่อกัน 4 วันต่อสัปดาห์ไม่ได้พัก ท้อและเหนื่อยมากจนจำชื่อตัวเองไม่ได้ พยาบาลเรียกชื่อตัวเองยังไม่รู้ แต่ก็ต้องทำงาน เพราะหากไม่ทำ ชีวิตคนไข้ขึ้นอยู่กับเรา อย่างคนไข้หัวใจหยุดเต้น เราต้องรีบช่วย
"ครั้งหนึ่งทำงานเป็นนักศึกษาแพทย์ปีสุดท้าย ทำงานรพ.ศูนย์แถบอีสาน เป็นเอ็กซ์เทิร์น 1 คน ดูคนไข้เกือบ 100 คน มีคนไข้อาการหนักพร้อมกันหลายราย แต่เราต้องเลือกคนไข้หนักที่สุด แต่ก็มีคนที่เสี่ยงอีก แต่ด้วยเรามีคนเดียว ซึ่งการรักษาของเราให้เวลาคนหนึ่งมากเกินไป ทั้งที่หากทำเร็วกว่านี้ได้จะช่วยคนไข้รายอื่นได้อีก แต่ที่เราช้า เพราะเราเหนื่อย และรู้สึกเบลอจากการที่ไม่ได้นอน ทำให้ต้องตั้งสติในการรักษา อันนี้เป็นเคสที่เราเสียใจ และสะเทือนใจมาก ที่พูดเพราะไมใช่แค่เรา มีคนอื่นๆก็เจอแบบเราเช่นกัน เราแค่ต้องการการเปลี่ยนแปลง"
ส่วนอาจารย์แพทย์ในแต่ละแห่งก็ทำงานหนักไม่แตกต่างจากแพทย์เพิ่มพูนทักษะ เพราะก่อนหน้านี้ก็ทำงานหนักมาอยู่แล้ว แต่ตอนนี้หลายท่านก็ต้องลงมาสลับมาช่วย เรียกว่ากระทบทุกระดับ และหากไม่มีการทำอะไร ปัญหาก็จะอยู่แบบนี้สะสมไปเรื่อยๆ หลายสิบปีต่อไปไม่สิ้นสุด
ด้าน ผศ.นพ.สมิทธิ์ ศรีสนธิ์ อาจารย์ภาควิชาพยาธิวิทยา คณะแพทย์ศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี และหนึ่งในผู้แทนสมาพันธ์แพทย์ผู้ปฏิบัติงาน เสนอว่า การกำหนดเวลาการทำงานแพทย์ ต้องออกเป็นกฎหมาย คล้ายๆชั่วโมงการบิน ถ้าไม่มีกฎหมายก็ใช้ไม่ได้จริงอยู่ดี ขณะเดียวกันก็ต้องปรับระบบทั้งหมด ซึ่งแพทย์ที่ผลิตมาอาจมีพอ แต่การบรรจุไม่พอหรือไม่ เรื่องนี้ต้องหารือร่วมกันยาวๆ แต่หากไม่มีกฎหมายอะไรเลย ก็วนลูป ปัญหาไม่ได้รับการจัดการอยู่ดี อย่างในส่วนของแพทยสภา ได้แต่แนะนำ ไม่สามารถบังคับได้
"จากการหารือกันตอนนี้ทำได้แค่ว่า หากไม่ทำตาม ก็จะไม่ส่งแพทย์เพิ่มพูนทักษะไปรพ.นั้นๆ แต่จริงๆ ไม่ใช่แค่แพทย์อินเทิร์น 1 เจอทุกระดับ จึงถึงเวลาต้องเปลี่ยนแปลงเสียที เพราะอย่างในรพ.รัฐ ทำงานทำเวรเกิน บางรพ. มีหมอแค่ 2 คน อาจารย์แพทย์ก็ลงมาช่วยก็มี แต่ก็แล้วแต่รพ. แล้วแต่สาขาแพทย์ อย่างไรเสีย บางรพ.อินเทิร์นก็อยู่เวรคู่กับอาจารย์แพทย์ก็มี" ผศ.นพ.สมิทธิ์ กล่าว
ผศ.นพ.สมิทธิ์ ศรีสนธิ์
(ข่าวเกี่ยวข้อง : แพทยสภาแจงประกาศกำหนดเวลาทำงานแพทย์ไม่ควรเกิน 40 ชม./สัปดาห์ เน้นหมอเพิ่มพูนทักษะ เพราะอะไร... )
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับประกาศแพทยสภาฉบับล่าสุด กำหนดการทำงานแพทย์เพิ่มพูนทักษะ ดังนี้
1. ให้ชั่วโมงการทำงานของแพทย์นอกเวลาราชการไม่ควรเกิน 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์
2. ระยะเวลาการทำงานเวรอุบัติเหตุและฉุกเฉิน ไม่ควรเกิน 16 ชั่วโมงติดต่อกัน
3. ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องปฏิบัติงานต่อเนื่อง 24 ชั่วโมง แพทย์ต้องได้รับการพักผ่อนอย่างน้อย 4 ชั่วโมงขึ้นไป
ทั้งนี้ ทางแพทยสภาจะมีการให้คำปรึกษา รวมทั้งติดตามการนำแนวทางไปปฏิบัติ เพื่อเป็นเกณฑ์ในการพิจารณาอนุมัติการเป็นสถาบันปฏิบัติงานเพิ่มพูนทักษาในโครงการแพทย์เพิ่มพูนทักษะของแพทยสภาต่อไป นอกจากนี้ กรณีแพทย์ที่มีอายุตั้งแต่ 55 ปีเป็นต้นอไป ควรได้รับสิทธิ์งดอยู่เวรนอกเวลาราชการ
*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org
- 3691 views