คณบดีศิริราชพยาบาล ย้ำ! วัคซีนป้องกันโควิดสำคัญ ขอให้ฉีดกระตุ้น เหตุข้อมูลการศึกษาพบ BA.4 และ BA.5 มีแนวโน้มอาจเกาะเซลล์ปอดได้มากกว่า BA.2 แต่ยังไม่ชัด ไม่มีหลักการว่าจะรุนแรงมากกว่า  ขอให้คนไทยปฏิบัติมาตรการเดิม "สวมหน้ากากอนามัย - เว้นระยะห่าง- ล้างมือบ่อยๆ"  ส่วนคนที่ติดโควิดแล้วหาย อาจติดซ้ำได้เร็วกว่า 4-6 เดือน

เมื่อวันที่ 26  มิ.ย.2565 ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา  คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่มีราชกิจจานุเบกษา ประกาศให้ประชาชนสวมหน้ากากอนามัยได้ตามความสมัครใจ  ว่า ตามหลักการเรื่องนี้ประกาศเพื่อบอกว่า ไม่ได้บังคับให้สวมหน้ากากแล้ว แต่ไม่ได้บอกว่าต้องถอดออก โดยเฉพาะตอนนี้ที่มีโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.4 และ BA.5 ตนเชื่อว่าประชาชนจะระวังตัวมากขึ้น เพราะยังต้องเฝ้าติดตามความรุนแรงของโรค โดยคาดว่าอีก 2 สัปดาห์จะเห็นภาพชัดเจนของ BA.4 และ BA.5  มากขึ้น

ศ.นพ.ประสิทธิ์  กล่าวว่า   สำหรับสายพันธุ์ย่อย BA.4 และ BA.5 พบข้อมูลมาหลายเดือนแล้ว โดยเฉพาะประเทศทางยุโรปที่พบอัตราติดเชื้อกลับมาสูงขึ้นเป็นหมื่นรายต่อวัน ซึ่งข้อมูลตอนนี้พบว่าสายพันธุ์ย่อยเริ่มไปทดแทนสายพันธุ์ย่อย BA.2 เนื่องจาก BA.4 และ BA.5 แบ่งตัวเร็วกว่า แต่ยังไม่มีหลักฐานชัดเจนว่ารุนแรงมากกว่า เพราะยังไม่มีหลักฐานการป่วยจนเข้า รพ. อาการรุนแรงถึงเสียชีวิตที่ชัดเจนเพียงพอ ถือเป็นสายพันธุ์ที่ต้องเฝ้าติดตาม อย่างไรก็ตาม การที่มีการแพร่ระบาดเร็วขึ้นมองได้ 2 แง่ คือ 1.ตำแหน่งการกลายพันธุ์ และ 2.คนเริ่มผ่อนคลายมาตรการหน้ากากอนามัย จึงมีโอกาสที่แพร่กระจายได้มากขึ้น รวมถึงกิจกรรมสังคมที่มากขึ้นด้วย ทั้งนี้ หลายประเทศก็ไม่ได้ตรวจหาเชื้อกันแล้ว ดังนั้นที่เห็นผลตรวจเป็นหมื่นราย แสดงว่ายอดจริงต้องมากกว่านั้น

“ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เราไม่เห็นความรุนแรงที่ชัดเจน คือ วัคซีน อย่างที่เคยย้ำว่าหากฉีดมากกว่า 3-4 เข็มขึ้นไป ก็จะช่วยลดความรุนแรงได้แม้จะมีการกลายพันธุ์แต่ไวรัสยังเป็นโคโรนาตัวเดิม ข้อเตือนใจสำหรับไทยที่เปิดประเทศมีผู้เดินทางเข้าเป็นหมื่นคน ดังนั้น เมื่อตรวจพบเจอก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ เมื่อมีการเดินทางก็มีแนวโน้มจะกระจายไปได้มากขึ้นด้วย” ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าว

แฟ้มภาพ

ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวต่อว่า สิ่งที่ต้องย้ำคือ 1.วัคซีน เพราะข้อมูลการศึกษาของ BA.4 และ BA.5 มีแนวโน้มว่าอาจจะเกาะเซลล์ปอดได้มากกว่า BA.2 แต่เรายังไม่ต้องไปเทียบกับเดลต้า เพราะไม่มีหลักการว่าจะรุนแรงมากกว่า คำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข ที่ได้ศึกษาข้อมูลประชากรกว่า 5 แสนคน พบว่าการฉีดวัคซีนเข็ม 3 ป้องกันติดเชื้อได้ 25% แต่ถ้าฉีด 4 เข็มก็จะเพิ่มสูงถึง 70-75% สำหรับตนแนะนำให้ฉีด 4 เข็มในกลุ่มคนทั่วไป และบุคลากรทางการแพทย์ด่าหน้า ก็เป็นเข็ม 5 ได้เลย ซึ่งหลายคนก็ได้รับแล้ว   2.คนไทยต้องกระชับตัวเอง เพราะเราบังคับนักท่องเที่ยวได้ยาก ดังนั้นเราต้องป้องกันตนเองด้วยมาตรการเดิม สวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง และล้างมือ เพราะเรายังมีเด็กต่ำกว่า 5 ขวบที่ยังไม่ได้รับวัคซีน

เมื่อถามว่าหากคนเคยติดโควิดจะมีโอกาสติดเชื้อซ้ำได้สั้นสุดกี่เดือน และติดเชื้อซ้ำจะมีผลต่ออวัยวะภายในร่างกายอย่างไร ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า ตนเชื่อว่าสั้นกว่านั้น เนื่องจากโอมิครอนทำให้เกิดการติดเชื้อซ้ำได้ แต่คนจำนวนหนึ่งติดแต่อาการน้อยจึงไม่ได้ตรวจ ดังนั้นจริงๆ ที่เราเคยพูดว่าจะติดเชื้อซ้ำได้ใน 4-6 เดือน ก็อาจจะสั้นกว่านั้นเพียงแต่คนไม่ได้ตรวจ ทั้งนี้ ข้อมูลที่เห็นได้ว่า BA.4 BA.5 ติดเชื้อได้เร็ว ตนเห็นว่าภูมิคุ้มกันที่มีอยู่อาจลดลงเร็วกว่าตอนที่ป้องกัน BA.2 ฉะนั้น คนกลุ่มเสี่ยง 608 ควรฉีดวัคซีนกระตุ้นเมื่อครบ 4 เดือน ส่วนคนที่ติดเชื้อซ้ำ ต้องบอกว่าลองโควิด(Long Covid19) เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงและเกิดขึ้นได้ทุกสายพันธุ์ บางคนมีอาการทำให้ชีวิตประจำวันลดลง เช่น สมองตื้อ ผมร่วง ดังนั้น หากมีสายพันธุ์ที่กระจายเร็วกว่าเดิม การติดเชื้อก็จะไม่คุ้มกับลองโควิด

“คนที่หายแล้วติดอีกซ้ำๆ ขณะนี้ยังไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนว่ามีหรือไม่มีผลกระทบกับภาพรวมสุขภาพ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่ควรจะติดเชื้อซ้ำ เพราะตอน BA.2 ที่ไม่ลงปอดเราสบายใจหน่อย แต่มา BA.4 สมมติว่ามีข้อมูลพิสูจน์ชัดว่าอาการรุนแรง เล่นงานปอด นั่นก็เรื่องใหญ่ หากทุกครั้งที่ติดแล้วจู่โจมปอด ก็ทำลายเนื้อปอดที่อาจไม่ฟื้นตัวกลับมาง่ายๆ” ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าว

เมื่อถามว่า BA.4 BA.5 จะเป็นคลื่นระบาดรอบใหม่หรือไม่ ศ.นพ.ประสิทธิกล่าวว่า โอกาสที่จะกลับมาระบาดมากแบบระลอกเดลต้าไม่น่าจะเกิดขึ้น เพราะคนฉีดวัคซีนกันมาก ระวังตัวมากขึ้น ซึ่งขอเน้นย้ำว่าเรายังคงต้องป้องกันตัวเองให้มากขึ้น หากพบว่าเริ่มมีสัญญาณรุนแรงมากขึ้น เราก็เตรียมกลับมา ยกการ์ด

 

แฟ้มภาพ