ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ รามาฯ เผยข้อมูลเฝ้าระวังโควิดโอมิครอน พบสายพันธุ์ย่อย BA.5 และ BA.4 เพิ่มมากขึ้น การกลายพันธุ์เพิ่มก่อเกิดความเสี่ยงอาจหลบภูมิคุ้มกัน และแพร่ระบาดในอนาคต ขณะนี้พบติดเชื้อรายใหม่ในโปรตุเกส รักษาในรพ.เพิ่มกว่า 80% ส่วนใหญ่ประเทศแถบยุโรป ขณะที่ไทยมีรายงาน 26 คน  เตือนคนไทยระวัง! ขอให้ปฏิบัติมาตรการเข้มส่วนบุคคล สวมแมสก์ เว้นระยะห่าง ไม่อยู่ในที่แออัด

 

 

เมื่อวันที่ 21 มิ.ย. 2565 ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ จันทราทิตย์  หัวหน้าศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ให้สัมภาษณ์ถึงสายพันธุ์โควิด19 ว่า จากฐานข้อมูลโควิดโลก หรือ GISAID มีรายงานในประเทศแถบยุโรปและแอฟริกาใต้พบโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.5 และ BA.4 เพิ่มมากขึ้น โดยBA.5 พบการกลายพันธุ์ต่างไปสายพันธุ์ดั้งเดิมอู่ฮั่นมากที่สุดประมาณ เกือบ 90 ตำแหน่ง ส่วน  BA.4 พบการกลายพันธุ์ต่างไปสายพันธุ์ดั้งเดิมประมาณ 80ตำแหน่ง

“การกลายพันธุ์มากขึ้นก่อให้เกิดความสุ่มเสี่ยงที่จะหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันและอาจจะแพร่ระบาดไปทั่วโลกได้ในอนาคต แต่อาการจะรุนแรงมากหรือไม่ยังต้องติดตามข้อมูลผู้ติดเชื้อเข้ารักษาในรพ.มีอาการรุนแรงแค่ไหน แต่ขณะนี้พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ในโปรตุเกสที่เข้ารักษาในรพ.เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญมากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ รองลงมาคือแอฟริกาใต้เพิ่มขึ้นประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ ตามมาด้วยอังกฤษ ออสเตรีย เนเธอร์แลนด์ ฝรั่งเศส เยอรมนี เบลเยี่ยม สเปน อิตาลี เดนมาร์ก ส่วนใหญ่เป็นประเทศแถบยุโรปเกือบทั้งหมดที่เริ่มเห็นสัญญาณผู้ติดเชื้อรายใหม่เข้ารพ.เพิ่มขึ้น” ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ กล่าว

ที่น่ากังวลคือผลการทดลองในสัตว์ทดลองเบื้องต้นบ่งชี้ว่า BA.4 และBA.5 เพิ่มจำนวนได้ดีในเซลล์ปอด อันอาจจะก่อให้เกิดการติดเชื้อปอดอักเสบขึ้นได้ในมนุษย์ ซึ่งต่างไปจากโอมิครอนสายพันธุ์ดั้งเดิม BA.1และ BA.2 ซึ่งเพิ่มจำนวนได้ดีในเซลล์ของเยื่อบุระบบทางเดินหายใจส่วนบน ไม่ลงมาแพร่ติดต่อในระบบทางเดินหายใจส่วนล่างที่ปอด อย่างไรก็ตาม เป็นการทดลองในสัตว์ทดลอง ยังต้องติดตามข้อมูล แต่ข้อมูลดังกล่าวบ่งชี้ได้ว่าเริ่มกลับระบาดแล้วในยุโรปและแอฟริกาใต้ แต่จะรุนแรงหรือไม่ยังต้องรอประเมินหน้างานจากผู้ป่วยที่เข้ารพ. ขณะนี้บางประเทศในยุโรปมีการยกระดับการเตือนภัยแล้ว โดยเฉพาะที่โปรตุเกสหน่วยควบคุมโรคของยุโรปได้ยกระดับให้เป็นสายพันธุ์ที่ต้องระมัดระวัง แต่องค์การอนามัยโลก (WHO) ยังไม่ได้ยกระดับให้ BA.4และBA.5 เป็นสายพันธุ์น่ากังวลใจ 

 

ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ กล่าวว่า  สำหรับประเทศไทย จากฐานข้อมูล GISAID ที่สถาบันการแพทย์ต่างๆ ร่วมถอดรหัสพันธุกรรมและบันทึกข้อมูลเข้าไปพบมีผู้ติดเชื้อโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.5 จำนวน 26 คน BA.4 จำนวน 23 คน  และ BA.2.12.1 จำนวน 18 คน โดยพบตั้งแต่เดือนเม.ย.65 จนถึงปัจจุบัน จำนวนดังกล่าวเป็นการสุ่มตรวจ แต่โดยข้อเท็จจริงมีจำนวนมากกว่าแน่นอน แต่จะมีอาการรุนแรงมากน้อยหรือไม่ อย่างไร จากรายงานจำนวนผู้ติดเชื้อที่ต้องเข้ามารักษาตัวใน รพ. ยังไม่เพิ่มจำนวนมาก  คงต้องเฝ้าติดตามใกล้ชิดกันต่อไป

อย่างไรก็ตาม ในรายที่พบคาดว่าน่าจะเป็นชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากที่ศูนย์จีโนมฯ ที่ทำการถอดรหัสในพื้นที่กทม.และปริมณฑลยังไม่พบสายพันธุ์  BA.5 และ BA.4 ข้อมูลในรายที่พบและรายงานใน GISAID น่าจะเป็นการสุ่มตรวจโดยกระทรวงสาธารณสุข ทั้งนี้ ฐานข้อมูล GISAID มีรายงานสายพันธุ์ที่พบในประเทศไทยช่วง 60 วันที่ผ่านมามี ดังนี้ BA.2 จำนวน 44 เปอร์เซ็นต์  BA.2.9 จำนวน 26เปอร์เซ็นต์  BA.2.10 จำนวน 7 เปอร์เซ็นต์ BA.2.3 จำนวน 5เปอร์เซ็นต์ BA.2.10.1 จำนวน 4 เปอร์เซ็นต์ BA.2.27 จำนวน 3 เปอร์เซ็นต์  BA.5 BA.4 และ BA.2.12.1 จำนวน 1 เปอร์เซ็นต์ หากเป็นข้อมูลสายพันธุ์ทั่วโลกที่พบโดยเฉลี่ยมีดังนี้  BA.2.12.1 จำนวน 27 เปอร์เซ็นต์  BA.5 จำนวน 17 เปอร์เซ็นต์ BA.4 จำนวน 8 เปอร์เซ็นต์ และ BA.2.3 จำนวน 6 เปอร์เซ็นต์

ผู้สื่อข่าวถามประเทศไทยมีความเสี่ยงจะเกิดคลื่นระบาดระลอกใหม่หรือไม่ ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ กล่าวว่า ตอบลำบาก เพียงบอกได้จากข้อมูลที่ WHO เคยบอกไว้ว่า โอมิครอนไม่ใช่สายพันธุ์สุดท้ายที่จะระบาด เป็นข้อเท็จจริงที่จะมีสายพันธุ์ใหม่เกิดขึ้นจึงยังต้องระมัดระวัง ทำนายไม่ได้แน่ชัดว่าตัวใหม่จะมีอาการรุนแรงหรือลดน้อยถอยลง เนื่องจากเป็นโรคอุบัติใหม่ที่ไม่สามารถฟันธงได้ ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนเกิดการรับรู้ เรียนรู้ มีความตระหนักแต่ไม่ตระหนก  สำหรับประเทศไทยที่เริ่มผ่อนคลายมาตรการต่างๆ ไม่ได้มีข้อห้ามมากมายเช่นที่ผ่านมา ประชาชนก็ต้องพิจารณาตนเองว่าจะต้องป้องกันตนเอง ต้องดูแลตนเองอย่างไร โดยเฉพาะการเข้าไปอยู่ในที่มีคนแออัด ชุมชน มีความใกล้ชิดกัน ก็ยังควรจะสวมหน้ากากอนามัย รวมถึงมาตรการวัคซีนก็ยังเป็นสิ่งสำคัญที่ควรจะรับตามเกณฑ์กำหนด

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org