หวั่นสูญพันธุ์ ! อภัยภูเบศร จับมือ ภาคีเครือข่าย จ.สุรินทร์ เปิดศูนย์ศึกษา อนุรักษ์ภูมิปัญญา พัฒนาสมุนไพรอีสานใต้ ตั้งเป้าเป็นโรงเรียนหมอพื้นบ้าน สร้างความยั่งยืนให้ท้องถิ่น
ในระหว่างวันที่ 10-12 มิถุนายน 2565 มูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ร่วมกับภาคีเครือข่ายท้องถิ่นจังหวัดสุรินทร์ เปิดศูนย์ศึกษา อนุรักษ์ และพัฒนาสมุนไพรอีสานใต้ โดยร่วมเดินป่าเพื่อสำรวจสมุนไพรหายาก และซึมซับวัฒนธรรมท้องถิ่น พร้อมวางกลยุทธ์สร้างโรงเรียนหมอพื้นบ้าน หวังต่อยอด เป็นพื้นที่เรียนรู้ สร้างรายได้และเป็นต้นแบบการพึ่งตนเองในระดับชุมชน
พญ.โศรยา ธรรมรักษ์ ประธานมูลนิธิ รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศรฯ กล่าวว่า “ภารกิจที่มูลนิธิฯ ได้ทำมาอย่างต่อเนื่อง คือโครงการรวบรวมภูมิปัญญาหมอพื้นบ้าน 4 ภาค ที่ผ่านมาเรามีการทำงานกับเครือข่ายหมอยาพื้นบ้านมานานมากกว่า 30 ปี และเห็นถึงความสำคัญของการอนุรักษ์ภูมิปัญญา พันธุ์สมุนไพร ที่กำลังจะทยอยหายไป ดังนั้นเราจึงเร่งดำเนินการเพื่อให้เกิดพื้นที่ต้นแบบ ในการเป็นพื้นที่ศึกษาความรู้ อนุรักษ์ และ พัฒนาสมุนไพร โดยเริ่มที่ สมุนไพรอีสานใต้ คือที่ จ.สุรินทร์ โดยเราจะรวบรวมพันธุ์สมุนไพรท้องถิ่นอีสานใต้ และ จะมีการจัดพื้นที่ ให้ประชาชนมาศึกษาสมุนไพรในป่าชุมชน มีกิจกรรมรวบรวมความรู้ การทำค่ายเยาวชน รวมถึงการวางแผนส่งต่อองค์ความรู้ สู่คนในชุมชนผ่านผลิตภัณฑ์ที่จะมีอัตลักษณ์พื้นถิ่นโดยทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฎสุรินทร์ เพื่อต่อยอดนวัตกรรมจากภูมิปัญญา สร้างรายได้ให้ชุมชนอย่างยั่งยืน
ประธานมูลนิธิรพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ยังได้ผสานความร่วมมือกับเครือข่ายในพื้นที่ เพื่อเชื่อมโยงการแพทย์พื้นบ้านสู่ระบบสุขภาพ เราคาดว่าในอนาคต พื้นที่แห่งนี้จะเป็นต้นแบบจากการรวบรวมพืชพันธุ์สมุนไพรในพื้นที่อีสานใต้ รวบรวมองค์ความรู้ และส่งต่อให้กับชุมชน เพื่อการพึ่งตนเองในภาคประชาชน ชุมชน และนำไปสู่การพัฒนาต่อยอดเชิงพาณิชย์ สร้างรายได้กับชุมชนและประชาชนในพื้นที่ โดยในอนาคตคาดว่าจะสามารถขยายผลพัฒนาในพื้นที่อื่นๆต่อไปได้ โดยมีเป้าหมาย เพื่อความยั่งยืน และการพึ่งตนเองได้ของประชาชนในประเทศ
พญ.โศรยา กล่าวต่อว่า ในครั้งนี้เราได้รับการสนับสนุนโดยการบริจาคที่เพื่อทำกิจกรรม จากคุณอาริยา โมราษฎร์ และครอบครัว ได้บริจาคพื้นที่จำนวน 17 ไร่เศษพร้อมอาคารอีกประมาณ 10 หลัง ทำให้เราได้นำมาสร้างเป็นพื้นที่การเรียนรู้เพื่อคนสุรินทร์ รวมทั้งในอนาคต ที่นี่จะเป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับประชาชนทั่วไป และจะมีการร่วมมือสร้างเป็นโรงเรียนหมอพื้นบ้านอีสานใต้ ร่วมกันจัดทำชุดความรู้ผ่านองค์กรที่ทำเรื่องการเรียนการสอน คาดว่าหลังจากเปิดศูนย์ฯแล้ว ในอนาคตจะเปิดพื้นที่เพื่อให้เข้ามาเยี่ยมชม เรียนรู้โดยจะแจ้งให้ทราบอีกครั้ง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากที่ได้มีการเปิดศูนย์ศึกษา อนุรักษ์ และพัฒนาสมุนไพรอีสานใต้ แล้ว คณะผู้บริหาร ของโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร พร้อมด้วยผู้ทรงคุณวุฒิจากกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข ได้ร่วมเดินป่าพร้อมกับ พ่อชอย สุขพินิจ อายุ 85 ปี หมอพื้นที่บ้านชาว จาก จ.สุรินทร์ เพื่อสำรวจสมุนไพรหายากในพุทธอุทยานเขาแหลมรัตนบุรี ต.แนงมุด อ.กาบเชิง จ.สุรินทร์ ซึ่งพบว่า สมุนไพรหลายชนิดเริ่มหายาก เช่น สมุนไพร ข้าวเย็นเหนือ ข้าวเย็นใต้ ที่กำลังจะสูญพันธุ์ในหลายพื้นที่ หากไม่เร่งอนุรักษ์พืชพันธ์สมุนไพรแห่งอิสานใต้ ก็จะสูญหายไปอย่างน่าเสียดาย
นอกจากนี้ ยังได้สำรวจพื้นที่ประวัติศาสตร์ ซึ่งเป็นอารยธรรมคู่กับ จ.สุรินทร์มาช้านาน คือ ปราสาทตาเมือนธม ปราสาทตาเมือนโต๊ด และปราสาทเมือน จ.สุรินทร์ ซึ่งมีพื้นทีติดกับประเทศกัมพูชา นอกจากนี้ ยังได้เดินทางไปยังจังหวัดบุรีรัมย์ซี่งมีพื้นที่รอยต่อที่คล้ายคลึงด้วยอารยธรรมอิสานใต้ ได้แก่ ธรรมศาลาบ้านบุ อุโมงค์ต้นไม้ ริมบารายเมืองต่ำ ปราสาทเมืองต่ำ และ อโรคยาศาลกุฎิฤาษี หนองบัวราย โดยกิจกรรมทั้งหมดเพื่อซึมซับวัฒนธรรมท้องถิ่น ที่จะควบคู่ไปกับการอนุรักษ์สมุนไพร ซึ่งเป็นภูมิปัญญาของบรรพบุรุษสืบต่อกันมา ควรคู่กับการอนุรักษ์ให้คงอยู่ตลอดไป
- 266 views