องค์การเภสัชกรรมเผยเตรียมทดลองวัคซีนโควิด HXP-GPOVac โดยคนไทยร่วมกับ องค์กร PATH ทดลองเฟสสองกลาง ส.ค.นี้ พัฒนาสูตรป้องกันโอมิครอน คาดทดลองกลุ่มตัวอย่างทั้งที่ไม่เคยได้รับวัคซีน และรับวัคซีนเข็มกระตุ้น อยู่ระหว่างออกแบบ เบื้องต้นพร้อมฉีดประชาชนกลางปี 66

เมื่อวันที่ 9 มิ.ย. 2565 ภญ.ศิริกุล เมธีวีรังสรรค์ รองผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม(อภ.) กล่าวถึงความคืบหน้าการพัฒนาและผลิตวัคซีนโควิด HXP-GPOVac ว่า องค์การเภสัชกรรมได้รับการสนับสนุนจากองค์กร PATH ในการพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด  HXP-GPOVac โดยองค์กร PATH ได้ส่งหัวเชื้อวัคซีนต้นแบบ ซึ่งพัฒนาโดยโรงเรียนแพทย์แห่งเมาท์ไซนาย และมหาวิทยาลัยเท็กซัสแห่งออสติน ประเทศสหรัฐอเมริกา มาทำการผลิตที่โรงงานผลิตชีววัตถุขององค์การเภสัชกรรม ที่ตำบลทับกวาง อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี 

อย่างไรก็ตาม  วัคซีนชนิดนี้ผลิตด้วยเทคโนโลยีไข่ไก่ฟัก เป็นวิธีผสมผสานโดยการใช้เชื้อไวรัสนิวคาสเซิล ร่วมกับเทคโนโลยีเฮกซะโปรเพิ่มความคงสภาพของโปรตีนส่วนหนามได้เป็นไวรัสลูกผสม NDV-HXP-S มาใช้ในการกระตุ้นร่างกายให้สร้างภูมิคุ้มกันต้านโรคโควิด19

“ช่วงเริ่มต้นเราได้ทดลองในหนู  พบว่ามีความปลอดภัย มีประสิทธิภาพดี จากนั้นจึงมีการทดลองในมนุษย์เฟสแรก  และเฟสสอง อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีการพัฒนาสูตรที่ป้องกันโอมิครอน และจะกลับไปทำเฟสสองอีกรอบในช่วงเดือนสิงหาคมนี้ เมื่อสำเร็จจะทำในเฟสสามต่อไป ซึ่งมีการคาดการณ์ว่า จะสามารถเริ่มฉีดในประชาชนได้กลางปี 2566” ภญ.ศิริกุล  กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่าการฉีดวัคซีนในอาสาสมัครขณะนี้ต้องมุ่งไปที่เข็มกระตุ้นหรือไม่ รองผู้อำนวยการ อภ. กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างขอขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ซึ่งก็มีประเด็นนี้เช่นกัน เพราะจริงๆ การทดลองเฟสที่สอง  อาจต้องมีทั้งอาสาสมัครที่ไม่เคยได้รับวัคซีนเลย กับการให้วัคซีนเป็นเข็มกระตุ้น โดยขณะนี้กำลังออกแบบรูปแบบการทดลอง ซึ่งหากหาอาสาสมัครที่ไม่เคยได้รับวัคซีนเลยไม่ได้ ก็จำเป็นต้องเน้นเข้มกระตุ้น ซึ่งกำลังพิจารณากันอยู่

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org