ผอ.องค์การเภสัชกรรมคนใหม่ ประกาศศักยภาพโรงงานรังสิตเฟส 2  คาดพร้อมใช้เต็มศักยภาพ 100% กลางปี 2567 เสริมความมั่นคงด้านยา-วัคซีนของไทย ยังขับเคลื่อนกัญชาทางการแพทย์ เพื่อผู้ป่วย เตรียมร่วมมือสถาบันโรคผิวหนังใช้ CBD รักษาโรคทางผิวพรรณ เล็งขยายบริการบริหารจัดการคลังยาให้โรงพยาบาลสังกัด สธ.

 

“ทิศทางการทำงานขององค์การเภสัชกรรมยังพุ่งเป้าไปในทิศทางเดิม คือเน้นสร้างความมั่นคงทางยาและเวชภัณฑ์ของประเทศไทยให้มากขึ้น พร้อมสานต่อโครงการต่างๆ นำไปสู่การยอมรับในระดับสากล ไม่ว่าจะเป็นการผลิตยา วัคซีน รวมถึงโรงงานแห่งใหม่ขององค์การฯ ที่จะแล้วเสร็จพร้อมใช้งานเต็ม 100% ในปีหน้า...”  ถ้อยคำของ พญ.มิ่งขวัญ สุพรรณพงศ์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม(อภ.)  ท่านใหม่ที่เข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 19 เมษายน 2566 ที่ผ่านมา

เมื่อเร็วๆนี้ ผู้สื่อข่าว Hfocus มีโอกาสสัมภาษณ์ “พญ.มิ่งขวัญ สุพรรณพงศ์” กับความท้าทายงานด้านบริหารจากสถาบันโรคผิวหนัง ก้าวเข้าสู่ตำแหน่งผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม(อภ.)ที่ต้องบริหารองค์กรความมั่นคงด้านยาและเวชภัณฑ์ต่างๆระดับประเทศ โดยเฉพาะประเด็นความมั่นคงด้านวัคซีนโควิด19 ที่หลายคนตั้งคำถามว่า ปัจจุบันสถานการณ์โรคโควิด19 ได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ทิศทางจากนี้จะเป็นอย่างไร...

“ การระบาดของโรคไวรัสโควิด  คล้ายๆ เป็นการทดสอบระบบสุขภาพของไทย เพราะได้เทสก์ทั้งศักยภาพของระบบ ของบุคลการในการรับมือกับภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข และเทสศักยภาพการพึ่งพาตนเองของเรา ทั้งในแง่ความมั่นคงทางยา เวชภัณฑ์ และการผลิตวัคซีน...”

ลุ้น! วัคซีนโควิดองค์การเภสัชกรรม คาดคนไทยได้ใช้ปีหน้า

พญ.มิ่งขวัญ อธิบายเพิ่มว่า จากวิกฤติโควิดที่ผ่านมา ระบบสาธารณสุขภาพรวมของไทยแสดงศักยภาพและมาตรฐาน ได้รับการยอมรับจากนานาประเทศ อยู่เป็นอันดับที่ 5 ของโลก แต่ในประเด็นเรื่องการผลิตวัคซีนโรคอุบัติใหม่ต่าง ๆ เรายังก้าวไม่ทันวิกฤติในครั้งนี้   เพราะในอดีต ไทยยังต้องรอการคิดค้นพัฒนาและนำเข้าจากต่างประเทศเพียงอย่างเดียว  ต้องเข้าคิวรอ ไม่สามารถกำหนดวันเวลาได้เอง ทุกอย่างไม่อยู่ในกำมือหรือความควบคุมของเราเลย   ดังนั้น บทเรียนนี้จึงสอนให้เราต้องหันมาพึ่งพาตนเองให้ได้ หากเกิดโรคระบาดอีกจะได้มีความมั่นคง ไม่ต้องพึ่งพาประเทศอื่นๆ หรือถึงแม้จำเป็นต้องพึ่ง ก็ให้น้อยที่สุด  

ดังนั้น ถึงแม้ขณะนี้ องค์การอนามัยโลกจะประกาศว่าโรคไวรัสโควิด-19 จะไม่ใช่ภาวะฉุกเฉินระหว่างประเทศแล้ว เราก้าวข้ามความรุนแรงของการระบาดใหญ่ไปแล้วก็ตาม แต่เราต้องมีความพร้อมเรื่องนี้  ทางองค์การเภสัชกรรมในบทบาทที่ต้องเป็นองค์กรที่รับผิดชอบความมั่นคงทางยาและเวชภัณฑ์ของประเทศไทยก็ต้องพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่องให้พร้อมที่จะรับมือกับภาวะวิกฤติใด ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นมาอีก  สำหรับเรื่องไวรัสโควิด-19 ล่าสุด องค์การฯก็ยังคงทดลองพัฒนาผลิตวัคซีนโควิด19 ต่อไปให้สำเร็จ  ตอนนี้ได้ผ่านการทดลองระดับคลินิกเฟสที่ 3 เรียบร้อยแล้ว กำลังรอผลการทดสอบระดับภูมิคุ้มกันซึ่งเราต้องส่งไปทดลองยังห้องปฏิบัติการที่ได้รับการยอมรับระดับโลก อย่างอินเดีย โดยผลจะตอบกลับมาภายในเดือนกรกฎาคมนี้  หากผลการทดสอบผ่านเป็นที่น่าพึงพอใจ ก็จะเข้าสู่เฟส 4 เพื่อผลิตและทดลองในคนจำนวนมากขึ้นตลอดจนขึ้นทะเบียนวัคซีนให้สำเร็จและพร้อมจำหน่ายต่อไป

“แม้ขณะนี้โควิดจะไม่มีการระบาดใหญ่  (Pandemic) แต่เราต้องเตรียมพร้อมรับกรณีเกิดภาวะฉุกเฉิน ซึ่งช่วงโควิดที่ผ่านมา ไทยมีหลายโปรเจกต์ในการพัฒนาวัคซีน ซึ่งองค์การฯ เป็นหนึ่งในหลายหน่วยงานที่พัฒนาวัคซีน และถือว่าเป็นเจ้าแรกที่คาดว่าน่าจะสำเร็จ คาดการณ์ว่าหากผ่านการทดลองต่างๆ น่าจะเป็นช่วงปี 2567 ที่จะนำมาใช้เป็นเข็มกระตุ้นให้คนไทยได้  อย่างไรก็ตาม ตอนนี้เราพัฒนาโดยใช้ฐานเชื้อโรคเดิม แต่เราก็ต้องเตรียมพร้อมกรณีเชื้อกลายพันธุ์ด้วย ซึ่งเราเตรียมศักยภาพและพัฒนาให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงนี้ด้วย  หลังจากที่จบการพัฒนาวัคซีนจากสายพันธุ์ดั้งเดิม ซึ่งถือว่าเป็นการพัฒนาศักยภาพการผลิตวัคซีนของเราจากต้นน้ำจนถึงปลายน้ำทั้งเรื่องคน เงิน ของ อย่างครบลูปได้แล้ว   หากมีการกลายพันธุ์ เราก็จะพร้อมที่จะปรับเปลี่ยนการผลิตวัคซีนให้สามารถรองรับการกลายพันธุ์ได้ในระยะเวลาที่ไม่นานมากนัก” ผู้อำนวยการองค์การเภสัชฯ กล่าว

ยังขับเคลื่อนกัญชาทางการแพทย์เพื่อผู้ป่วย พร้อมต่อยอดร่วมกับสถาบันโรคผิวหนัง

ไม่เพียงแต่การเดินหน้าพัฒนาและผลิตวัคซีนป้องกันโควิด19 เพื่อความมั่นคงทางวัคซีนของไทยเองแล้ว แต่ในเรื่องการพัฒนากัญชาทางการแพทย์ ก็ยังต้องดำเนินการ แม้ขณะนี้นโยบายทางการเมืองประเด็นกัญชายังคงมีความไม่ชัดเจน

เรื่องนี้ พญ.มิ่งขวัญ กล่าวว่า ในเรื่องการขับเคลื่อนกัญชาทางการแพทย์ เรายังเดินหน้าต่อไป  เพราะไม่ว่านโยบายทางการเมือง หรือกฎหมายออกมาอย่างไร แต่ทางองค์การฯ มีจุดยืนในการพัฒนาและผลิตสารสกัดกัญชาทางการแพทย์ เพื่อเป็นทางเลือกในการรักษาผู้ป่วย  ไม่ว่าจะเป็นผู้ป่วยมะเร็ง ผู้ป่วยเด็กโรคลมชัก โรคพาร์กินสัน หรือการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง (Palliative Care) ซึ่งมีงานวิจัยและประสบการณ์จากการใช้จริงในช่วงที่ผ่านมาว่า ได้ผลในการรักษาภาวะต่าง ๆ เหล่านั้นได้เป็นอย่างดีต่อไป

นอกจากนี้ จะมีการต่อยอด อย่างตนเคยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง ได้มีการศึกษาค้นคว้าประสิทธิภาพของสารสกัดกัญชาเพื่อใช้ในการรักษาโรคผิวหนัง ซึ่งมีผลการศึกษาที่น่าสนใจพบว่า สารในกัญชาที่เรียกว่า Cannabidiol หรือสาร CBD  มีฤทธิ์ในการต้านการอักเสบได้  (anti-inflammation) ได้เป็นอย่างดี มีประสิทธิภาพมากแม้จะใช้ความเข้มข้นค่อนข้างต่ำก็ยังได้ผล    โดยสารนี้ใช้ปริมาณน้อยมากแต่กลับได้ผลดี  อย่างนำมาใช้ลดการอักเสบใช้โดสต่ำมากๆ แต่ประสิทธิภาพสูง  ทำให้น่าสนใจที่จะนำสารสกัดกัญชามาใช้ในด้านนี้ เพราะอุปสรรคอย่างหนึ่งในการใช้กัญชาทางการแพทย์คือเรื่องราคาที่แพงมาก เนื่องจากเราต้องใช้เป็นแบบ เมดิคัลเกรด(medical grade) หรือน้อยสุดคือ food grade ซึ่งก็ยังแพงอยู่ดี    แต่หากใช้สารสกัดกัญชากับฤทธิ์ต้านการอักเสบแบบนี้ที่ใช้ความเข้มข้นไม่มากก็เห็นผล คือไม่ถึง 1%  ซึ่งยังจัดอยู่ในระดับเครื่องสำอาง ก็น่าจะนำมาใช้ประโยชน์ได้

ดังนั้น องค์การเภสัชกรรม จะหารือร่วมกับสถาบันโรคผิวหนังเพื่อต่อยอดการพัฒนาและผลิตผลิตภัณฑ์ดังกล่าว  โดยหลัก ๆ น่าจะมาใช้เป็นเวชสำอาง ใช้ในการรักษาโรคสิว โรคสะเก็ดเงิน ซึ่งมีการอักเสบของผิวหนังเกิดขึ้นมาก เป็นต้น

“ที่ผ่านมาเราจะได้ยินข่าวบ่อย ๆว่าชาวบ้านเคยนำน้ำมันกัญชามาทาผิวหนัง แล้วผิวอักเสบก็ดีขึ้น ซึ่งไม่ได้คิดไปเอง มีข้อมูลการศึกษาวิจัยว่า มีฤทธิ์ต่างการอักเสบจริง ดังนั้น เราก็จะนำข้อมูลตรงนี้มาต่อยอด ช่วยเรื่องการต้านการอักเสบ ทั้งเรื่องสิว เรื่องผิวพรรณ มีประสิทธิภาพดี เป็นสิ่งที่ประเทศไทยผลิตเองได้ ดังนั้น อภ.ก็จะเดินหน้าทั้งเรื่องทางการแพทย์ และเวชสำอางได้ อย่างเรื่องสิว ก็เวชสำอาง หรือเรื่องสะเก็ดเงินก็จะทำเป็นเรื่องยา เป็นต้น โดยจะหารือร่วมกันกับสถาบันโรคผิวหนังและเดินหน้าผลิตร่วมกัน” พญ.มิ่งขวัญ กล่าว

ชูโรงงานผลิตยารังสิตเฟส 2 ใกล้แล้วเสร็จเต็มศักยภาพ 100% ปี67

ส่วนในเรื่องศักยภาพการผลิตนั้น ไม่ต้องกังวล องค์การเภสัชกรรมมีความพร้อม ประกอบกับโรงงานแห่งใหม่ที่มีการย้ายฐานการผลิตจากพระราม 6 ไปโรงงานผลิตยารังสิตเฟส 2 ก็จะแล้วเสร็จในปีหน้า ซึ่งจะมารองรับการผลิตได้มากยิ่งขึ้น...

พญ.มิ่งขวัญ กล่าวถึงโรงงานรังสิต ว่า เดิมเรามีโรงงานผลิตยาที่พระรามหก ตอนนี้ขยายมาที่โรงงานรังสิต มีระยะที่ 1 และระยะที่  2 โดยระยะ 2 จะแล้วเสร็จ 100% ในปี 2567  และจะเป็นโรงงานผลิตที่ทันสมัย และช่วยคนไทยให้ได้เข้าถึงยาได้มากขึ้น ที่สำคัญเป็นโรงงานที่ผ่านมาตรฐานทั้งระดับประเทศและระดับนานาชาติในทุกสายการผลิต ที่สำคัญ บางสายการผลิตใช้เทคโนโลยีและมาตรฐานการผลิตระดับสูงจนผ่านเกณฑ์ที่เรียกได้ว่าสูงสุดระดับโลก คือ WHO Prequalification Program (WHO PQ) ขององค์การอนามัยโลกเลยทีเดียว ทำให้เราสามารถที่จะส่งออกยาและเวชภัณฑ์ที่ได้มาตรฐานเหล่านี้ไปยังประเทศเพื่อนบ้านและประเทศอื่นๆ ด้วย ช่วย สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศไปด้วยอีกทางหนึ่ง

อนาคตองค์การเภสัชฯ ปรับเปลี่ยนสู่มาตรฐานระดับโลก ต่อยอดงานใหม่ๆเห็นชัดใน 4 ปี

ทั้งนี้ พญ.มิ่งขวัญ ยังย้ำว่า ในอนาคตตัวผลิตภัณฑ์เราจะหลากหลายมากขึ้น นอกจากยา เวชภัณฑ์ เวชสำอาง เราจะมีผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เพื่อรองรับสังคมสูงอายุ มีการปรับธุรกิจจากออนไซต์อย่างเดียว ก็จะมีออนไลน์มากขึ้น และนอกจากการผลิตยาและเวชภัณฑ์เพื่อจำหน่ายแล้ว เรากำลังจะทดลองศึกษาะบบในการบริหารจัดการสต๊อกยาให้โรงพยาบาลต่างๆ เรียกว่าเป็นการขายบริการหรือขายเซอร์วิส เป็นแอดมินด้านยาและเวชภัณฑ์ให้กับโรงพยาบาลต่าง ๆ อีกด้วย  โดยภายใน 4 ปีจะเห็นภาพตรงนี้มากขึ้น

“ เดิมคอขวดจะอยู่ที่โรงงานที่ยังสร้างไม่เสร็จ แต่เมื่อโรงงานได้มาตรฐานระดับWorld Class แล้ว ก็จะเริ่มมาพิจารณาว่าผลิตภัณฑ์ไหนจะส่งออกได้ก็จะเดินหน้าเต็มที่ ซึ่งหากโรงงานรังสิตเฟส 2 แล้วเสร็จได้ในช่วงกลางปีหน้า ก็พร้อมขับเคลื่อนตามแผนปฏิบัติการที่วางไว้ทั้งหมด..” พญ.มิ่งขวัญ กล่าวทิ้งท้าย

โรงงานผลิตยารังสิตเฟส 2 ความทันสมัยระดับโลก

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับข้อมูลจากองค์การเภสัชกรรม ระบุว่า ​โรงงานผลิตยารังสิต ระยะที่ 2 ตั้งอยู่ในพื้นที่องค์การเภสัชกรรม (คลอง10) อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี บนเนื้อที่ 60 ไร่ ใช้งบประมาณในการก่อสร้าง จำนวน 5,396 ล้านบาท ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างก่อสร้างและการควบคุมงาน โดยมีผู้แทนจากองค์กรต่อต้านคอร์รับชั่น (ประเทศไทย) ร่วมสังเกตการณ์ด้วย ใช้เวลาในการก่อสร้างพร้อมติดตั้งระบบงาน และเครื่องจักร เริ่มตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2562  เพื่อรองรับกำลังการผลิตยาที่ย้ายฐานการผลิตมาจากโรงงานที่องค์การเภสัชกรรม ถนนพระรามที่ 6 ทั้งยังผลิตยารายการใหม่ที่ได้ทำการวิจัยและพัฒนาสำเร็จ และด้วยเป็นโรงงานที่มีศักยภาพสูงจะทำให้สามารถขยายกำลังการผลิตยาโดยรวมเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันกว่า 1 เท่าตัว ซึ่งจะช่วยรัฐประหยัดค่าใช้จ่ายด้านยา ได้มากกว่ามูลค่าในปัจจุบันที่ประหยัดได้มากกว่าถึงปีละ 7,500 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม การก่อสร้างโรงงานผลิตยารังสิตระยะที่ 2 ได้นำเทคโนโลยีระดับโลกที่ได้รับการรับรอง WHO Prequalification Program (WHO PQ) ขององค์การอนามัยโลกเป็นแห่งแรกของไทยและอาเซียน รองรับการผลิตยาจำเป็น ยากลุ่มโรคเรื้อรัง และยาที่มีมูลค่าการใช้สูง เพิ่มโอกาสกระจายยาไปประเทศเพื่อนบ้าน สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจประเทศ ก่อสร้างโดยบริษัท เพาเวอร์ไลน์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ PLE รับผิดชอบงานด้านโครงสร้าง-สถาปัตยกรรม, วิศวกรรมระบบประกอบอาคาร, Utility จ่ายเครื่องจักร, จัดหาเครื่องจักรและเครื่องมือปฏิบัติการ รวมถึงระบบคลังสินค้าอัตโนมัติ

อีกทั้ง ด้วยเป็นโรงงานที่มีการนำเทคโนโลยีที่การผลิตและควบคุมคุณภาพที่ทันสมัยระดับโลก  ทำให้มีศักยภาพสูง เป็นโรงงาน Smart Industry ที่มีคุณภาพและเทคโนโลยีระดับสากล นำระบบอัตโนมัติและเทคโนโลยีสมัยใหม่ อาทิ เทคโนโลยี AI (Artificial Intelligence) เทคโนโลยีดิจิตอล (Digital Technology) เทคโนโลยีหุ่นยนต์ (Robotics) เทคโนโลยีการเชื่อมโยงเครือข่ายอินเตอร์เน็ต (Internet of Things : IoT) เทคโนโลยีระบบบริหารจัดการและควบคุมอาคารอัตโนมัติ (Building Automation System) เข้ามาใช้ในส่วนงานที่เกี่ยวข้องกับการผลิต รวมถึงการจัดเก็บสินค้าใช้ระบบคลังอัตโนมัติ ASRS (Automated Storage and Retrieval System) การก่อสร้างนั้นดำเนินคู่ขนานกับการจัดทำข้อกำหนดเครื่องจักรและคัดเลือกเครื่องจักร และเทคโนโลยีต่างๆ ที่ต้องใช้ในการผลิตยาและเพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐาน GMP-PIC/S

 

 

**ติดตามข่าวสารความรู้ผ่านเฟซบุ๊กสำนักข่าว Hfocus ได้ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org