อธิบดีกรมควบคุมโรคชี้วัคซีนป้องกันโควิดที่จัดส่ง รพ.สต.ให้ประชาชนฉีด ไม่มีหมดอายุ ฉีดได้ ขณะที่ล่าสุดตอนนี้ไม่มีรายงานจากสสจ.ว่า ที่ไหนวัคซีนล้น ส่วนกรณีซิโนแวคเหลือมากกว่า 16 ล้านโดส ไม่จริง! จำนวนดังกล่าวมีหลายยี่ห้อ ส่วนใหญ่แอสตร้าฯ และไฟเซอร์  ขณะที่ซิโนแวคเหลือไม่ถึงล้านโดส 

จากกรณีชมรมแพทย์ชนบท เสนอแนะกระทรวงสาธารณสุข(สธ.)  เปิดอกรับพิจารณาทางออกแก้ปัญหาวัคซีนป้องกันโควิด19 ล้นคลัง แทนที่จะให้หมดอายุอยู่ที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ควรยอมรับและรวบรวมไปทำลายนั้น
  
เมื่อวันที่ 7 มิ.ย. 2565 ที่ผ่านมา ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์อธิบดีกรมควบคุมโรค  กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า การจัดส่งวัคซีนเป็นการตกลงกันระหว่างต้นทางกับปลายทาง ทั้งเรื่องของจำนวนและชนิดของวัคซีน เพราะวัคซีนทุกชนิดมีรูปแบบการจัดเก็บที่แตกต่างกัน โดยปลายทางที่จัดส่งคือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ไม่ได้กระจายตรงไปที่รพ.สต. แต่จังหวัดจะเป็นคนส่งไป หากมี รพ.สต.ที่ไหนวัคซีนล้น หมดอายุก็ขอให้แจ้งมาจะได้ทำการสอบถามไปที่ สสจ. แต่เท่าที่ติดตามตอนนี้ยังไม่มีรายงานว่า รพ.สต.ที่ไหนวัคซีนล้น 

“วัคซีนที่เราส่งไปยังไม่หมดอายุ สามารถฉีดได้ เดี๋ยวจะเข้าใจว่าวัคซีนหมดอายุแล้วไม่มาฉีดกัน จึงต้องขอให้มาฉีดวัคซีนกันด้วย อย่างไรก็ตามวัคซีนก็เหมือนเวชภัณฑ์ ยา ต่างๆ ที่มีวันหมดอายุได้ ซึ่งเมื่อหมดอายุก็จะมีการทำลายตามระเบียบต่อไป เป็นเรื่องปกติ  ส่วนที่ระบุว่ามีวัคซีนซิโนแวคเหลือจำนวนมากกว่า 16 ล้านโดส นั้น ขอชี้แจงว่าไม่เป็นความจริง เพราะ 16 ล้านโดสนั้น มีวัคซีนหลายยี่ห้อ ส่วนใหญ่เป็นวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า และไฟเซอร์ ส่วนซิโนแวคเหลือไม่ถึงล้านโดส” นพ.โอภาสกล่าว

เมื่อถามว่า ตามที่มีการอนุมัติซื้อวัคซีนไปแล้ว 90 ล้านโดส จากแผนการจัดการวัคซีนปี 2565 จำนวน 120 ล้านโดส ส่งมอบแล้ว 36 ล้านโดส ที่เหลือมีรอบการจัดส่งอย่างไร นพ.โอภาส กล่าวต่อว่า ในส่วนนี้จะมีการปรับขยายระยะเวลาในการจัดส่งวัคซีนทีเหลือไปยังปี 2566 ซึ่งการฉีดจากนี้ก็จะเป็นวัคซีนเข็มกระตุ้น ซึ่งรอองค์การอนามัยโลกประกาศว่าจะให้มีการฉีดวัคซีนโควิด- 19 ทุกปี   ซึ่งไทยมีการเตรียมความพร้อมอยู่แล้ว ขอให้ให้มาฉีดตามกำหนด