อธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) เผยสถานการณ์ “ ฝีดาษลิง “ ยืนยันไทยยังไม่พบผู้ป่วยโรคฝีดาษลิง ขอให้ประชาชนอย่ากังวล เพราะมีความพร้อมระบบเฝ้ระวัง-ควบคุมโรค ขณะที่ทั่วโลกพบการแพร่ระบาดใน 43 ประเทศ ติดเชื้อรวม 990 ค

 

 เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2565 ที่กระทรวงสาธารณสุข ในการแถลงข่าวสถานการณ์โรคฝีดาษวานร หรือ ฝีดาษลิง  นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) กล่าวว่า  ฝีดาษวานร(ฝีดาษลิง) ติดต่อจากสัตว์สู่คน โดยการสัมผัสสารคัดหลั่งหรือแผลของสัตว์ป่วย หรือการกินสัตว์ที่ปรุงไม่สุก และจากคนสู่คน โดยการสัมผัสใกล้ชิด โดยเฉพาะแผลของผู้ป่วย รวมทั้ง เสื้อผ้าและสารคัดหลั่งทางเดินหายใจของผู้ป่วย หรือสัมผัสสิ่งของที่ปนเปื้อน  ส่วนการติดต่อทางเพศสัมพันธ์นั้นยังเป็นการตั้งสมมติฐาน  แต่ยังไม่มีหลักฐานสนับสนุนเพียงพอ  
   

ข้อมูลทางคลินิกที่สำคัญ  คือ ระยะฟักตัวค่อนข้างยาว  5-21 วัน อาการที่สำคัญ คือ ไข้  ปวดหัว ปวดเมื่อยตามตัว  ไม่ค่อยมีน้ำมูก หลังไข้ 1-3 วันจะมีผื่นขึ้นกระจายลำตัว แขน ขา และใบหน้าได้ ส่วนใหญ่หายเองได้  อาจมีภาวะแทรกซ้อน และเสียชีวิตได้ แต่พบไม่บ่อย โดยลักษณะตุ่มจะมีหลายแบบตามระยะ ตั้งแต่แดงๆ ต่อมาใสๆ เป็นหนอง บุ่ม แห้งและสะเก็ด อย่างไรก็ตาม การพบตุ่มอย่างเดียวบอกไม่ได้ว่าเป็นฝีดาษลิง เพราะจะคล้ายกับหลายโรค อาการทางคลินิกเป็นตัวช่วยอย่างหนึ่ง แต่การยืนยันต้องใช้การตรวจทางห้องปฏิบัติการ

สถานการณ์ทั่วโลก ข้อมูลวันที่ 5 มิ.ย. 2565 มีรายงานใน 43 ประเทศ ผู้ป่วยยืนยัน 900 กว่าคน ข้อมูลนี้บอกว่าแม้กระจายหลายประเทศ แต่ลักษณะการระบาดไม่เร็ว ถ้าเทียบกับโควิด-19 เนื่องจากหลังมีรายงานพบการระบาดเป็นเดือน ถ้าเป็นโควิด19จะมีผู้ติดเชื้อหลัก10ล้านคนแล้ว ส่วนใหญ่อาการไม่ค่อยรุนแรง ยังไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต  โดยประเทศที่พบมาก อาทิ สเปน อังกฤษ โปรตุเกส แคนาดา เยอรมัน
 

ประเทศไทยมีการเฝ้าระวังฝีดาษาลิงในไทย มีระบบคัดกรองผู้เดินทางจากต่างประเทศ กำหนดนิยามวินิจฉัยผู้ป่วย เตรียมพร้อมการตรวจทางห้องปฏิบัติการ การสอบสวน ควบคุมและป้องกันโรค และจัดหาวัคซีนหากจำเป็นต้องใช้ ถ้าประชาชนท่านใดมีอาการสงสัยสามารถไปปรึกษาแพทย์เพื่อวินิจฉัยต่อไป

 “องค์การอนามัยโรคประเมินความเสี่ยงปานกลาง ยังไม่เป็นภาวะฉุกเฉิน แม้เจอหลาประเทศ แต่กระจายไม่เร็ว อาการไม่รุนแรง ไม่จำกัดการเดินทางของคน เพียงเตือนให้ระมัดระวังและจัดระบบเฝ้าระวัง ซึ่งประเทศไทยดำเนินการแล้ว  และยังไม่พบฝีดาษลิงในไทย เคยมีผู้ต้องสงสัย 6 ราย แต่พบว่าเป็นเชื้อเริม ความเสี่ยงของประเทศไทยอาจพบผู้ป่วยเกิดขึ้น เพราะประเทศไทยปิดรับผู้เดินทางจากทั่วโลก แต่เชื่อว่าถ้าความร่วมมือที่ดี จะสามารถตรวจจับผู้ป่วยและควบคุมโรคไม่ให้พร่ระบาดออกไปได้ และขอให้ติดตามข้อมูลจากระทรวงสาธารณสุช ที่จะนำเรียนเป็นระยะ”นพ.โอภาสกล่าว