ร้านชำนั้นอยู่ใกล้ชิดกับเรามานาน มีแทบทุกอย่างที่เรียกหา คือความสุขเล็กๆของคนในชุมชน ความคุ้นเคยในบางสิ่ง และปฏิบัติต่อเนื่องกันมาหลายสิบปี หากจะเปลี่ยนแปลงเพื่อนำไปสู่สิ่งใหม่ จำเป็นต้องใช้เวลา สิ่งต่างๆรอบตัวเรามักมี 2 ด้านเสมอ “ยารักษาโรค” ก็เช่นกัน, คำว่า “ยา” เพียงสั้นๆ ต้องร่ำเรียนกันยาวนานถึง 6 ปีกันทีเดียวสำหรับเภสัชกร (หมอยา) ของพวกเรา เพราะการใช้ยาให้ได้ผลและปลอดภัย จำเป็นต้องใช้ศาสตร์และศิลป์เฉพาะราย หาใช่ซื้อขายกันได้ทั่วไปเหมือนขนม

เราอาจคุ้นเคยกับการซื้อยาเรียกหาในร้านชำ ซึ่งมีทั้งยาปฏิชีวนะ (ยาฆ่าเชื้อ), ยาแก้ปวดที่มิใช่ยาพาราเซตามอล, ยาคุมกำเนิด, ยาสเตียรอยด์ที่แทรกซึมในรูปแบบยาสมุนไพรกษัยเส้นต่างๆ หรือแม้กระทั่งยาชุด (ยาหลายชนิด รวมอยู่ในซองเดียวกัน) เป็นต้น ยาเหล่านี้ ส่วนใหญ่เป็นยาอันตราย หรือไม่ก็เป็นยาควบคุมพิเศษ ซึ่งไม่สามารถจำหน่ายได้ในร้านชำ (ร้านชำจำหน่ายได้เฉพาะที่ระบุในฉลากว่าเป็นยาสามัญประจำบ้านเท่านั้น) การเข้าถึงยาง่ายโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ส่งผลให้เกิดเชื้อดื้อยาจากการใช้ยาปฏิชีวนะเกินความจำเป็น, พบการแพ้ยาได้มากขึ้น จากการเข้าถึงยาง่าย

ซึ่งอาจไม่จำเป็นต้องใช้ และที่หนักสุด คือ ยาเหล่านี้ส่วนใหญ่ผ่านไต ทำให้ไตทำงานมากขึ้น บางรายจากที่ปกติแข็งแรง บริโภคยากันจนเป็นโรคไตวาย การใช้ยาเกินความจำเป็นโดยไม่มีข้อบ่งใช้ หรือใช้ไม่สมเหตุผล ทำให้ใช้งบประมาณในการใช้ยาปฏิชีวนะที่แรงขึ้นเพื่อรักษาผู้ป่วยที่จำเป็นต้องใช้ยาจริงๆ (มูลค่าสูงขึ้น) รวมทั้งการรักษาอาการแพ้ยา และภาวะไตบกพร่องจากการซื้อยารับประทานเองเป็นประจำ สิ่งเหล่านี้ ทำให้เภสัชกรมีความเป็นห่วงอย่างมาก ต้องนำมาขบคิดหาทางแก้ นำมาซึ่งนโยบายระดับชาติ

สิ่งที่กล่าวมาข้างต้น ขอหยิบยกตัวอย่างในพื้นที่อำเภอเมืองร้อยเอ็ด ที่ได้มีแนวคิดในการแก้ปัญหาเชิงรุกจากทุกภาคส่วน เพื่อให้เกิดการใช้ยาสมเหตุผลในชุมชนเขตเมือง ในลักษณะค่อยเป็นค่อยไป แบบรุกคืบบันได 3 ขั้น โดยแก้ปัญหาที่หนักสุด (เร่งด่วน) ไปเบาสุด นั่นคือ ยาชุด/สเตียรอยด์, ยาอันตราย, ยาแผนปัจจุบันบรรจุเสร็จที่มิใช่ยาอันตรายหรือยาควบคุมพิเศษ และมิใช่ยาสามัญประจำบ้าน เช่น. ยาธาตุน้ำขาว พร้อมสื่อความรู้ที่ครอบคลุมในพื้นที่ ประหยัด เข้าถึงและแทรกซึมในชีวิตประจำวัน นั่นคือ การนำแนวคิดปฏิทินปีใหม่ (8-10 บาท/แผ่น ขึ้นกับปริมาณที่สั่ง) มาประยุกต์ใช้ โดยออกแบบภาพและข้อความที่เข้าใจง่าย เพื่อสื่อถึงประชาชนว่าทำอย่างไรจึงจะใช้ยาสมเหตุผล เมื่อเจ็บป่วยขั้นพื้นฐาน

นอกจากนี้ มีการสร้างระบบเฝ้าระวังการติดตามผลิตภัณฑ์สุขภาพจากเครือข่าย อสม. โดยสื่อสารผ่าน Google form ที่ใช้งานง่าย เพียงแค่เห็นภาพแล้วคลิ๊กส่ง เภสัชกรงานคุ้มครองผู้บริโภค กลุ่มงานเวชกรรมสังคม รพ.ร้อยเอ็ด และเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลทั้งหมด 18 แห่ง ในเขต อ.เมืองร้อยเอ็ด จะตรวจสอบและแก้ปัญหาในทันที สำหรับเจ้าหน้าที่ มีการติดตามร้านชำโดยใช้โปรแกรม NemoKBS จากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด

ผลลัพธ์บันได 3 ขั้น ร้านค้า/ร้านชำส่วนใหญ่มักจำหน่ายยาประเภท ยาแก้ไข้หวัดสูตรผสม, ยาแก้ปวด NSAIDs, ยาปฏิชีวนะ และยาธาตุน้ำขาว เป็นจำนวนมาก ซึ่งพบลดลงหลังจากดำเนินการตามกรอบแนวคิดบันได 3 ขั้น โดยจำหน่ายยาที่สามารถจำหน่ายได้ (ยาสามัญประจำบ้าน) ปฏิบัติถูกต้องมากขึ้น ในปี 2561- 2565 คิดเป็นร้อยละ 20.93, 79.75 84.07, 87.15 และ 90.72 ตามลำดับ นอกจากนี้ พบยาปฏิชีวนะเหลือใช้, ยาบรรเทาอาการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ และยาสเตียรอยด์ในครัวเรือนลดลง คิดเป็นร้อยละ 21.88, 14.09, 10.95, 7.03 และ 5.83 ตามลำดับ

เมื่อได้สัมผัสเรื่องราวของชุมชนเมืองเกินร้อย เมืองที่ผู้คนมากล้นด้วยอัธยาศัย น้ำใจงาม ยิ่งมั่นใจว่าเราจะก้าวข้ามโรคภัยที่ป้องกันได้ ด้วยความเข้าใจในการใช้ยาสมเหตุผล

 

ภญ.กัลยาณี อาชาสันติสุข
งานคุ้มครองผู้บริโภค กลุ่มงานเวชกรรมสังคม
โรงพยาบาลร้อยเอ็ด